วันอังคารที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เก็บตกจากกิจกรรม “รับมือลูกวัย 0-6 ปี การปรับพฤติกรรมลูกรัก"

        ตามสัญญาจ้า แม่ดาวดึงข้อมูลเหล่านี้มาจากเอกสารบรรยายและเพิ่มเติมเองบ้าง ผู้บรรยายคือ ผศ.นพ.ชาตรี วิฑูรชาติ หน่วยจิตเวชเด็ก ภาคกุมารเวชศาสต์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 
     คุณหมอบอกว่า พฤติกรรม คือ สิ่งที่เด็กแสดงออกมาจากแรงจูงใจ ความคิดและอารมณ์ ขึ้นอยู่กับระดับพัฒนาการ/อุปนิสัยของเด็กแต่ละคน แปรตามสถานการณ์และการตอบสนอง เกิดจากการเรียนรู้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง (คัดลอกมาจากเอกสารบรรยาย)
มาดูกันต่อว่า พฤติกรรมแบบใด ที่เรียกว่า เป็นปัญหา
-    พฤติกรรมที่ไม่สมวัย โดยดูตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย
-    มีความรุนแรงหรือมีความถี่มาก คือเกิดขึ้นบ่อยๆ
-    ไม่เหมาะสมต่อสถานที่หรือสังคม
-    มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น มีผลเสียต่อการเรียน มีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย เป็นต้น
-    มีผลต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น คือการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่สามารถเข้าร่วมสังคมได้ประมาณนั้น
-    พฤติกรรมที่ทำแล้วโดนตำหนิ หรือถูกลงโทษ หรือทั้ง 2 อย่างโดนควบ
ให้เราพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้ว่า หากใช่ คือ พฤติกรรมที่เป็นปัญหา ควรได้รับการปรับปรุง แก้ไข
สาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา 
-    ธรรมชาติของความเป็นเด็ก เช่นเด็ก อายุต่ำกว่า 6 ปี จะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้น้อย ขาดความยับยั้งชั่งใจ ยึดตัวเองเป็นหลัก
-    ลักษณะอุปนิสัยเฉพาะตัวของเด็ก  คือ อุปนิสัยที่เด็กมีมาตั้งแต่เกิด เรียกว่าคลอดมาก็มีนิสัยแบบนี้ เช่น น้องดีโด้เกิดมาพร้อมกับนิสัยที่ขี้โมโห  ตกใจง่าย กินยาก นอนยาก ชอบเอาชนะ มีความเป็นตัวเองสูง ฯลฯ เราต้องรู้จักนิสัยตรงนี้ของลูกเราให้ดีก่อนนะคะ แล้วการแก้ไขจะง่ายขึ้น
-    สภาวะร่างกายของเด็ก ณ ขณะนั้น เช่น หิว ง่วง เจ็บป่วย
-    การเลี้ยงดูของพ่อแม่
-    ความเครียด/สภาพแวดล้อมอื่น ๆ 
-    ภาวะบกพร่องของสมอง/โรคจิตเวช อันนี้ต้องปรึกษาคุณหมอเนอะถึงจะรู้
วิธีการปรับพฤติกรรมของลูก
1.  การเพิ่มพฤติกรมที่ต้องการ
