วันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เสวนา “มองไปข้างหน้าร่วมแก้ไขปัญหาแจกแท็บเล็ตเด็ก ป.1” ภาค 2




        มาแล้วค่า  อันที่จริงก็คิดอยู่จะพิมพ์บทความนี้ดี ไหม  งานนี้แม่ดาวไม่ได้มีโอกาสไปด้วยตัวเอง แต่ได้รับความอนุเคราะห์จากคุณแม่แอนและแม่ยุ้ยช่วยกันเก็บเกี่ยวบันทึกภาพและเสียงส่งตรงมาให้ถึงบ้าน ด้วยความปรารถนาดีอยากแบ่งปันให้หลาย ๆ ครอบครัวได้รับข้อมูล โดยผ่านแม่ดาว ฮ่าๆๆๆ จะได้เรื่องไหมเนี้ย
        เอาค่ะ ไหน ๆ ยังไงซะ มันก็มีเรื่องดี ๆ มากมายที่สอดแทรกอยู่ ณ เวทีเสวนาครั้งนี้ ถึงจะหลงประเด็นกันจนกลายเป็นการโต้วาที และไม่ค่อยจะได้เห็นในมุมของการก้าวต่อไปข้างหน้าสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังมีอะไรดี ๆ แฝงอยู่มากมาย เอาไม่เยอะ ไม่เยิ่นเย้อมากนะคะ
        ก้าวไปข้างหน้าสรุปประเด็นจากฝ่ายรัฐบาล
1.      มีการจัดอบรมพัฒนาบุคคลากร โดยเริ่มอบรมครั้งแรกให้กับวิทยากรหลัก เรียกว่า “ขั้นเทพ” เข้มข้นจำนวน 100 คน และจากนั้นให้วิทยากรขั้นเทพดังกล่าวนี้ อบรมต่อให้กับหน่วยงานและบุคคลกรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ ๆ กันไป กระจายการอบรมไปทุกพื้นที่
2.       จะมีการพัฒนาสร้าง Social Network ให้เด็กบนแท็บเล็ตในรูปแบบที่ดึงดูดความสนใจให้น่าเรียนรู้ โดยที่มียังเนื้อหาสาระในการเรียนครบครัน
3.      ให้มีการพัฒนาระบบเครือข่าย wifi ถึงห้องเด็ก ป. 1
4.      ให้บริการเก็บ Log ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (อันนี้ไม่เข้าใจอย่างแรง อธิบายไม่ได้ พิมพ์ตามนั้น แต่ไม่มีความเข้าใจ ฮ่าๆๆ)
5.       ให้บริการตรวจสอบสิทธิการเข้าใชอินเตอร์เน็ต
6.      ในอนาคตจะมีการจัดทำ Government Cloud service for tablet  เพื่อใช้ในการควบคุมการเข้างานของเด็กในเว็บที่ไม่เหมาะสม  ตอนนี้ก็ช่วย ๆ กันสอดส่องดูแลนักเรียน และบุตรหลานของท่านเมื่อใช้งานด้วยความใกล้ชิด
7.      สร้างฐานข้อมูลพฤติกรรมของเยาวชน และฐานข้อมูลสิ่งที่เยาวชนได้เรียนรู้ เพื่อไว้เก็บข้อมูลผู้ใช้งานและติดตามพัฒนาการใช้ด้านต่าง ๆ
8.      หากเครื่องเสีย ภายในเวลา 15 วันนับจากวันเซ็นรับจากทางโรงเรียน จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้เลย แต่หากหลังจาก 15 วันไปแล้วสามารถจัดส่งให้ทางบริษัท  Advice ซึ่งมีหลายสาขากระจายอยู่ซ่อม เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เว็บ  http://www.obec.go.th  รับประกัน 2 ปี โดยนับวันที่เซ็นรับ คิดว่านะคะ   แต่หากสูญหาย ทำพังเอง อันนี้ยังไม่ชัดเจนมากนัก แต่คิดว่าทางคนที่ทำพัง หรือสูญหายคงต้องรับภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ไป ยังไง ลองติดตามถามเข้าไปในเว็บที่แจ้งนะคะ  อาจจะได้คำตอบ

        โดยภาพรวมแล้วทางฝ่ายรัฐบาลก็ยังเล็งเห็นประโยชน์มากกว่าที่จะเห็นโทษของการใช้แท็บเล็ต  โดยมองว่าหากใช้แท็บเล็ตเป็นเครื่องมือ เป็นผู้ช่วยครู จะสามารถพัฒนาศัพยภาพของทั้งครู นักเรียน ระบบการศึกษาไทยให้ก้าวไกลไปข้างหน้า ไม่ล้าหลังนะคะจะบอกให้   
