วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

2 คนในร่างเดียว


        เมื่อลูกชายวัยวุ่น (ปัจจุบัน 5 ขวบจ้า บอกไว้เผื่อใครไม่เคยอ่านเลยเนอะ) ของแม่ดาวเกิดอาการจิตบิดเบี้ยวขึ้นมา เช่น อาจงอแงอย่างไม่มีเหตุผล แสดงกิริยาที่น่าลัก(ไปทิ้ง) ฮ่าๆๆ  ฯลฯ  แม่ดาวก็จะใช้มุขนี้จัดการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น นอกเหนือจากที่แม่ดาวเคยบอกไว้ว่าให้ใช้หลักการให้ทางเลือกเชิงบวกแล้ว แม่ดาวก็ยังมีไม้เด็ดคือวิธีนี้ค่ะ  

        แม่ดาวจะตั้งชื่อให้ลูกใหม่อีก 1 ชื่อ คือ “ไข่ต้ม”  แม่ดาวจะเรียกน้องดีโด้ในชื่อนี้ ในกรณีที่เขาทำพฤติกรรมที่เราไม่พึงประสงค์  เวทมนต์วิเศษของแม่ดาวอันนี้ ใช้ได้ผลดีทุกครั้งนะคะ  แต่ต้องใช้ด้วยอารมณ์ขันนะคะ  ขำ ๆ กันไป  แต่ไม่ใช่พูดไปหัวเราะไปนะคะ  มาดูตัวอย่างกันดีกว่าเพื่อความเข้าใจ เดี๋ยวจะงงเนอะ

        เคยมีเหตุการณ์ประมาณว่า เขาตื่นเช้ามาแล้วไม่สบอารมณ์กับทุก ๆ อย่างรอบตัว งอแง โวยวาย ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น สาเหตุคือนอนไม่พอ และไม่อยากไปโรงเรียนด้วย   แต่ยังไงก็ต้องจัดการพาไปให้ได้จริงไหมค่ะ  โจทย์คือ เราต้องพาลูกไปส่งที่โรงเรียนให้ได้ โดยที่ลูกต้องมีอารมณ์เบิกบานด้วย เพื่อที่เขาจะได้ไปแบบสมองโปร่ง ๆ สบาย ๆ ใจเป็นสุข ส่งดีต่อการเรียนรู้ของลูกและการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมโรงเรียนเขาด้วย  หากพาไปแบบน้ำตานองหน้า โกรธโมโห ท่าจะไม่ไหวเนอะ สร้างความเดือดร้อนให้คุณครู และเด็ก ๆ คนอื่น ๆ ก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย

        เอาล่ะ  มาร่ายเวทย์มนต์กันดีกว่าค่ะ

แม่            อ้าว.........หนูค่ะ  หนูหลงทางมาจากไหนค่ะเนี้ย  เข้าผิดบ้านแล้วนะคะ  ไหน ๆ คุยกับน้าซิค่ะ บอกน้าหน่อย ว่าหนูชื่ออะไร แล้วบ้านอยู่ไหน เดี๋ยวน้าจะพาไปส่งให้ที่บ้านนะคะ 

หึๆ  นี่ถ้าใครเห็นต้องคิดว่าแม่ดาวจบเอกการละครแน่ ๆ เล่นซะเนียน ลูกงงเลย อะไรของแม่เนี้ย  หรืออาจคิดว่าแม่เพี้ยน ๆ อีกแล้ว (ลูกชอบบอกแม่ดาวต๊องๆ ฮ่าๆ)

ดีโด้          ก็ดีโด้ไงแม่  แม่เป็นอะไรเนี้ย จำลูกตัวเองไม่ได้  (จากอารมณ์งอแง โวยวาย เขาเปลี่ยนเป็นงงแทน และเริ่มคิดต่อแม่จะมาไม้ไหน  แต่ถือว่าสำเร็จ เพราะเราสามารถเบี่ยงเบนความสนใจลูกได้แล้ว  เขาหันมาสนใจกับสิ่งที่เรากำลังคิดและทำแทน)

แม่            ไหนค่ะ  ดีโด้ ลูกแม่เหรอ   ไหน ๆ ดูซิ  ไม่ใช่นะคะ   น้องดีโด้ลูกแม่ดาวเนี้ย เขาเป็นเด็กดี น่ารัก ไม่โวยวาย พูดก็เพราะด้วยแหละ  สงสัยหนูจะแค่หน้าคล้าย ๆ นะคะ    อ้าว.....ได้ยินเสียงใครตะโกนเรียก “ไข่ต้ม ๆ ลูกอยู่ไหน จากทางหลังบ้าน” (ที่จริงไม่มีเสียงอะไรเลย)  สงสัยจะเป็นหนู  ไปค่ะ เดี๋ยวน้าพาไปส่งที่บ้านนะคะ (จูงมือและทำท่าจะพาไปส่งที่บ้านคือชุมชนข้างหลังที่พัก)

ด้านหลังที่แม่ดาวพัก เป็นชุมชนของคนใช้แรงงาน คนงานก่อสร้าง หลาย ๆ ครั้งเรามักจะได้ยินเสียงด่าลูก เสียงตะคอก  เสียงดุ  เสียงร้องไห้ของเด็ก ๆ  บทสนทนาของเขาก็อย่างที่เราคิดนั่นแหละค่ะ  เป็นคำพูดย้อนยุคสมัยพ่อขุนรามบ้าง เวลาที่ทะเลาะกับลูก หรือเด็กในปกครอง

ดีโด้          ไม่ใช่ “ไข่ต้ม” นี่ดีโด้เอง แม่นี่ดีโด้ ดีโด้ลูกแม่ดาวไง 

แม่            อะไรนะครับ  ไข่ต้ม พูดว่าอะไรนะครับ  น้าไม่ค่อยได้ยิน (เวลาที่เขาพูดไม่เพราะ เราจะทำหูตึงชั่วขณะมุขนี้ใช้เรื่อย ๆ เวลาเขาพูดไม่มีหางเสียง  แม่ดาวใช้คำลงท้ายว่า “ครับ” เพื่อเตือนสติเขา  อันนี้ต้องมีจังหวะพูดเน้นคำด้วยนะคะ)

ดีโด้          แม่ครับ....นี่ดีโด้เองครับ ไม่ใช่ “ไข่ต้ม”  ดีโด้ลูกแม่ดาวไงครับ

แม่            อ๋อ....ใช่จริง ๆ ด้วย  เอ๊ะ......แล้วไข่ต้มหายไปไหนเนี้ย หายตัวไปไวจริง ๆ
ทำท่ามองหา  มีทำเป็นเดินตามห้องต่างๆ และตะโกนเรียก  มีทำเป็นเปิดประตูห้องพัก เพื่อแสดงให้เห็นว่า เด็กชาย “ไข่ต้ม” เขาหายไปจริง ๆ  ตอนที่ทำท่าแบบนี้ ดีโด้จะขำกลิ้งเลย  แม่มุขเยอะ  อารมณ์เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ไม่หลงเหลือคราบน้ำตา  อาการโวยวาย อาการจิตเบี้ยวอย่างตอนแรก กลับสู่ภาวะปกติ

ดีโด้          อ๋อ....ไข่ต้ม กลับบ้านแล้วครับแม่   แม่ของไข่ต้มเขามารับไปแล้ว

แม่            นี่....น้องดีโด้ ลูกแม่จริง ๆ นะครับ

ดีโด้          จริง ๆ ครับ

แม่            น้องดีโด้คนดีของแม่   จะทานข้าวก่อน หรือจะอาบน้ำก่อนดีครับ

ดีโด้          ทานข้าวก่อนครับ

ทุกอย่างเป็นไปตามแผน  เวทมนต์ของแม่ดาวได้ผลมากๆๆ   ลูกดำเนินชีวิตไปอย่างราบรื่น ปกติสุข และมีรอยยิ้มบนใบหน้าก่อนไปโรงเรียนด้วยนะจะบอกให้  อิอิ 

        ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็คงมีบ้างบางวัน ที่เราก็อยากจะทำอะไรตามใจตัวเองบ้าง  เช่นเราเองบางวันก็อยากอู้งานบ้าง อยากแหกกฎสังคมบางอย่างบ้าง หรือแม่ดาวเป็นคนเดียวฮ่าๆๆ  อันนี้คิดแบบเอาตัวเองเป็นบรรทัดฐาน  เด็ก ๆ เขาก็เป็นเหมือนเรา มีร้ายบ้าง ดีบ้าง ทำตามบ้าง ต่อต้านบ้าง แค่ใช้ความเข้าใจ และใช้ใจเย็น ๆ  จัดการนะคะ คิดว่าทุกอย่างน่าจะผ่านไปได้ด้วยดี  

        หลาย ๆ ครั้งแม่ดาวมักใช้จินตนาการของเด็ก ๆ ในการจัดการพฤติกรรม นี่เป็นแค่ส่วนนึงนะคะ เอาไว้จะมาขยายต่อไปเรื่องต่อ ๆ ไป  เคยคิดเองเหมือนกันว่า เราจะสอนให้ลูกปั้นน้ำเป็นตัวหรือเปล่า  แต่คิด ๆ แล้ว คิดว่าไม่นะคะ ด้วยส่วนตัว และลูกเนี้ย แม่ดาวจะสอนเขาเรื่องศีล 5 ตลอด    และแม่ดาวก็คิดว่าเขารู้ดีว่าเรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร  แต่หากใครมีมุมมองที่ต่างไปรบกวนช่วยแนะนำ และแลกเปลี่ยนมุมมองด้วยนะคะ คิดเองคนเดียวอาจไม่กว้างพอเนอะ