-    การให้ความสนใจ ต้องมีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน  ให้ความสนใจที่เด็กเต็มที่ มีปฏิสัมพันธ์กิจกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์ทีดีต่อกัน
-    การพูดชม ชมด้วยความจริงใจ โดยใช้สีหน้า ท่าทางประกอบ น้ำเสียงด้วยนะคะ ชมทันทีเมื่อเด็กทำพฤติกรรมมที่ต้องการ  มองหาข้อดีด้านต่าง ๆ และชื่นชมเด็กอย่างสม่ำเสมอ  ชมทั้งความพยายามและความสำเร็จที่เด็กทำได้  ชมเฉพาะจงจงกับพฤติกรรม และระวังคำพูดประชดประชันหรือตำหนิเด็กร่วมไปกับคำชม เช่น ดีมากที่หนูกินข้าวหมดจาน แต่ที่หลังอย่าให้หกเลอะเทอะอย่างนี้อีกนะ อันนี้มีประชดนะคะ
-    การให้รางวัล หลักการให้รางวัล คือ ให้รางวัลกับพฤติกรรมดี ๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ บอกให้เด็กทราบอย่างชัดเจนว่าต้องการให้เด็กทำพฤติกรรมใด  เลือกรางวัลที่สามารถจูงใจเด็กได้ และรางวัลไม่จำเป็นต้องมีราคาแพง การให้รางวัลเล็ก ๆ อย่างสม่ำเสมอจะได้ผลดีกว่า  และจำไว้นะคะว่า รางวัล กับการติดสินบนไม่เหมือนกัน เราต้องรู้จักและระวังในการใช้ด้วย  การให้รางวัลจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน เราเห็นเขาทำดีแล้วเราอยากให้ ของที่จะให้คือสิ่งที่เราให้เอง ไม่ใช่เด็กเลือกไว้ก่อนแล้ว   การติดสินบนคือการให้รางวัลแบบมีเงื่อนไข ลักษณะ คือ มีการตกลงกันไว้ก่อนแล้วว่าทำอะไรแล้วจะได้อะไร
         ***หากเป็นการดำเนินชีวิตปกติของเด็ก ไม่ควรให้รางวัล เช่น การทานข้าว การไปโรงเรียน การเข้านอน ต้องเป็นสิ่งที่เด็กทำอะไรที่พิเศษไปจากปกติจึงให้รางวัล  และรางวัลที่เป็นวัตถุจะให้ผลน้อยกว่ารางวัลทางด้านสังคม  รางวัลวัตถุเช่น ของเล่น ขนม ฯลฯ  รางวัลสังคม คือ การกอด การหอม การชม หรือจะเป็นกิจกรรมพิเศษ ๆ ก็ได้ เช่น การพาลูกไปดูหนังด้วยกัน ไปทานไอศรีมด้วยกัน ไปเที่ยวต่างจังหวัดด้วยกัน เป็นต้น  หรืออาจเป็นสิทธิพิเศษ เช่นให้ค่าขนมเพิ่ม ให้เล่นเกมส์ได้นานขึ้นกว่าปกติ ควรให้รางวัลทางสังคมควบคู่ไปด้วย  และสุดท้ายคือค่อย ๆ ลดรางวัลที่เป็นวัตถุลง เมื่อเด็กทำได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว
2.  การสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ต้องการ
-    การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็ก
-    การชี้แนะ
-     การสอนที่ละขั้นเช่น การใส่เสื้อใส่ยังไง การแปรงฟันต้องแปรงยังไง
-    การค่อย ๆ ลดความช่วยเหลือลง เมื่อเด็กเริ่มทำเองได้