        หากฟังและคิดตามก็ยังไม่เห็นภาพอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมสักเท่าไหร่  อย่างเช่น การใช้แท็บเล็ตจะสร้างให้เด็กคิดบวก ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำอย่างไร วิธีไหน เราก็แอบงงมันจะสร้างสรรค์ได้อย่างไร  คือในมุมมองความเป็นแม่  กระดาษ 1 แผ่น  สี 1 กล่อง ก็สามารถสร้างสิ่งพวกนี้ได้แล้ว ไม่ต้องลงทุนกันมากขนาดนี้ก็ได้  คาใจค่ะ  ยังมีอีกหลาย ๆ อย่างค่ะ ที่ฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ  เอาไว้ใครอยากฟังติดตามฟังกันได้นะคะ เห็นพี่โน กับคุณแป๋มบอกว่าจะมีเสียงบันทึกมาโพสต์ไว้
        ใครสนใจ รอฟังนะคะ  แต่เตือนไว้ก่อนนะคะ  ก่อนฟัง ไหว้พระ สวดมนต์ เจริญสติมาก ๆ ก่อนเน้อ  เดี๋ยวจิตตก ฮ่าๆๆๆ  

        มาที่อีกฝ่ายกันบ้าง เริ่มกันที่ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล อันนี้แม่ดาวขอให้รายละเอียดไม่ว่าจะก้าวหน้า หรือไม่นะคะ เพราะอยากให้ตระหนักเห็นกันชัด ๆ  ใครชัดแล้ว ก็จะเป็นการเตือนสติให้ระลึกรู้
-          การใช้เทคโนโลยี สำคัญคือต้องมีวินัย เกาหลีที่เขาพัฒนาไปได้ไกลเพราะเขามีวินัยกันสูงมาก  แล้วคนไทยมีแล้วหรือยังก็คิดดูกันนะคะ ไม่ต้องมุ่งไปที่เด็ก มองที่ตัวผู้ใหญ่เรา ๆ นี่แหละ  ต้นแบบยังไม่มีวินัย หรือหย่อนวินัยแล้วจะหวังอะไรกับ เด็ก จริงไหม
-          การใช้เทคโนโลยีเข้ามามากเกินไป ก็เป็นการทำลายความสัมพันธ์ทีดีต่อกันในครอบครัว ทุกวันนี้ก็แทบไม่มีเวลาจะได้เจอหน้า พูดคุยกันแล้ว หากมีพวกนี้เข้ามา ก็คิดกันเองว่า ปัญหาที่จะตามมาคืออะไร
-          เด็กผู้ชายในระบบการศึกษาระดับหัวกะทิ  หายไปไหน  ปัจจุบันที่คุณหมอเห็นมีแต่นักศึกษาหญิง เข้ามาเรียนแพทย์  มองหานักศึกษาชายน้อยลงไปจนแทบไม่เหลือ  ประเด็นคือเด็กผู้ชายติดเกมส์ เสพติดเทคโนโลยี จนสมองไม่ค่อยพัฒนาไปอยู่ตามสายการเรียนอื่น ๆ กันแทบจะหมด
-           โรค  LD หรือ Learning Disabilities เป็นกลุ่มที่มีความบกพร่องในทักษะการเรียนรู้เฉพาะด้าน ที่แสดงออกมาในรูปของปัญหาการอ่านหนังสือ การเขียนหนังสือ การสะกดคำหรือการคำนวณ ทำให้เด็กมีผลการเรียนต่ำกว่าระดับเชาว์ปัญญา ซึ่งไม่ได้เกิดจากอวัยวะพิการ ภาวะปัญญาอ่อน ปัญหาทางอารมณ์หรือการขาดโอกาสในการเรียนรู้ แต่เป็นผลโดยตรงที่มาจากสมองทำงานบกพร่องไป   ที่พบส่วนมากมักเกิดกับเด็กผู้ชาย เพราะเด็กผู้ชายเสพติดเทคโนโลยีง่ายกว่าผู้หญิง
-          ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังอยู่กับศตวรรษที่ 20  คือแพ้คัดออก  ไม่ได้พัฒนาความรู้คิดของเด็ก  คุณหมอแนะนำโรงเรียนหนึ่ง ที่สอนเรื่องการรู้คิดเด็กได้ดีมาก ๆ  คือ โรงเรียนบ้านกาญจาภิเษก ( บ้านทดแทนชั่วคราวของวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ก้าวผิดจังหวะ)  อันนี้น่าสนใจ แล้วทำไมไม่พัฒนาให้มีโรงเรียนแบบนี้เยอะ ๆ ก็ไม่รู้นะคะ  ทำไมต้องให้มีปัญหาก่อนถึงค่อยซ่อม ค่อยแก้  ไม่ป้องกันกันไปเลยเนอะ เฮ้อ...