        หากอยากนำไปทดลองใช้ อย่าลืมนะคะ เตือนกันตลอด ๆ ดูให้เหมาะกับวัย นิสัย ของลูกเราด้วย หากไม่แน่ใจ ลองดูก็ไม่น่าเสียหายเนอะ เผื่อได้ผล  ลองปรับเปลี่ยนเอาเลยค่ะ ตามความชอบใจของเราและลูก


วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สงครามเด็ก ๆ ตอน สงครามบนรถ

        เรื่องนี้เป็นปัญหาของคุณพ่อท่านนึง ที่เขาประสบปัญหานี้บ่อย ๆ และเก็บเอาคำถามนั้นมาถามในกิจกรรมครั้งนึงที่แม่ดาวก็ไปเข้าร่วมด้วย  และเป็นปัญหาที่ญาติของแม่ดาวท่านนึงก็ประสบปัญหานี้บ่อย ๆ เช่นกัน  ญาติของแม่ดาวท่านนี้มีลูกสาว 3 คน อายุประมาณ 9 ขวบ  5 ขวบ และ 3 ขวบตามลำดับ  ตัวแม่ดาวเองถึงมีลูก 1 คน ก็เคยประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ สงครามพ่อลูกบนรถ หรือบางทีก็เป็นสงครามแม่ลูกบ้างแต่อันนี้จะน้อยมาก หากสภาพร่างกายปกติดี จิตใจอยู่ในระดับไม่เลวร้ายเหตุการณ์พวกนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา จัดการได้ โดยละม่อม อิอิ

        ถามว่าเด็ก ๆ ทำไมถึงชอบทะเลาะกันจริง ๆ เวลาอยู่บนรถโดยเฉพาะเวลาที่เราเป็นคนขับรถและกำลังขับรถอยู่บนถนน  แม่ดาวมองว่าเด็กเขาฉลาดนะคะ  เรารู้ว่าเราไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหานี้ได้ เพราะเราต้องเอาสมาธิไปจดจ่ออยู่บนท้องถนน ความสามารถในการคิดจัดการแก้ไขปัญหาจะมีต่ำกว่าปกติฮ่าๆๆ  เด็กเขารู้จุดอ่อนตรงนี้ เลยปล่อยหมัดน็อคเราบ่อย ๆ บ่อยรถ  มีใครในที่นี้เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้  แล้วปรี๊ดแตกบ้างแล้วไหมน้อ   คิดว่าน่าจะมีหลายคนนะแม่ดาวว่า  

        แม่ดาวเอาคำถามนี้ไปถามกับคุณแม่ลูก 3 ดังกล่าวข้างต้น คุณแม่ท่านนี้จัดการโดย  หากสามารถจอดรถได้ ณ ตอนนั้น เขาจะจอดรถทันที และหันไปดุลูกหลังเบาะ อาจจะเป็นการพูดด้วยเหตุผล หรือขู่ก็ตาม  เขาบอกว่าลูก ๆ เขาจะหยุดทันที   แม่ดาวเห็นด้วยกับวิธีนี้ตรงที่ หากสามารถจอดรถได้  ก็ให้เราจอดรถก่อน เพื่อจะได้มีสมาธิ มีสติและปัญญามากพอที่จะจัดการขั้นต่อไปได้  

        แต่หากเป็นแม่ดาว จะไม่ใช้เสียงดังกลบลูก (ตวาดแผดเสียง)  ไม่ขู่เพื่อให้ลูกกลัว แต่พูดจริง ๆ และทำจริง ๆ เช่น หากแม่ดาวเป็นคุณแม่ลูก 3  ดังกล่าวแม่ดาวหากจอดรถได้ แม่ดาวจะ
แม่    “แม่ไม่สามารถขับรถต่อไปได้นะคะ  หากลูก ๆ ยังทะเลาะกันแบบนี้ แม่รู้สึกเครียดมากกับปัญหาของลูกที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ แม่มีมีสามาธิมากพอที่จะขับรถต่อได้อย่างปลอดภัย  มีใครพอจะเสนอวิธีการจัดการแก้ไขปัญหานี้ได้ไหมค่ะ เพื่อเราจะได้เดินทางต่อไปต่อได้ อย่างไม่เครียด”
ลองรับฟังข้อเสนอของลูก ๆ  แม่ดาวว่าเด็ก ๆ เขาก็จะมีวิธีการตกลงกันได้ไม่ยาก หากที่ ๆ เขากำลังจะไปจูงใจให้เขาอยากจะเดินทางไปให้ถึงมากพอ อิอิ  

        หากเราไม่สามารถจอดรถได้หล่ะ จะทำยังไง  แม่ดาวมองว่า อันดับแรก เราต้องควบคุมสติตัวเองให้ได้ นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตลูก ๆ และเราเข้าไว้ ขับรถต่อไป  แต่ควรพูดอะไรสักอย่างเพื่อบอกกับลูก ๆ ของเรา ว่าเรารู้สึกยังไง  เช่น “แม่คิดว่าแม่ไม่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย  เพราะแม่รู้สึกเครียดมากที่ลูก ๆ กำลังทะเลาะกันเสียงดังแบบนี้” พูดด้วยเสียงแบบจริงจังเลยค่ะ เอาแบบออกมาจากใจ แต่ไม่ตวาดได้ไหมค่ะ  เอาแบบเสียงดุ ๆ นิด ๆ ก็มันเครียดนี่เนอะ  ใช้ร่วมกับสายตาพิฆาตส่งผ่านกระจกมองหลังรถไปด้วย  คิดว่าเขาน่าจะสงบได้บ้างหล่ะ   แม่ดาวก็ใช้บ้างนะ เสียงเข้ม ตาดุเนี้ย บางทีก็ต้องงัดไม้นี้มาใช้กันบ้าง ลูกแม่ดาว เป็นประเภท ต้องหลากหลาย อะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ จะดื้อยา ต้องเปลี่ยนตัวกระตุ้นกันบ้างฮ่าๆๆ

        หากทางที่ดี แม่ดาวว่ากันไว้ก่อนดีกว่าเนอะ  มีการพูดคุยกันก่อนจะเดินทางเลยว่า  หากลูก ๆ เกิดทะเลาะกันหลังเบาะขณะที่แม่ขับ แม่จะขับรถกลับบ้านทันที ที่ตกลงกันไว้เป็นโมฆะล้มเลิก ไม่ไปแล้ว อันนี้ไม่ได้ขู่นะคะ เราต้องทำได้จริง ๆ ต้องเด็ดขาด คำไหนคำนั้น  แม่ดาวเคยอ่าน มีคนที่ทำแบบนี้ แล้วได้ผลดีมาก ลูก ๆ เลิกทะเลาะกันบนรถเลย   แต่หากเป็นเรื่องที่ยกเลิกไม่ได้  และลูก ๆ ของเราก็ไม่ได้อยากจะไปสักเท่าไหร่  คงต้องมีการตกลงกันอีกแบบ เช่น ในการเดินทางไป หากลูก ๆ ทะเลาะกันอีก แม่จะงด..........................เป็นเวลาคนละ ........   อันนี้ก็เช่นกันค่ะ พูดจริงและต้องทำได้จริง ๆ ก่อนจะพูดคิดดี ๆ ก่อน ควรเป็นเรื่องที่ทั้งเราและลูกรับได้ 

        อย่างน้องดีโด้เนี้ย หากงดนิทานก่อนนอนเนี้ย เรื่องใหญ่มาก แต่เขาก็รับได้ ถึงจะโอดครวญบ้างก็เถอะ  แต่เราจะบอกเขาทุกครั้งว่า พรุ่งนี้นะคะ แม่จะเล่านิทานให้สนุกซะใจไปเลย  คืนนี้ต้องงดตามข้อตกลงนะคะ  ห้ามซ้ำเติมลูกเด็ดขาดเช่น  ที่นี้จะเข็ดหรือยัง ดีจะได้รู้สำนึกซะบ้าง ทีหลังจะได้ไม่ทำแบบนี้อีก  แบบนี้ไม่เอาไม่พูดนะคะ  แม่ดาวขอร้อง การพูดแบบนี้จะทำให้สิ่งที่เราทำไปลดประสิทธิภาพลงมาก  แถมเป็นการไปก่อไฟในใจให้ลูกโกรธเราเพิ่มอีกนะคะ  

        แม่ดาวจะบอกกับตัวเองเสมอ ๆ ว่า เราต้องพยายามรักษาสัมพันธ์ภาพที่ดีของเรากับลูกเอาไว้  อย่าไปทำลาย หรือลดความสัมพันธ์แบบไม่ทันคิดนะคะ  คิดเยอะ ๆ ก่อนจะพูดเนอะ   คิดดี พูดดี ทำดี  ลูกเราก็จะดีด้วยนะคะ จริงไหม

       และที่สำคัญคือ เวลาที่ลูก ๆ เราไม่ทะเลาะกัน เราต้องชมลูก ๆ ของเราด้วยนะคะ ไม่ใช่เห็นว่าไม่ทะเลาะกันก็ดี ปล่อยผ่านไป  ชมเพื่อกระตุ้นให้เราทำอีกไงค่ะ อย่าลืม ต้องชมด้วยนะ

สงครามเด็ก ๆ ตอน ศึกชิงของเล่น

บทความนี้ จัดให้เอาใจเป็นพิเศษสำหรับคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านที่มีลูกมากว่า 1 คนขึ้นไป  ความรู้ที่จะนำมาสาธยายในบทความนี้ แม่ดาวก็ได้มาจากประสบการณ์ของตัวเองด้วย ความรู้จากการอ่าน และความรู้จากการที่ได้ฟังคนอื่น ๆ เขาบอกกล่าวมาด้วยนะคะ 