-    การให้แรงเสริมกับพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เช่นการชม การให้รางวัล เป็นต้น
3.  การลดพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ
-    การเตือนให้หยุด แต่แม่ดาวไม่อยากให้ใช้คำว่า ห้าม อย่า หยุด ให้บอกสิ่งที่เขาควรทำแทน เช่น หากเขาวิ่ง เราก็บอกให้ เดินครับลูก  มีอีกอย่างที่แม่ดาวใช้เตือนให้หยุด คือ สายตาพิฆาต ส่งสายตาและเรียกชื่อ ดีโด้ เรียกเน้น ๆ หนักแน่น จริงจัง แต่ไม่ใช่การตวาด ใช้ยามจำเป็นนะคะอันนี้ แต่ก็เคยมีล่าสุดที่ใช้คำว่า หยุด  เช่น ตกลงกันว่าเล่นลูกบอลเวลาที่บอลกลิ้งไปที่ถนนให้หยุด และบอกแม่  หากเขาไม่หยุด แม่ดาวจะวิ่งไปอุ้มเลย หากไม่ทันจะตะโกนเรียก ดีโด้ หยุด  มันอันตรายต่อชีวิต จำเป็นก็ใช้ได้แหละ แต่อย่าใช้บ่อย ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
-    การปรับ ริบของ หักคะแนน เช่นตกลงกันไว้เลยว่าเล่นของเล่นแล้วให้เก็บ หากไม่เก็บเอง ให้แม่เก็บอดเล่นของเล่นเหล่านั้น 1 อาทิตย์ เป็นต้น
-    การให้รับผิดชอบการกระทำ เช่นให้ทำงานชดใช้  หรือการให้ทำซ้ำ ๆ เช่นที่คุณหมอยกตัวอย่าง ของกรณีคุณครูให้คัดไทย กี่หน้าก็ว่ากันไป  อันนี้ไม่เคยใช้นะคะ  แต่ที่ให้ทำงานชดใช้ก็พอมีบ้าง เช่น ใช้เงินเกินตัว ให้ไป 100 ซื้อของ 119 บาท ป๊าออกส่วนที่เกินให้และให้นั่งสมาธิชดใช้ นาทีละ 1 บาท จะวันละกี่นาทีก็ว่ากันไป ให้ครบ 19 บาท ที่เกิน เพิ่งทำล่าสุดเมื่อวานเลยค่ะ
-    การเพิกเฉยไม่สนใจ  การวางเฉย ไม่ดูว่า ไม่เถียงกับเด็ก  บอกเด็กสั้น ๆ เช่น ลูกร้องไห้ไปพูดไป แม่ฟังไม่รู้เรื่อง รอลูกเงียบก่อนแล้วค่อยคุยกันใหม่   พิจารณาด้วยว่าตอนที่เราวางเฉยกับลูกเนี้ย ลูกอยู่ในที่ปลอดภัยหรือเปล่า เช่น อยู่ริมถนนแล้วเราวางเฉยอันนี้ก็อันตรายเนอะ   เราต้องไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั้น แต่ต้องอยู่ในสายตาเรา  และหากเด็กสงบแล้วให้เราต้อนรับเขาพูดคุยกับเขาอย่างปกติ
***ไม่ควรวางเฉยในกรณี ลูกทำร้ายผู้อื่น  ทำร้ายตัวเองอย่างรุนแรง  ทำลายข้าวของ
มาดูวิธีการ หยุดพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสมกัน
1.  ควบคุมอารมณ์โกรธ  