-          จริยธรรมของสื่อไม่ชัดเจน ยังจัดการควบคุมในการเข้าไปใช้งานในแต่ละเว็บยังไม่ได้ทั่วไป
-          มีการทำงานวิจัยขึ้นมาโดยให้เด็กประเมินตัวเอง  ผลคือ เป็นที่น่าตกใจอันดับ 1 เด็กประเมินตัวเองว่า มีโอกาสในการแบ่งปันน้ำใจกันต่ำมาก  แล้วมันเกิดจากอะไร คิดว่า คำ ตอบนี้ ตอบได้กันทุกคน แต่สำคัญที่จะตระหนักรู้แล้ว จะแก้ไข ทำกันไหม แค่นั้นเนอะ
-          เด็กป.1 เป็นเด็กที่อยู่ในภาวะจุดเปลี่ยนหลายสิ่ง เช่น เปลี่ยนโรงเรียนใหม่  เปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ไม่มีการนอนกลางวัน แข่งขันกันเรียน ต้องเครียดกับการปรับตัวหลายเรื่อง  ก็คิดกันเอานะคะ ว่าเอาแท็บเล็ตเข้ามาในช่วงวัยนี้เหมาะสมไหม  นี่ขนาดยังไม่นับรวมเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการสมองตามวัยนะเนี้ย  น่ากลัวชะมัด
-          ชอบที่สุดกับประโยค  “สร้างภาพ  แต่คุณภาพไม่เกิด”  เจ็บและโดน
-          สมองจะมีการทำงานอย่างหนึ่งคือ เมื่อสมองรก ๆ มีข้อมุลเยอะ ๆ เกินไป มีหลายสิ่งที่จำไว้ ๆ  แต่ไม่ค่อยใช้ พอถึงวัยประมาณป.1-ป.2 ปฐมวัย เนี้ยค่ ะ  สมองจะทำงานจัดการล้างข้อมูล จัดระบบ  จัดเรียงข้อมูล อะไรใช้บ่อย ๆ คิดบ่อย ๆจะคงไว้ อะไรไม่ค่อยใช้ ถึงดี แต่ไม่ค่อยใช้ จะจำทำไม ล้างมันทิ้งซะเลย   เรียกว่า big cleaning อีกช่วงคือวัยรุ่นตอนกลาง
-          Twenty first century ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21  เราควรเตรียมความพร้อมเด็กดังนี้คือ
1.      ทักษะเทคโนโลยี  ส่วนวิธีอย่างไร ยังไง ต้องคิดกัน
2.        ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ
3.        กระบวนการเรียนรู้เท่าทัน  การเรียนแบบศตวรรษที่ 21 ต้อง ครูควรสอนให้น้อยลง ให้เด็กเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ เปลี่ยนครูจากผู้อบรมสั่งสอน เป็น ผู้อำนวยการสอนแทน  
4.        ต้องมีจิตสำนึกต่อโลก
การมองไปข้างหน้าของคุณหมอบ้าง
1.        ผู้ใหญ่ต้องสอนทักษะชีวิตอย่างเต็มที่กับเด็ก
2.        ผู้ใหญ่ต้องมีจิตสำนึกที่ดี  เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้เทคโนโลยีสำคัญมาก
3.        สอนให้รู้ธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ธรรมะที่ใช้กับวิถีชีวิต
4.        ต้องมีหลักสูตรมีกระบวนการให้เข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ของตัวเอง และนำมาแลกเปลี่ยนกัน พัฒนาไปด้วยกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน    อันนี้ไม่รู้ใครสมัยเด็กๆ  เคยเรียนไหม ชื่อวิชา “ท้องถิ่นของเรา  ปัจจุบันถามใครก็ไม่รู้จัก ไม่รู้มีใครเคยเรียนวิชานี้มาบ้างค่ะ
5.        สอนให้รู้เท่าทันสื่อ
        มาอีกท่านคุณวันชัย บุญประชา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว แนะนำให้ทดลองใช้ไปก่อน คือให้ทดลองไปสักระยะ แล้ววัดผลทำการประเมินผลถึงผลดี ผลเสียของการใช้แทบเล็ต โดยนำเสนอให้ประเมินด้านต่าง ๆ ดังนี้