ประเด็นนี้เกิดขึ้น  มีผู้ปกครองท่านนึง ที่รู้จักกันที่โรงเรียนลูกของแม่ดาว   เขามีลูกชาย 2 คนอายุก็ไล่เลี่ยกัน และมักจะก่อสงครามแย่งของเล่นกันเป็นประจำในช่วงนึง  ฟังที่จากเล่าการจัดการในการแก้ปัญหาของผู้ปกครองท่านนี้ ก็เหมือน ๆ กับอีกหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งก็เหมือนกับที่คุณยายน้องดีโด้ (แม่ของแม่ดาว) ที่เลี้ยงแม่ดาวมาเช่นกัน สงบศึกโดยการเข้าไปห้ามศึกลูก ๆ  และเป็นผู้ตัดสินปัญหาให้ว่าใครถูก หรือใครผิด หรือ เสมอ โดนตีทั้งคู่ เป็นกรรมการเวทีมวยภายในบ้าน

ผลที่แม่ดาวเห็นส่วนมากคือ พี่น้องมักจะทะเลาะกันหนักกว่าเดิม หรือไม่ก็แค่สงบปาก สงบคำ แต่ไม่สงบจิตใจ ในใจเนี้ยยิ่งระอุร้อนรุ่มยิ่งกว่าเก่าซะอีก  ถึงปากจะยอมบอกว่า “ขอโทษ” แต่ในใจเนี้ย ไม่ยอมลดลาความโกรธนั้นลงได้เลย บางทียิ่งเหมือนจะเกลียดกันมากกว่าที่จะรักกัน   ความปรองดองในหมู่พี่น้องลดน้อยลงไปทุกที ๆ  ยกตัวอย่าง ๆ ตัวแม่ดาวเอง เวลาที่แม่เข้ามาจัดการในการแก้ปัญหา จะรู้สึกว่า “ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม แม่ลำเอียงเข้าข้างไม่พี่ก็น้องตลอด ๆ”  แต่ด้วยความเป็นลูกคนกลางก็ต้องยอมอ่อนข้อให้ตลอด ๆ  กลัวแม่ไม่รัก ด้วยความเป็นลูกสาวคนกลาง คนโตเป็นผู้ชายและน้องคนเล็กเป็นผู้หญิง  อันนี้เป็นปมในใจ แต่ปัจจุบันปมนี้ไม่มีแล้วนะคะ  แต่ก็เพิ่งเข้าใจได้อย่างแท้จริงก็ไม่นานมานี่ตอนที่เริ่มเข้าใจตัวเองมาก ๆ จากการปฏิบัติธรรมะ และพอเข้าใจตัวเองแล้ว การเข้าใจความรู้สึกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็ทำได้ไม่ยากเลย

มีอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ ที่แม่ดาวได้เคยประสบพบเห็น เช่น ครั้งหนึ่งได้พบกับครอบครัวหนึ่ง ที่เขามีลูก 2 คน คนโตเป็นลูกสาว น่าจะอายุประมาณ 5 ขวบได้  และคนเล็กเป็นลูกชาย น่าจะอายุประมาณ 3 ขวบมั้งค่ะ  เรื่องคือ ลูกชายของเขากำลังนั่งเล่นของเล่นอยู่ชิ้นหนึ่ง  สักพักพี่สาวก็เดินมาและกระชากของเล่นชิ้นนั้นไปจากมือน้อง  น้องร้องไห้จ้าและหากสังเกตุนั้น เด็กชายตัวเล็กคนนั้นจะร้องไห้เสียงดังๆ  และหันไปทางพ่อและแม่  ซึ่งกำลังวุ่น ๆ อยู่  เมื่อพ่อและแม่ได้ยินเสียงที่แผดร้องด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ  สิ่งแรกที่พ่อและแม่ 2 ท่านนั้นทำร่วมกัน คือ รุมต่อว่าลูกสาวทันที และสั่งให้ลูกสาวเอาของมาคืนน้อง และขอโทษน้องเดี๋ยวนี้ ประโยคสนทนาที่พอจะจำได้คือ

แม่        พี่ A (นามสมมติ) ทำไมต้องมาแย่งของเล่นน้องด้วย ของเล่นก็เยอะแยะ แม่ไม่เข้าใจ ทำไมเป็นเด็กนิสัยเสียแบบนี้

พ่อ         พี่ A  เอาของเล่นไปคืนน้องเดี๋ยวนี้ และขอโทษน้องด้วย เร็ว   

ทั้งคู่พูดท่าทางที่โกรธจัด และพูดด้วยพลังเสียงแห่งอำนาจของความเป็นพ่อแม่  หากแม่ดาวคิดเองแม่ดาวคิดว่าเขา 2 คนรู้สึกเสียหน้า อายคนอื่น ๆ ด้วย ที่ลูกทำนิสัยแบบนี้ในที่สาธารณะ และต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ฉันเลี้ยงและอบรมลูกมาดีแล้ว แต่เด็กคนนี้ไม่เชื่อฟังเอง  ฉันไม่ผิด  ตีความเอาเองจากแววตา ท่าทาง คือเขามองคนรอบ ๆ ตัวด้วย และยิ่งมองยิ่งเหมือนจะโกรธลูกหนักขึ้น 

เด็กหญิงตัวน้อย  ๆ คนนั้น สีหน้าโกรธจัด และแววตาแสดงถึงความไม่พอใจอย่างมากกับการพิพากษาของพ่อแม่ตัวเอง เขาหันไปมองหน้าน้องด้วยสายตาที่ดูจะโกรธน้องมาก ๆ ไม่รู้จะแอบเกลียดลึก ๆ ด้วยหรือเปล่า  เขาส่งเสียงร้องไห้ออกมาด้วยความน้อยใจ  เสียใจ และ ความโกรธ (คิดเอง) แม่ดาวคิดว่าเด็กหญิงคนนี้เขาน่าจะโดนกระทำคล้าย ๆ แบบนี้มาหลายครั้ง  เพราะสายตาคู่น้อย ๆ คู่นี้ ดูเหมือนจะโกรธแค้นชิงชังน้องชายตัวน้อย ๆ เขาเสียเหลือเกิน แม่ดาวไม่แปลกใจหรอกค่ะ หากเขาไม่พอใจน้องชายของเขา คิดว่า เขาคงรู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า  เขาคงมีความอิจฉาน้องอยู่เป็นทุนเดิมแหละ 

พ่อและแม่ก็ตวาดรุมต่อว่าลูกไม่หยุด เพราะลูกสาวก็ไม่ยอมที่จะขอโทษน้องเช่นกัน   ต่างฝ่ายต่างร้อน เจ้าคนพี่ก็ร้องไห้ เจ้าคนน้องก็ร้องไห้ พ่อและแม่ก็โวยวายพยายามจะยุติปัญหานั้นให้ได้ แต่.....จากสงครามพี่น้องนั้นได้เปลี่ยนเป็นสงครามพ่อแม่ และลูก แล้ว  ณ ตอนนั้น สงครามดูน่าจะยืดเยื้อยาวนาน  สูญเสียทั้งพลังงานกายและสูญเสียความรู้สึก  ลดทอนความสัมพันธ์ทีดีต่อกันระหว่างครอบครัวอย่างไม่ทันได้รู้ตัว

แม่ดาวอยู่ ณ ตรงนั้น เห็นเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มต้น ถามว่า น้อง A ทำผิดไหม ที่แย่งของเล่นน้อง  แม่ดาวก็เห็นสมควรว่า เขาทำผิดจริงนะคะ  แต่แม่ดาวรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ปกครอง  หากแม่ดาวเป็นแม่ของเด็กหญิงตัวน้อย  และเด็กชายตัวน้อย ๆ คนนั้น สิ่งที่แม่ดาวจะทำคือ

แม่ดาวจะลดนั่งลงให้ระดับสายตาเรากับลูกสาว อยู่ในระดับเดียวกัน และพูดกับลูกว่า  

แม่            “พี่ A ค่ะ   แม่เห็นว่า  ตอนนี้น้องของลูกกำลังเสียใจมากๆ เลย  ลูกคิดว่าจะช่วยเหลือน้องอย่างไรดีค่ะ”

      แม่ดาวคิดว่าหากเราไม่ตำหนิเขาโดยตรง  แต่บอกให้เขาคิดเอง ว่าเขาควรจะจัดการปัญหานี้อย่างไร  เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา  แม่ดาวว่าผลน่าจะออกมาดีกว่านี้  หากใช้เวลาบ้าง แต่แม่ดาวคิดว่าไม่นานเท่ากับเหตุการณ์ข้างต้น และไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเลย  แต่แม่ดาวก็ไม่บังอาจเข้าไปเสนอหน้า ชี้แนะใคร ๆ หรอกนะคะ  ต่างคนก็ต่างความคิด  แม่ดาวรู้มาแบบนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าจริง เอาจากความรู้สึกตัวเองด้วย และได้เคยลองจัดการปัญหานี้มากับตัวเองด้วย ถึงไม่ใช่กับลูกตัวเอง แต่เป็นบรรดาคุณหลาน ๆ (กรณีนี้น้อยมาก)
      หรือเวลาที่ลูกชายทะเลาะกับเพื่อนที่เล่นด้วย แล้วแม่ดาวก็อยู่ในเหตุการณ์ตลอด ๆ แต่ไม่เข้าไปแทรกแซง หากลูกมาฟ้อง ก็รับฟัง และโยนปัญหากลับไปให้เขาทั้งคู่จัดการกันเอง ผลก็ออกมาดีทุกครั้ง หากครั้งไหนทะเลาะกันถึงขั้นเจ็บตัว เจ็บใจน้ำตาไหลพรากๆ  แม่ของอีกฝ่ายวิ่งพุ่งเข้ามาแทรกแซงแล้ว แม่ดาวก็จะบอกลูกว่า "วันนี้ลูกและเพื่อนคงไม่พร้อมจะเล่นด้วยกันแล้วแหละ แม่คิดว่าเราต้องบ๊ายบายกันแล้ว"  พากลับเลย แม่เขาก็เข้าใจแม่ดาวนะคะ เพราะคุ้นชินกัน สนิทกัน