การแยกเด็กออกชั่วคราว (Time-out)   ควรใช้กับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ใช้ 1 นาที/1 ปี และให้มีการซักซ้อมกับเด็กก่อนในยามที่เด็กอารมณ์ปกตินะคะ ไม่ใช้ตอนโมโหแล้ว  ควรมีการเตือนล่วงหน้า  เช่น แม่นับ 1-3 นะ ควรแยกเด็กให้อยู่ในบริเวณจำกัด แต่ไม่ควรขังลูกนะคะ  ไม่มีของเล่นหรือสิ่งเพลิดเพลินด้วย  เช่นจัดมุมให้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ตรงนี้ ระหว่างที่เด็กนั่งเราต้องไม่บ่น ไม่สอน หรือไปตำหนิเด็ก  จับตัวเด็กไว้หากเด็กไม่ยอมนั่ง เริ่มจับเวลาต่อเมื่อเด็กสงบ ไม่ให้ความสนใจในขณะนั้น เมื่อเวลาครบให้บอกเหตุผลสั้น ๆ กับเด็กว่าเพราะอะไร
***การใช้ time out เป็นการใช้หยุดพฤติกรรม ไม่ใช้เพิ่มพฤติกรรม
***แนวทางพิจารณาการใช้ Time out  กับเด็กเมื่อ ทำร้ายผู้อื่น ,คำหยาบ,ล้อเลียนว่าผุ้อื่น, ไม่ฟังคำสั่ง, พฤติกรรมอันตราย ,ทำลายข้าวของ
***ไม่ควรใช้ Time out ในกรณี เด็กหงุดหงิด ฉุนเฉียว ลืมทำการบ้าน ไม่ยอมทำการบ้าน ซุกซน บึ้งตึง หรือเฉื่อย
2.  การควบคุมอารมณ์โกรธ โมโห อาละวาด เด็กเล็ก (0-5 ขวบ) ให้กอดตัวรวบแขนไว้ และระวังเรื่องอารมณ์ของตัวผู้ปกครองด้วย หากเราทำด้วยความสงบใจเย็น ลูกก็จะสงบได้ง่ายกว่า และให้เงียบไม่ต้องพูดอะไรมากระหว่างที่เด็กเกิดอารมณ์โกรธ โมโห
หากเป็นเด็กโตเกิดอาการโมโห อาละวาด ประมาณ 5 ขวบขึ้นไป คุณหมอแนะนำว่าอันนี้ไม่ปกติควรพบจิตแพทย์ แต่แม่ดาวก็แอบค้านในใจเล็ก ๆ นะ คิดว่าลูกเราหากเรามีทักษะในเรื่องการจัดการอารมณ์ของเราและลูกได้ ก็ไม่ต้องพบแพทย์คิดเองนะคะ  คุณหมอบอกว่าจะใช้ผ้าห่อตัวแบบที่ทำกับเด็กอ่อน แต่ใช้เป็นผ้าปูที่นอนแทน
3. สื่อสารกับเด็กด้วยน้ำเสียง สงบแต่หนักแน่น   เช่น หนูควบคุมตัวเองไม่ได้ หมอต้องช่วยกอด หรือห่อตัว ให้หนูควบคุมอารมณ์ตัวเองได้   เมื่อหนูหยุดอาละวาด หมอจะปล่อย
4. ไม่ดุว่า สั่งสอน หรือทำให้เด็กเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจในขณะนั้น
5. เมื่อเด็กสงบ พูดกับเด็กก่อนปล่อยว่า หนูคุมตัวเองได้แล้ว หมอจะปล่อย  ถ้าหนูอาละวาดอีก หมอก็จะต้องกอดอีก
***ให้เรายอมรับอารมณ์นั้น ๆ ของลูก แต่ให้จำกัดพฤติกรรมนั้น เช่น แม่เข้าใจว่าลูกโกรธ แต่ลูกตีน้องแบบนี้ไม่ได้  ลูกไม่พอใจได้ โกรธได้ แต่ลูกขว้างปาของแบบนี้ไม่ได้
มาดูเรื่องสุดท้าย  การตี อันนี้แม่ดาวไม่สนับสนุน และคุณหมอผู้บรรยายก็ไม่แนะนำให้ทำเช่นกัน แต่หากใครอยากใช้อยู่ก็ไม่ขัดข้องนะคะ มาดูกัน
1.  ใช้ได้ผลในเด็กอายุ 3- 10 ปี
2.   ควรตีเด็กได้เมื่อ เป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายรุนแรงต่อตนเอง ,ผู้อื่น หรือสิ่งของเสียหาย  ,ต้องการหยุดพฤติกรรมนั้นอย่างเฉียบพลันทันที ขณะตี ผู้ปกครองต้องชัดเจนในเหตุผลของการลงโทษ และทำด้วยความสงบ ไม่ใช้อารมณ์ (ทำกันได้จริงเปล่าค่ะ)