        อยากให้ทุก ๆ ท่าน ลองมองแบบนี้ค่ะ  ปัญหาของเด็ก ๆ ทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวตัวเอง หรือทะเลาะกับเพื่อนก็ตาม  อยากให้มองว่า  นั้น “เป็นปัญหาของเด็ก”  เด็กควรจะเป็นผู้จัดการในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เรา เป็นผู้เข้าไปจัดการปัญหานั้น  แต่ปัญหาจะโยนกลับมาเป็นของเราทันที ถ้าการทะเลาะกันนั้น กำลังจะกลายเป็นความรุนแรงแบบที่ถึงขั้นทำร้ายร่างกันแบบเลือดตกยางออก     ที่นี้ ขอแนะนำแนวคิด แบบเป็นข้อ ๆ ให้ลองปฏิบัติกันดูนะคะ

        1.  หากกรณีแย่งของเล่นกัน  ลองปล่อยให้เขาจัดการแก้ปัญหากันเองก่อน   มันต้องมีอยู่แล้วที่จะต้องมีฝ่ายถูกกระทำ มาฟ้องเรียกร้องความยุติธรรมจากเรา หากเป็นแม่ดาวอยู่ในสถานกาณ์เช่นนี้ แม่ดาวจะบอกกับลูกคนที่แย่งของเล่นแบบข้อความข้างบนคือ “ พี่.....ค่ะ แม่เห็นว่า ตอนนี้น้องของลูกกำลังเสียใจมาก ๆ เลยนะคะ ลูกคิดว่าลูกจะจัดการแก้ปัญหานี้ยังไงค่ะ  เรื่องนี้เป็นเรื่องของพี่น้อง แม่คิดว่าลูกทั้ง 2 ควรตกลงกันเองนะคะ แม่ขอบคุณพี่.....ล่วงหน้า แม่หวังว่าลูกคงจะช่วยน้องแก้ปัญหานี้ได้นะคะ” แล้วเดินทิ้งระยะไป แอบดูแบบเนียน ๆ

        2.  หากตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่าย ต่างเอาชนะกัน ไม่มีใครยอมใคร สงสัยงานนี้ต้องเข้าไปร่วมงานนี้สักนิด  
แม่    “แม่คิดว่า  ของเล่นชิ้นนี้ คงจะเป็นตัวปัญหาเนอะ  ดูซิ ทำให้พี่น้องที่รักกัน ลูกของแม่ทั้ง 2 ต้องมาทะเลาะกัน โกรธกัน แม่จะช่วยจัดการเจ้าตัวปัญหานี้ให้  โดยแม่จะอาสาเก็บของเล่นชิ้นนี้ไว้ให้เองนะครับ”  และเก็บของเล่นชิ้นนั้นไปเลย   แน่นอนค่ะ หากเขาทั้ง 2 อยากจะเล่นของเล่นชิ้นนี้ เขาต้องแสดงให้เราเห็นว่า เขาทั้งคู่สามารถเล่นด้วยกันได้โดยไม่มีน้ำตา  ไม่ทะเลาะกัน  

        3. หากเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดกำลังจะทำร้ายร่างกายกันแบบที่เราคิดว่าน่าจะต้องเข้าขั้นบาดเจ็บหนัก  เราต้องรีบเขาไปจัดการทันที  เช่น เห็นว่าลูกคนเล็กกำลังจะเอาของเล่นเขวี้ยงใส่พี่  หรือกำลังจะตีพี่ ให้เราเขาไปจับเขาไว้ และบอกว่า  “แม่รู้ว่าลูกโกรธพี่มาก แต่ตอนนี้ลูกยังไม่พร้อมจะคุยกัน ลูกต้องการเวลาสงบสติอารมณ์สักพักนะคะ ”  ให้เขาเย็นลงก่อน ค่อยคุย และควรเก็บของเล่นชิ้นนั้นไปด้วย จะได้ไม่มีฝ่ายใดได้อาศัยช่วงชุลมุนหยิบไปเล่นได้
         
อีกสักตัวอย่าง  
        หากเราไม่ได้อยู่ในเหตุกาณ์นั้น แต่ลูกคนนึงก็วิ่งเข้ามาหาเรา แน่นอนส่วนใหญ่คนแรกที่จะเข้ามาเราก่อนนั้น น่าจะเป็นผู้ถูกกระทำก่อน เราก็ต้องตั้งใจรับฟังลูก แบบยังไม่ต้องพิพากษาตัดสิน  และควรอยู่ลำพังกับลูกคนนั้น โดยอาจให้อีกฝ่ายมีใครสักคนพาไปเล่นด้วยก่อน
ลูกบี          แม่ครับ  เมื่อกี้พี่เอ...ตีบี  แย่งของเล่นจากบีไป ทั้ง ๆ บีเล่นอยู่ก่อนแล้ว
แม่            อืม....พี่เอ  แย่งของเล่นของลูก และตีลูกด้วยเหรอค่ะ

ลูกบี          ใช่ 

แม่            ลูกคงเจ็บและโกรธพี่ด้วยใช่ไหมค่ะ
ลูกบี          ใช่  แม่ช่วยจัดการพี่เอให้หน่อย และแม่ช่วยเอาของเล่นคืนให้บีด้วยนะครับ
แม่            แม่อยากให้ลูกแก้ปัญหานี้ด้วยตัวของลูกเองนะคะ  มันเป็นปัญหาของลูกและพี่ แม่เชื่อว่าลูกสามารถจัดการแก้ปัญหานี้ได้   หากคิดออกแล้วลองมาเล่าให้แม่ฟังหน่อยนะคะ ว่าลูกคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง  แม่จะรอฟังนะคะ 

มาถึงคุยกับพี่บ้าง  แบบเดิมนะคะ  พูดเป็นการส่วนตัว แบบไม่มีน้องอยู่ด้วย
แม่            พี่เอ    น้องบี บอกแม่ว่า ลูกทั้งคู่ มีปัญหากันเรื่องของเล่น  (ไม่ได้บอกว่าใครทำใครยังไง กว้าง ๆ )     
พี่เอ           ก็เอ  อยากจะเล่นของเล่นชิ้นนั้น แต่น้องบีไม่ยอมให้ น้องบีหวงของ ไม่ยอมแบ่งกันเล่นเลยนี่แม่

แม่            อืม...ลูกอยากเล่นของเล่นกับน้องบี  แต่น้องไม่ยอมแบ่งให้เล่นใช่ไหมครับ
พี่เอ           ใช่  น้องไม่ยอมให้เล่น น้องหวงของ
แม่            แม่เข้าใจว่าลูกอยากเล่นของเล่นชิ้นนั้นมากจริง ๆ  แล้วของเล่นชิ้นนั้นเป็นของใครครับ
พี่เอ           ของน้องบี
แม่            อ๋อ...ของน้องบี   แล้วถ้าของเล่นชิ้นนั้นเป็นของลูก และลูกเล่นอยู่ก่อน แล้วน้องก็เกิดความรู้สึกแบบลูก ทำแบบเดียวกับลูก  โดยลูกก็กำลังอยากจะเล่นของเล่นชิ้นนั้นคนเดียว ยังไม่พร้อมจะแบ่งให้น้องเล่นด้วย  ลูกคิดว่าน้องทำถูกไหมครับ
พี่เอ   อาจตอบหรือไม่ตอบก็ได้   แต่แม่ดาวคิดว่าเขาต้องมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ในใจ ไม่ต้องคาดคั้นให้ตอบ
แม่            ลูกไม่ตอบแม่ก็ไม่เป็นไรนะครับ  เอาไว้ลูกพร้อมจะบอกแม่ ลูกมาบอกแม่ได้เสมอนะครับแม่จะรอฟัง  
แม่มั่นใจว่าพี่เอ  ลูกชายคนดีของแม่รักน้องอยู่แล้ว  และแม่ก็เชื่อว่าน้องบีก็รักลูกมากเช่นกัน   แม่ว่าเรื่องการไม่เข้าใจกันของพี่กับน้องเป็นเรื่องปกติ แม่เองตอนเด็ก ๆ ก็มีปัญหาแบบนี้แหละ แต่ก็ยังรักกันเหมือนเดิม  

        อันนี้เป็นการจำลองเหตุการณ์ เองนะคะ  หากท่านใดมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น อยากให้เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างค่ะ เอาแบบเหตุการณ์ จริง คำพูดจริง ๆ ประมาณ ๆ เอา ไม่ต้องเป๊ะ  เพราะใครจะได้ทุกถ้อยคำเนอะ  จะได้เป็นประสบการณ์ชีวิตให้ได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

      การที่ลูกทะเลาะกันบ้าง อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ  การที่เขาทะเลาะกันบ้าง ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ เรียนรู้กันและกันและยิ่งรักกันเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้เราต้องไม่เข้าไปแทรกแซงนะคะ  แต่หลังจากการทะเลาะกันแล้ว เราควรจะเป็นผู้ที่รับฟังความรู้สึกที่แสนจะโกรธแค้น คับข้องใจของลูก ๆ ของเรา อย่างเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยนะคะ   ในกรณีทะเลาะกับเพื่อน ๆ ก็เหมือนกัน แม่ดาวมองว่า มันก็ปกติ คนเรามีความคิดต่างกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็ธรรมดาเนอะ 

       บางที่เราอาจจะวิตกเกินไป  กลัวว่าเขาทะเลาะกัน แล้วจะทำพี่น้องไม่รักกัน  เกลียดกัน มันจะเป็นแบบนั้นหากเราเข้าไปแทรกแซงจัดการแก้ไขปัญหาของลูก ๆ ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราสามารถจัดการได้อย่างยุติธรรม เป็นธรรมที่สุดแล้วก็ตาม แต่เชื่อไหมค่ะ เสียงข้างในใจเด็ก ๆ เขาก็จะยังคิดว่า แม่ลำเอียง น้อยใจเรา คิดว่า รักใคร คนใดคนนึงมากกว่าอยู่ดี  อันนี้เป็นเสียงที่ได้ยินดังก้องอยู่ในใจจากอดีตเด็กผู้หญิงตัวน้อย ๆ คนนึง ซึ่งเป็นลูกคนกลางซะด้วย เป็นเด็กที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดตามสถิติฮ่าๆๆ   ยอมรับนะคะ ว่าตัวเองมีปมในใจเยอะ มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเยอะ และอยากบอกว่าบางพฤติกรรมที่ใคร ๆ เห็นว่าดี เช่น ผลการเรียนดี ก็เกิดมาจากปมในใจเนี้ยแหละ  เพราะเราต้องการได้รับการชื่นชม พยายามแสดงตัวตนออกให้พ่อแม่เห็น ว่า “นี่ไง แม่เห็นไหม หนูก็เป็นลูกที่น่าชื่นชม ลูกที่พ่อแม่ควรรักคนนึงนะคะ”  พยายามจะทำตัวให้เด่นสะดุดตา เพื่อว่าจะได้รับคำชมบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้ยินเสียงแบบนั้นเลย  เขาชมแบบในใจไงค่ะ หรือไม่ก็อาจจะชมเราลับหลัง คงกลัวว่าชมต่อหน้าลูกจะเหลิงประมาณนั้น เอาไว้จะมาเผาตัวเองในเรื่องพวกนี้ให้อ่านกัน

        ใครอ่านแล้วมีความคิดเห็นยังไง  หรืออยากร่วมแบ่งปันเรื่องราวทำนองนี้  ยินดีเลยค่า  ดีซะอีกมีประโยชน์ มีหลากหลายมุมมองหลากหลายความคิดเห็น   ตัวแม่ดาวเองที่อยากร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เคยเป็นปัญหาของตัวเองในอดีต และรับรู้ถึงความกังวลใจของเหล่าบรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ ทั้งหลาย ความคิดเห็นที่นำเสนอไปก็เก็บ ๆ เอามาจากหลาย ๆ แหล่งอย่างที่บอกข้างต้น  และเคยแนะนำผู้ปกครองที่เคยประสบปัญหานี้ท่านนึง และเขาก็กลับมาบอกเราว่า ได้ผลดีมาก ๆ  จากตอนแรกเขาจะเป็นคนเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาลูกทะเลาะกันด้วยตัวเองตลอด ผลตอนนั้นคือ ลูกก็ยิ่งจะทะเลาะกันมากขึ้น แยกกันสักพัก ก็ตีกันใหม่   แต่ปัจจุบันที่ถามเขาบอกว่าปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาของเขาอีกต่อไปแล้ว และถึงมีปัญหาลูก ๆ ของเขาก็จัดการได้ โดยมีเขาเป็นที่ปรึกษานิดหน่อย  แม่ดาวเองก็ยิ้มปลื้มใจ อย่างน้อย ๆ ความคิดเล็ก ๆ ของเราก็ก่อผลอันยิ่งใหญ่ให้ใครอีกคน/ครอบครัวได้เหมือนกัน

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขอพื้นที่ส่วนตัว...ไว้ให้ตัวเองบ้าง


       มีผู้อ่านท่านใดในที่นี้ ที่ไม่มีเวลาส่วนตัวไว้ให้ตัวเองบ้างหรือเปล่าค่ะ  แม่ดาวเองก็เคยเป็นคนนึงที่ไม่ยอมที่จะแบ่งเวลาไว้ให้สำหรับตัวเองเลยในสมัยแรก ๆ ของการมีลูก ยิ่งในช่วงก่อนลูกเข้าเรียน (0-3 ขวบ) เวลาส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการเลี้ยงลูก ทำงานบ้าน ดูแลสามี ชีวิตทั้งหมด 24 ชม. ที่มี ก็มีแต่พวกเขาแทบจะทั้งนั้น  มีบ้างบางครั้งที่กลับไปบ้านตัวเองที่ต่างจังหวัด การกลับไปบ้านตัวเองเหมือนเป็นการได้ผ่อนคลายความเครียดได้เยอะเหมือนกัน   กลับไปเป็นลูกอีกครั้ง มีคนมาคอยดูแลเราบ้าง  สลับกับการดูแลพ่อแม่บ้าง ลูกบ้าง หากอยู่ที่บ้านตัวเองเหมือนการกลับไปชาร์ตพลังไฟในใจให้พร้อมสู้ต่อ

     ช่วงนั้นจำได้ว่า เป็นคุณแม่เจ้าน้ำตาอยู่บ่อย ๆ เหนื่อยง่าย ท้อง่าย  เลี้ยงลูกเอง แบบไม่มีประสบการณ์มากมาย ต้องดูแลงานบ้านเองทุกอย่าง ไหนจะความเครียดมากมายที่ประเดประดังเข้ามาสารพัด  ชีวิตช่วงนั้นอ่อนแอ ไร้พลังสุด ๆ  มองข้ามความรู้สึกตัวเอง มองความสภาพร่างกายตัวเอง  ทุกอย่างเพื่อคนอื่นหมด ถึงจะเป็นคนที่เรารักมากที่สุดก็เถอะ   

     อยากให้ใครที่เป็นเหมือนแม่ดาวตอนนั้น หันกลับมามองตัวเอง การที่เราทำทุกอย่างเพื่อคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีก็จริง แต่อย่าทอดทิ้งตัวเอง  ให้เวลา ใส่ใจ ทำอะไร เพื่อตัวเองบ้าง อย่างน้อย ๆ ใน 1 สัปดาห์ ก็น่าจะมีเวลาให้ตัวเองบ้างสักวัน  หรือไม่ก็ช่วงใด ช่วงหนึ่งใน 1 วัน ลองจัดสรรเวลาแห่งความสุขให้ตัวเองดูนะคะ  อย่างน้อย ๆวันละ 1-2 ชม. / วัน ก็น่าจะพอ  

    ปัจจุบันแม่ดาวเองก็จัดสรรเวลาเหล่านั้นให้ตัวเองบ้างเช่นกัน อาจไม่ได้ทุกวัน แต่ก็มีบ้างแหละ ที่ทำได้  การที่เรารู้จักดูแลใส่ใจตัวเอง ไม่ใช่เพียงผลดีจะเกิดแก่ตัวเราเองเท่านั้น  พอเรามีเวลาให้ตัวเอง เรามีความสุข ไม่เครียดแล้ว บรรยากาศในบ้าน ในครอบครัวก็พลอยอิ่มสุขไปกับเราด้วย

      และนั่นหมายถึง การที่เราเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกเห็นด้วย  ลูกควรรับรู้ว่า “แม่เองก็ต้องการเวลาพักผ่อนบ้างเหมือนกัน”  หากวันไหนที่แม่ดาวไม่สบายกาย หรือไม่สบายใจก็แล้วแต่ หากไม่ไหว ก็จะบอกลูกตรง ๆ ว่า  วันนี้แม่รู้สึกไม่สบายใจ หรือ ป่วย  บอกสาเหตุด้วยนะคะ แต่อาจไม่ต้องบอกทั้งหมดที่คิดก็ได้  และบอกลูกว่าว่า วันนี้ หรือตอนนี้ แม่ต้องการเวลาพักผ่อนนานแค่ไหนก็ว่าไป   หากเขาอยู่กับเรา ณ ตอนที่เราเกิดอาการแบบนี้  

   ลูกเองก็จะได้เรียนรู้ว่า  เขาต้องมีเวลาส่วนตัวของตัวเองบ้าง เขาจะเรียนรู้ว่า หากเขาเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ ไม่อยากจะคุย หรือทำอะไร เขามีสิทธิที่จะพักอย่างเงียบ ๆ คนเดียวได้  ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ  

       อย่างที่บอกค่ะ ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องการเวลาให้ตัวเอง  บางทีเราทำเพื่อคนอื่นจนมองข้ามสิ่งนี้ไป แล้วพอฝืนทำไปเรื่อย หรือเหนื่อยทำต่อไปแบบไม่รู้สึกตัว  คิดว่าแบบนี้ดีแล้ว ถูกต้องเหมาะสมที่สุดแล้ว  อยากให้จำคำนี้ไว้นะคะ  “หากเราอยากช่วยคนอื่น  เราต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้เสียก่อน”  หากตัวเองยังล่อแร่ ท้อแท้ เหนื่อย แล้วเราจะเอาพลังกาย พลังใจที่ไหนไปช่วยคนอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ  ดังนั้นให้ช่วยตัวเราก่อน ดูแลตัวเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจก่อน แล้วค่อยไปดูแลคนอื่น ๆ ที่เรารัก  