3.  การตี ต้องตี ด้วยมือเท่านั้น  ขอย้ำอีกครั้ง ด้วยมือเท่านั้น เพราะเป็นการเรียกสติตัวเราเอง ว่าตีลูกแรงไปไหม มือของเราต้องเจ็บหากตีแรงมาก  หากใช้อุปกรณ์เสริมเช่นไม้เรียว เข็มขัด ไม้แขวนเสื้อ ฯลฯ (ที่ยกตัวอย่างมาเนี้ยแม่ดาวโดนมาหมดแล้วฮ่าๆๆ)  จะไม่ทำให้เรารู้สึกว่าแรงหรือเบามากน้อยแค่ไหน เกินไปไหม เพราะมือเราไม่รู้สึก บางทีโกรธจัดฟาดโลด จัดหนัก ก้นลูกบวม เลือดซิบกันเลยทีเดียว ขาดสติไงค่ะ
4.   ต้องบอกเหตุผลด้วยว่า เราตีเขาเพราะอะไร
5.  อธิบายก่อนตีว่า การกระทำผิดนั้น ไม่สมควรอย่างไร และทำไมต้องตี
6.  ตีเพียง 1- 5 ที ก็เพียงพอ และไม่ควรถอดเสื้อผ้าออกตอนที่ตี
7.  ตำแหน่งที่ตีได้ คือ สะโพก หรือขา นะคะ จำไว้ ๆ
8.  หลังตีแล้วควรพูดให้เด็กรู้ว่า เราจำเป็นต้องตี (อันที่จริงไม่จำเป็นสักนิด) เพื่อหยุดยั้งพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นด้วยความรักเขาแต่ไม่ใช่ไปโอ๋ลูก
9.  หลังตีเสร็จ ควรให้ลูกอยู่ตามลำพังสักครู่เพื่อทบทวนการกระทำของตน
10.     หลังจากนั้นบรรยากาศควรกลับไปเป็นปกติ ไม่ควรแสดงความโกรธต่อลูกอีก
ข้อคิดเกี่ยวกับการตี
1.  ทำได้ง่าย สะดวกใช้ อาจจะหยุดพฤติกรรมได้เร็วแต่ไม่ได้ผลระยะยาว
2.  ทำให้เด็กกลัว กังวล และก้าวร้าวมากขึ้น
3.  เด็กจะเลียนแบบการกระทำผู้ใหญ่ คือยึดการใช้ความรุนแรงแก้ไขปัญหา
4.  ไม่ช่วยสร้างพฤติกรรมใหม่ที่ดีขึ้น
5.  ทำลายสัมพันธ์ภาพที่ดีของเรากับลูก (แม่ดาวเสริมเอง)
และยังมีข้อเสียอีกมากมายนะคะ
เคล็ดลับช่วยให้เด็กทำตามคำสั่ง
1.  พูดเฉพาะสิ่งที่ต้องการให้เด็กทำ
2.  ติดตามว่าเด็กทำหรือไม่
3.  ให้เด็กรู้ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดหากไม่ทำตาม
4.  ใช้คำพูดที่ง่าย ๆ และสมวัย
5.  ให้ทางเลือกเด็กแทนการบังคับ
6.  จัดกิจกรรมที่เด็กชอบสลับคู่กับกิจกรรมที่ไม่อยากทำ เช่น ทานข้าวเสร็จแล้วเล่นนะคะ
7.  ไม่ใช่อารมณ์(บูด)ในการจัดการกับเด็ก
8.  ให้แรงเสริมกับเด็กเมื่อเด็กเชื่อฟัง ทำตามคำสั่ง
***** ทุกอย่างให้ทำภายใต้สัมพันธภาพที่ดีนะคะ***** คุณหมอเน้นมาเองเลยนะตรงนี้
จบค่ะ  สรุปแล้วก็เป็นแบบแนวทางกว้าง ๆ เนอะ  จะให้เห็นวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนก็ต้อง 101 สร้างวินัยเชิงบวกของครูใหม่ครูหม่อมใช้ประกอบ ๆ กันเนอะ ยกเว้นตีนะ อันนี้แม่ดาวไม่สนับสนุน
 
 
 
 
 
 
-     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น