        ส่องกระจกทุกครั้งอย่าลืมบอกกับคนๆนั้นในกระจกด้วยนะคะ ว่า “ฉันรักเธอ และจะดูแลเธออย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”   

      นี่เป็นอีก 1 เรื่องเล็ก ๆ สำหรับเรา ที่เรามองข้ามกันเยอะ แต่สุดท้ายก็บานปลายจนก่อตัวเป็นก้อนความทุกข์แบบไม่รู้ตัว       

          แนะนำกันจากประสบการณ์ตรงเลยนะคะเนี้ย
      
             

แม่กลุ้มใจ...ทำยังไงหากลูกไม่รักษาสัญญา

        เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วนะคะ  เป็นช่วงหนึ่งที่ตัวเองรู้สึกเหนื่อย ๆ กับลูก จิตใจ ณ ช่วงนั้น ก็ไม่ค่อยจะปกติ  ประมาณช่วงต้นเดือนกันยายน พิมพ์บันทึกนี้ขึ้นมา   เป็นการพิมพ์บันทึกเพื่อถามความคิดเห็นจากหลาย ๆ ท่าน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ และอีกหลาย ๆ ท่านที่มากประสบการณ์ในการการเลี้ยงลูก ผ่านface book  เห็นว่าเป็นประสบการณ์ อีก 1 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับหลาย ๆ ครอบครัว  เลยคัดลอกมาให้ได้อ่านกัน

        ขอความคิดเห็นจากทุกท่านค่ะ (เลี้ยงแบบแนวคิดบวกนะคะ)
วันนี้เกิดเหตุการณ์อีกแล้ว เรื่อง การรักษาสัญญาของดีโด้
ดีโด้หลัง ๆ ผิดคำพูดบ่อยมาก ไม่ค่อยรักษาคำพูดเลย บางทีก็โกหกแบบแถๆๆๆๆไป วันนี้ก็อีกแล้ว ดีโด้เล่นอยู่แล้วเราก็ถามว่า

แม่      "ดีโด้ครับ เล่นอีก 5 หรือ 10 นาที ไปอาบน้ำครับ"

ดีโด้      ขอดูการ์ตูนย์ 10 นาทีครับ (เปลี่ยนจากเล่นไปเป็นดูการ์ตูนย์ซะงั้น)

แม่คิดแล้วว่าก็ไม่เป็นปัญหา ตกลง และเหมือนเดิม

แม่      จะให้แม่บอก หรือให้พี่นาฬิกาบอกครับ  (เพราะหลัง ๆ เริ่มเกลียดนาฬิกา อารมณ์ว่าสั่งเราจริง ๆ ทะเลาะกับนาฬิกาบ่อย ๆ 555)

ดีโด้     นาฬิกา (พูดเพราะบ้างไม่เพราะบ้างตามอารมณ์)

แม่ก็จัดการตั้งเวลาและเดินไปอาบน้ำก่อน และบอกไว้ว่า
แม่      ดีโด้ครับ ครบ 10 นาที เดินตามแม่มาอาบน้ำเลยนะลูก แม่จะไปอาบก่อน

ดีโด้    คราบบบบบบบบบบบ   (ลากเสียง)

แม่ ก็ไปอาบน้ำ ระหว่างที่อาบ ก็ได้ยินเสียงนาฬิกา และแป๊บเดียวก็เงียบไป  เจ้าตัวแสบ (คิดในใจ แต่อย่าพูดออกมานะคะ)คิดว่าแม่คงไม่ได้ยิน ไม่รู้ เพราะอยู่ในห้องน้ำ ซึ่งปกติเวลาอาบน้ำก็จะแง้มประตูไว้เสมอ ๆ เพราะลูกไม่ยอม
แม่ดาวก็ เดินออกมาจากห้องน้ำ คิดๆๆๆๆๆ จะถามยังไงเนี้ย เอาไงดี แต่ก็ถามไปแบบไม่รู้จะพูดอะไรด้วยแล้ว รู้ด้วยนะว่าถามแล้วดีโด้ต้องโกหกแน่  

แม่   เอ......... ดีโด้ครับ ครบ 10 นาที หรือยังครับ
เปิดช่องให้ลอดเห็น ๆ ที่จริงควรบอกว่า ดีโด้ครับ แม่ได้ยินเสียงนาฬิกา ครบ 10 นาทีแล้ว ถึงเวลาอาบน้ำตามเวลาที่ลูกเลือกแล้วนะครับ ผลคือ ปัญหายืดเยื้อยาวนาน

ดีโด้   ยังครับ

แม่คิดว่าเอาใหม่ หรือเรายังสื่อสารไม่ดีพอ ขอเถอะอีกครั้งน่าจะพูดความจริง  นั่งลงมองตาลูกและพูดว่า
แม่    ยังไม่ครบจริง ๆ เหรอครับ แม่ว่ามันนานมากแล้วนะเนี้ย

ดีโด้ จริง ๆ ครับ (หลบตาด้วยนะ แอบยิ้ม ๆ แบบเจ้าเล่ห์ เค้ารู้แหละว่าเรารู้)

แม่    ดีโด้ครับ มองตาแม่แล้วช่วยตอบอีกครั้งให้แม่ชื่นใจได้ไหมครับ

ดีโด้  ยังไม่ครบจริงๆ (เสียงสูง)

เย้ย................ เอาไงดีเนี้ย คิดๆๆๆๆๆๆๆ

แม่    ดีโด้ครับ แม่ได้ยินเสียงพี่นาฬิกาบอกว่า ครบ 10 นาทีแล้ว สงสัยคนที่ตอบเนี้ยต้องเป็นปีศาจแน่ ๆ เลยใช่ไหมครับ

ดี โด้เค้าเคยบอกว่าเค้ามีปีศาจและเทวดาอยุ่ในตัวของเค้า เราเคยคุยกันว่าเราต้องพยายามให้เทวดาชนะปีศาจอย่าให้ปีศาจออกมาได้ ไม่งั้นปีศาจจะทำให้เรา 2 คนทะเลาะกัน  คุยปูพื้นเรื่องนี้กันมาแล้ว และเค้าก็ยอมรับข้อนี้

ดีโด้  ใช่ ปีศาจ นี่เป็นปีศาจไม่ใช่ดีโด้

แม่   งั้นแม่ขอคุยกับเทวดาในตัวหนูหน่อยได้ไหมครับ

ดีโด้   เทวดาไม่อยากคุยกับแม่ตอนนี้

แม่เลยหลับตาและพูดว่า  คือคิดเองว่าการที่แม่หลับตาอาจทำให้ลูกผ่อนคลายขึ้น ไม่รู้สึกเหมือนโดนคาดคั้น จับผิด

แม่   คุณเทวดาออกมาคุยกับแม่หน่อย แม่ดาวอยากจะคุยด้วย (พูดแบบเสียงดัง ๆ )
ดีโด้ก็เงียบไม่ตอบ ไม่พูดอะไร แม่ก็เลยพูดกับลูกอีกว่า

แม่   ดีโ้ด้ครับ แม่เรียกแล้วแต่เทวดาไม่ตอบแม่ ดีโด้ช่วยแม่เรียกเทวดามาคุยได้ไหมครับ

ดีโด้  คุณเทวดาออกมาคุยกับแม่ดาวหน่อยครับ (ตะโกน)

แม่   คุณเทวดามาหรือยังครับ

ดีโด้  มาแล้ว

แม่   ลืมตา คุณเทวดาครับ ครบ 10 นาทีหรือยังครับ

ดีโด้  (ยิ้มหวาน) ครบแล้วครับ

แม่    ครบแล้ว ต้องทำไงต่อนะ คุณเทวดา

ดีโด้  ไปอาบน้ำครับ แม่นับ 1-3 ให้ดีโด้หน่อย

แม่   1-2-3 

ดีโด้และแม่วิ่งแข่งกันไปห้องน้ำจบแบบลุ้นๆ เหนื่อย ๆ เนอะ แต่ก็ดีกว่าการตะคอก ตวาด ฟาดก้นลูก  

1. หากเกิดเหตุการณ์ประมาณว่า ไม่รักษาคำพูดอีก คิดว่าทำไงดีค่ะ
2. คิดว่าในตอนแรกที่เค้าโกหก เราจะถามยังไงให้เค้าพูดความจริง ไม่โกหก
เอาแบบยกตัวอย่างจากเหตุการณ์ข้างบนเลยก็ได้ค่ะ
รบกวนช่วยกันระดมความคิดหน่อยนะคะ 
                                ขอบคุณทุกท่านล่วงหน้าค่ะTop of Form
·          
Mai Thanasetkorn (ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร)
ความเห็นไม่มีค่ะ ที่มี มีแต่ความทึ่ง ชื่นชม ภาคภูมิใจ เคารพ นับถือ ดีใจกับน้องดีโด้ ที่มีคุณแม่ที่มีความมุ่งมั่น และเชี่ยวชาญการรักษาสัมพันธ์และ ยังฝึกวินัย ของน้องดีโด้ (โจทย์ยากคนหนึ่งเท่าที่ครูหม่อม ครูใหม่รู้จัก) ได้อย่างชาญฉลาด และบวกตลอด

หากคุณแม่ไหวพริบดีขนาดนี้ ครูใหม่ไม่แปลกใจเลยค่ะถ้าน้องดีโด้ จะขอทดสอบคุณแม่อยู่เรื่อยๆ ;)

หากเกินเหตุการณ์พูดเกินไปหน่อย อีก คุณแม่ไม่ต้อง ทำให้เป็นเรื่องใหญ่นะคะ เด็กวัยนี้จะแต่งเรื่อง และจินตนาการเก่ง หลายๆครั้ง ทำโดยไม่มีจุดมุ่งหมาย จินตนาการไปเรื่อยๆ เล่าให้ฟังแล้วบอกเราว่าจริง (ตรงนี้แหละค่ะ ถ้าไม่เป็นคุณครูคงไม่เชื่อว่าเด็กพูดไม่จริงเป็นตั้งแต่พูดได้เลยทีเดียว)

ถ้าสังเกต ช่วงนี้น้องเล่าไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นต้องไปบอกเค้านะคะว่า ลูกอย่าโกหก พูดไปว่า จินตนาการของลูกน่าสนใจจัง และยกตัวอย่างนักเขียน นักสร้างหนัง เค้ามาจากการฝึกจินตนาการทั้งนั้นค่ะ ชวนน้องเขียน Journal ไว้เลยค่ะ จะวาดวูปก็ได้ จะเขียนก็ได้ เรากำลังค่อยๆแยกแยะให้เค้าเห็นว่า จินตนาการเป็นสิ่งที่ดี แต่ใช้ให้ถูก และแยกแยะจากเรื่องจริง ระหว่างนี้ เล่าเรื่องราว ของการไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ เสริมไปจ้ะ
Seksan Sek (พ่อเสก คุณพ่อที่น่ารัก รักและใส่ใจลูกมากมาย ขยันสรรหากิจกรรมมากมายมาเล่นกับลูกเสมอ ๆ )
ถ้าเป็นผมนะครับ ผมจะบอกเค้าว่า ลูกได้เวลาต้องไปอาบน้ำแล้วครับ ถ้าเค้ายังติดพัน นั้นพ่อให้เวลา10นาทีต้องปิดTVและไปอาบน้ำ เข็มยาวชี้เลขนี้นะ ถ้าถึงเวลาผมก็บอกให้เค้าปิดและไปอาบน้ำครับ
ในกรณีนี้ผมจะไม่ถามให้เค้ามีช่องในการเอาตัวรอดในคำพูดครับ
เพราะถือว่าได้ทำการตกลงกันแล้ว เค้ามีหน้าที่ต้องทำในสิ่งที่เค้ารับปากครับไม่ใช่การบังคับแต่เป็นการตกลงร่วมกัน
ในกรณีที่งอแงไม่ให้ความร่วมมือ ปิดก็ต้องปิดครับ จะเสียใจก็เสียใจ แต่อย่าให้เค้าแช่ในอารมณ์แบบนั้นนานเกิน ก็ต้องเบี่ยงหรือหักเหให้เค้าคลายความโกธร คลายความเสียใจ เสร็จแล้วก็คุยกันพร้อมๆกับบอกถึงความเป็นห่วงที่เรามีต่อเค้าถ้าเค้าไม่ได้อาบน้ำครับ
สำหรับลูกผมนะครับ ครบเวลาเค้าก็จะทำเสมอเพราะเค้าได้รับปากแล้ว เพียงแต่ลูกเล่นอีกอย่างของผมคือ สร้างกิจกรรมอะไรสนุกๆในห้องน้ำ การอาบน้ำจะไม่เป็นเรื่องน่าเบื่อครับ
:) น้องดีโด้ มาถึงจุดนี้แล้วเหรอคะเนี่ย ไอ้จุดที่จะบอกว่า "เราชอบบังคับ"

อย่าตกใจไปค่ะคุณแม่ อาการนี้จะมีบ้างประปรายในเด็กบางคน (ส่วนมากก็แนวน้องดีโด้นี่ล่ะค่ะ) ตอนน้องมังกรหกขวบ ครูใหม่ครูหม่อม ก็เจอพายุลูกนี้อยู่ระยะหนึ่งค่ะ ก่อนอื่นแบ่งเหตุการณ์ออกเป็น 2 อย่างนะคะ

1.
บ่นไปทำไป - ในกรณีนี้เพิกเฉยไปค่ะ และขอบคุณน้องดีโด้หลังจากน้องทำตาม และทำให้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยการ นำไปเล่าให้คนสำคัญคนอื่นๆสม่ำเสมอ ว่าเด็กวัยนี้สามารถรักษาสัญญาได้ เก่งงเหลือเชื่อ

2.
บ่นและไม่ทำ โวยวายจริงจัง - รอค่ะ แสดงความเข้าใจว่า เค้าไม่ฟังพี่นาฬิกาเพระอะไร ยังอยากเล่นใช่มั้ยครับ แม่เข้าใจ ตอนคุณแม่ทำอะไรก็ตามสนุกมากกกกก ไม่อยากไปเลย แต่พอพี่นาฬิกาบอก ก็ต้องไป แล้วแม่ก็บอกกับตัวเองว่า เรารีบไปทำจะได้กลับมาเล่นดีกว่า

คุณแม่ยังคงรักษาสัมพันธภาพแม้ว่า น้องจะยัดเยียดความเป็นฝ่ายตรงข้ามให้ อย่าไปนั่งเถียงว่า แน้... ไม่ได้บังคับน้าาา.... เพราะน้องได้ยินตั้งแต่เด็กแล้วล่ะค่ะ ว่าเค้าเลือกเอง แต่มันขัดใจ และเป็นเรานี่แหละคอยกระชับพื้นที่ ให้เค้าตลอด เค้าเลยรู้สึกตามธรรมชาติ (จุดนี้เด็กแต่ละคน มีการตตอบสนองไม่เท่ากัน แต่ทุกคนรู้สึกหมดแหละค่ะ) นึกถึงทุกกฎระเบียบในทุกที่นะคะ เราจะอึดอัดกับกฎแต่ละข้อแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน เช่นบางคน โอเคที่จะใส่ยูนิฟอม แต่อึดอัดที่ห้ามใช้โทรศัพท์ ในขณะที่บางคน เป็นว่าโทรศัพท์อ่ะไม่ใช้ได้. แต่ชุดเนี่ยโดนบังคับตั้งแต่เป็นนักเรียน พอซะทีเหอะทำงานแล้วนะ >_<

จึงไม่แปลก ถ้าน้องจะมีงอแงบ้าง แต่อย่าลืมการ เฟิร์มแบบอ่อนๆก็มีเราเน้นไปที่ ใส่ความเห็นใจ และภาคภูมิใจ และเน้นทีระยะยาวให้ลูกของเรา ฝึกฝนหักห้ามความอยาก ที่จะตามใจตัวเอง การรักษาเวลา การเคารพและรับผิดชอบการตัดสินใจของตนเอง บางคนฝึกไม่มาก บางคนฝึกนาน บางคนต่อต้านนอกใจ บางคนต่อต้านในใจ เพราะแบบนี้แหละค่ะ เค้าถึงน่ารักน่าอยู่ด้วย
อังคณา มาศรังสรรค์ (ครูณา รู้จักจากที่ตัวเองได้ดูรายการ ครอบครัวเดียวกัน ชื่นชมและชื่นชอบมากกับแนวคิดต่าง ๆ เคยลงทะเบียนจะไปอบรมด้วยแล้ว เกิดภาวะน้ำท่วมเลยอดไป และปัจจุบันก็ยังไม่มีโอกาสได้ขอความรู้กับครูณาจริง ๆ สักที)     
ถ้าเป็นณา (คิดว่า ก็คงต้องช่วยกันหาสไตล์ด้วยกันให้พบเส้นทางที่เหมาะกับตนเองค่ะ เพราะแต่ละแบบก็เป็นตามวิถีของตน) ณาจะเขียนใส่กระดาษว่า "ครบ 10 นาทีแล้ว แม่ไปนอนแล้วนะจ๊ะ บ้ายบาย"
ไม่แน่ใจว่าน้องอ่านหนังสือได้ ไหม ถ้าไม่ได้ ก็ดีอีกเช่นกัน เพราะเขาจะงง ๆ และวิ่งมาถามว่า แม่นี่อะไร เขียนว่า อะไร เราก็อ่านให้เขาฟัง และบอกว่า ลูกบอกสิบนาที แม่ก็เลยมาเตือนจ้ะ
บาง ที ณาก็รู้สึกว่า หากเราพยายามที่จะหลอกล่อ เราจะรู้สึกเหนื่อยเกินไป เพราะต้องคอยหามุขมาตลอด แต่เราจะสื่อสารอย่างไร ที่ตรงไปตรงมาแต่อ่อนโยน ให้เรียนรู้กันง่าย ๆ เสียใจก็บอกว่า แม่รู้สึกเสียใจและผิดหวัง หากลูกแม่บอกสิบนาที แต่พอถึงเวลาแล้วไม่ใช่

ความคิดเห็นแม่ดาวเอง
        ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ครูใหม่ ช่วงนี้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยๆๆๆ มากค่ะ หลัง ๆ เค้าออกอาการเยอะ ต่อต้านเรา ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นค่อยจะเป็น เลยสับสน พ่อเค้าก็ทำให้เราใจเสียพูดประมาณว่า "กับลูกเราแบบเนี้ย มันไม่ได้ผล" หรือบางทีก็ว่า "เอ้าจัดการซิ เค้าไม่มีความสามารถมากพอ"  มันเหมือนเราต้องแบกรับทั้งความรู้สิกผิดต่อลูก และสามีไว้ ขอบคุณครูใหม่มากๆๆๆๆ จริง ๆ ค่ะ ที่เข้ามาช่วยเติมพลังใจให้ อีกยังช่วยแนะแนวทางให้อีกด้วย

        การสื่อสารแบบอ่อนโยนตรงไปตรงมาก็ทำแล้วค่ะ เช่น ดีโด้ครับบ้านเรารกมากเลย แม่เห็นแล้วเหนื่อย แม่อยากให้ดีโด้ช่วยเก็บของเล่นได้ไหมครับ ฯลฯ การสื่อสารประมาณนี้ก็ทำค่ะ ทำตลอด แต่บางที ก็จะมีคำตอบเช่น ก็ดีโด้ว่าไม่รก หรือ แม่เหนื่อยก็เหนื่อยไปซิ หรือถ้าเราบอกเราเสียใจ เค้าก็จะบอก แม่เสียใจก็ดี เดี๋ยวจะทำให้แม่เสียใจมากกว่าเดิมอีก ต้องบอกก่อนนะคะว่าไม่ใช่ทุกครั้งที่เค้าจะพูด แต่ก็มีบ่อยเหมือนกัน เพลียค่ะ

        นี่เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่แม่ดาวเหนื่อย ๆ  เอามาให้อ่านคิดว่าคิดว่าคงมีประโยชน์บ้างแหละเนอะ  อยากบอกทุก ๆ ท่านว่า หากเราไม่ท้อ เรายังเชื่อมั่น และทำยังสานต่อแนวทางการเลี้ยงลูกด้วยการสร้างวินัยเชิงบวกแบบนี้ไปเรื่อย    สักวันเราต้องเห็นผลที่ดีของวิธีนี้แน่    แต่จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นพื้นนิสัยของลูกเรา  นิสัยพ่อแม่  แนวทางการเลี้ยงดูของแต่ละคนในครอบครัวเหมือนหรือต่าง ฯลฯ 
        ยืนยันอีกครั้งว่ายังไงซะ แม่ดาวก็ยังจะยืนหยัดอยู่บนเส้นทางการเลี้ยวลูกแบบนี้ค่ะ  ปัญหามันต้องมีมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว เพียงแต่เจอแล้วอย่าท้อ ก็ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้มนี่เนอะ ใช่ไหมค่ะ

วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปัญหา “ลูกชอบกรี๊ด” เวลาโกรธ หรือไม่พอใจ


        ไม่รู้มีครอบครัวไหนในที่นี้ เคยประสบปัญหานี้บ้างน้อ   แต่แม่ดาวได้ยินคนมาปรึกษาปัญหานี้กันบ่อย ๆ  ทั้งจากผ่านทาง Face book  หรือจากการปรีกษาปัญหาโดยตรง  ออกตัวอย่างแรงอีกนิดนะคะ  อย่าลืม  แม่ดาวไม่ใช่ผู้ที่ศึกษาเรียนจบมาเกี่ยวกับด้านนี้แต่อย่างใด  วุฒิการศึกษาที่จบมาคือ ปริญญาตรีเกี่ยวกับบริหารธุรกิจการตลาด  มีเรียนหลักจิตวิทยาเบื้องต้นมาบ้างนิดหน่อย แต่ก็นานมากแล้ว  ปัจจุบันสิ่งที่รู้สะสมมาจากการศึกษาเพิ่มเติมนอกห้องเรียน และเรียนรู้จากประสบการณ์การเป็นแม่ครั้งแรกของตัวเอง และคาดว่าน่าจะมีลูกเพียงคนเดียวด้วยนะคะ  

        คือ ปรึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นแนว ๆ แม่ ๆ คุยกัน แบบสบาย ๆ อย่าจริงจังอะไรกับแม่ดาวมากนัก  และล่าสุดเมื่อสักประมาณ 3 วันก่อน ก็มีผู้ปกครองท่านนึงโทร.มาคุยกันเรื่อง เด็กข้าง ๆ บ้านกรี๊ด แล้วคุณยายมาปรึกษาว่าจะทำยังไง  คือคุยกันหลายเรื่องและมาจบที่เรื่องนี้

        แม่ดาวก็แนะนำไปตามความคิดว่า  หากเด็กกรี๊ด เวลาโกรธ 

        1.  กอด   ให้ผู้ปกครองท่านที่อยู่ด้วยกอดเด็กเอาไว้ แต่ต้องกอดแบบที่ตัวผู้ปกครองเองต้องสงบ ใจเย็น และเข้าใจความรู้สึกของเขาอย่างแท้จริง  หากเราสงบแล้วกอดสักพักพอเขาระบายความโกรธ ความเครียดนั้นออก เขาก็จะสงบได้เอง ระหว่างกอดไม่ต้องพูดอะไรมากมายนัก สั้น ๆ พอเช่น “แม่เข้าใจนะคะว่าลูกโกรธมาก”  เอาไว้พอเขาสงบแล้วเราค่อยสอนเขาประมาณว่า
        -หากเวลาที่ลูกโกรธ แล้วร้องไห้ แม่ก็พอจะเข้าใจและยอมรับได้  แต่แม่ไม่ชอบให้ลูกส่งเสียงกรี๊ดเวลาลูกโกรธเลย แม่เป็นห่วงกลัวลูกเจ็บคอ เดี๋ยวคออักเสบนะ   
        - ทางที่ดีคือ เวลาที่ลูกโกรธ แม่อยากให้ลูกพูดกับแม่ บอกแม่ว่าลูกโกรธ และโกรธเรื่องอะไร  แม่จะได้เข้าใจและรับรู้ได้ หากแค่ร้องไห้หรือกรี๊ด แม่ก็ไม่เข้าใจว่าลูกโกรธเพราะอะไร  หรือลูกเป็นอะไร บาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า
        - หรือลูกคิดว่า  ลูกจะทำยังไง เวลาที่ลูกโกรธ ที่ไม่ใช่การร้องไห้หรือกรี๊ด มีความคิดเห็นเหมือนแม่ หรือว่ามีความคิดเห็นอย่างอื่นค่ะ แม่พร้อมจะฟังนะคะ

        2.  Take a break  วิธีนี้เคยอธิบายไปแล้วในบทความบทลงโทษ เมื่อลูกกระทำผิด  วิธีการคือพาเด็กไปในจุดที่สงบ และบอกลูกว่า "ลูกโกรธมากแล้ว ลูกต้องพักสงบสติอารมณ์สักพักนะคะ"  เช่นอาจจะเป็นเก้าอี้  หรือมาไปอยู่มุมใด มุมหนึ่งของบ้านที่ต้องไม่มีสิ่งเร้าอารมณ์ใด ๆ อยู่นะคะ เช่นไม่มีทีวี ไม่มีของเล่น  มุมที่ว่างเปล่า รู้สึกสงบ พอที่จะให้เขาได้อยู่กับตัวเองสักพักเพื่อสงบสติอารมณ์ และเด็กเขาจะเป็นผู้กำหนดเวลาของเขาเอง คือ เมื่อไหร่ที่เขาพร้อม กลับมาได้เลย เรารออยุ่ ไม่ใช่เพราะเราสั่งเขาว่าต้องนั่งนานกี่นาที  หรืออาจจะเป็นตัวเราก็ได้ที่จากไป บอกเขาว่า หากลูกพร้อมจะคุยกับแม่เมื่อไหร่เดินมาหาแม่นะคะ แม่จะรออยู่ตรงนี้  คือบางที่ก็ไม่มีมุมแบบนั้นเนอะ  ก็คงต้องปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเองสักพัก  แต่อยากให้พาออกไปจากจุดเกิดเหตุก่อนนะคะ   เข้าใจเนอะ  ณ จุดเกิดเหตุเนี้ย สภาพแวดล้อมตรงนั้นมันจะคอยกระตุ้นอารมณ์ เขาเห็น แล้วเขาก็สงบยาก   

        3.  เบี่ยงเบนความสนใจ  อันนี้ตอนลูกแม่ดาวเล็ก ๆ ทำบ่อย  โน่น ๆ .......เครื่องบิน ลำใหญ่ บินผ่านมาแล้ว โน้นไง....... ถ้ามีนะ  หรือไม่ก็อะไรก็ได้ที่เห็นแถว ๆ นั้น แล้วคิดว่าจะเอามาสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้  คือ ย้ายจิตลูกจากสิ่งที่ทำให้โกรธ  ไปอยู่กับสิ่งใหม่ที่เขาน่าจะสนใจมากกว่า

        เราไม่จำเป็นต้องพูด สอน    ตอนนั้น ที่เกิดอาการกรี๊ด  ทิ้งช่วงไว้ให้เขาสบาย ๆ  ผ่อนคลายก่อนค่อยพูด ค่อยสอนได้ค่ะ   หลาย ๆ ปัญหาของลูกแม่ดาว  บางเรื่องแม่ดาวจะทิ้งไว้จนลูกเย็นใจ   เช่นเรื่องเกิดตอนเช้า  เอามาคุยกันตอนก่อนนอน  เด็กเขาความจำดีจะตาย  บางเรื่องนานมากจนเราลืมไปแล้ว เขายังสามารถจดจำรายละเอียดได้ครบถ้วน

        สามีแม่ดาวแอบตลกเจ็บ บอกว่า ไม่ได้ มันต้องรีบสอน รีบบอก อย่างหมาเนี้ย เวลาที่กัดรองเท้าเล่น ต้องใช้รองเท้าตีปากหมาทันที มันจะได้จำ  เอ่อ.......สามีค่ะ ลูกของเราเป็นคนนะคะไม่ใช่สุนัข อิอิ
       
         ณ ตอนนี้  เวลานี้ คิดออกแค่นี้ค่ะ    ทุกท่านต้องพิจารณาตามพัฒนาการ วัย และนิสัยของลูกท่านเองด้วย  แค่เสนอ ๆ พอเป็นแนวทาง นะคะ ที่สำคัญ อย่าลืมนะ ตัวเราต้องอารมณ์ปกตินะค่ะ