-          ประเมินเด็ก
-          ประเมินครอบครัว
-          ประเมินครู
-          ประเมินชุมชน
-          ประเมินด้านความคุ้มค่าของการลงทุนการศึกษาของรัฐบาลในเรื่องนี้
-          ประเมินในความเป็นวัฒนธรรมไทย
        ท่านสุดท้าย ขวัญใจของแม่ดาว พี่ปอง คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีบ กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก  ชัดเจน ตรงใจ ไม่มีเม้ม   พี่ปองปล่อยมุข เรียกแท็บเล็ต ว่า “แทบเล็ด หมายถึงน้ำตาแทบเล็ด เอ้าฮาไป 1 ดอก ตลกร้ายตลอดรายนี้  มาดูการมองไปข้างหน้าในมุมมองของพี่ปอง
-          เตรียมความพร้อมเนื้อหาที่จะนำมาใช้ (ป้อนและป้อง)  ณ ตอนนี้หากเนื้อหาดี ๆ ยังไม่มีเท่าไหร่  เนื้อหาไม่ดีมีมากมายเด็กพร้อมที่จะรับได้ตลอด แล้ววิธีป้องกันต้องฝากไปคิดเป็นการบ้านไว้ อย่างไร เมื่อใด เนอะ
-          เตรียมความพร้อมของเด็ก เหมือนอย่างที่คุณหมอกล่าวไว้ ต้องเตรียมเรื่องวินัย ทักษะชีวิต
-          เตรียมครู  แค่นำเสนอ ส่วนวิธีการนั้นทางรัฐบาลต้องเป็นคนจัดการค่ะ
-          เตรียมความพร้อมของผู้ปกครอง  ในชุมชนห่างไกลความเจริญ หลายแห่งคนเลี้ยงดูเด็กไม่ได้มีความรู้อะไรมากนัก การใช้เทคโนโลยีเข้ามาจะยิ่งทำให้ เด็กยิ่งดูแคลนผู้เลี้ยงดู ด้านความสัมพันธ์กันในครอบครัวจะเกิดอะไร นึกภาพตามกันเองนะคะ
หากไม่มีการเตรียมความพร้อมอะไร ให้พร้อมทุก ๆ ด้าน แล้วนั้น ใช้ไป ไม่เกิน 10 ปี พี่ปอง คาดการณ์ถึงความวิบัติที่ต้องเกิดขึ้น
1.        เด็กขาดวินัย รวนวินัย วินัยหย่อน  อันที่จริงปัจจุบันก็เห็นกันชัดนะคะเรื่องนี้
2.        นิสัย  เมื่อก่อนต้นแบบคือพ่อแม่  แต่หากใช้แทบเล็ด ต้นแบบอยู่ที่ปลายนิ้ว อยากได้ใครค่ะ  นักเรียนตบกัน เกาหลีศัลยกรรมเกลื่อนเมือง  หรือน้องจ๊ะคันหูดีน้อ  เด็ก ๆ เลือกได้แค่ปลายนิ้ว  สยองอีกแล้ว
3.        การครองตน
4.        ความคิด
5.        ภาษา
***พี่ปอง ได้ฝากข้อคิดดี ๆ เรื่องการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แม่ดาวด้วยอีกเสียงค่ะ  การอ่านหนังสือนั้นมีข้อดีมากมาย  พัฒนาการที่ดีด้านภาษา  พัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ และปัญญาทั้งหลาย  รวมไปถึงความสัมพันธ์ทีดีในครอบครัว   คุณเลือกได้นะคะว่าจะให้แทบเล็ดอ่านนิทานก่อนนอนให้ลูกฟัง แล้วคุณไม่ต้องเหนื่อยทำอะไรอีก หลับสบายใจ  หรือจะเลือกยอมเหนื่อยกันสักนิดอ่านหนังสือนิทานดี ๆ หรือหนังสือดี ๆ ให้ลูกฟังบ้าง อย่างน้อย ๆ อ่านวันละ 2-3 เล่มก็ยังดีเนอะ  พี่ปองพูดถึงการทำวิจัยในการสังเกตุพัฒนาการเด็กที่เป็นออทิสติก ดาวซินโดรม พัฒนาการสมองและอารมณ์ของเด็กเหล่านี้ยังพุ่งขึ้นพัฒนายังเห็นได้ชัด  แล้วลูกเราล่ะค่ะ เขามีสมองปกติ คุณจะทำร้ายลูกลงคอไหม ผลักเขาให้ไปเป็นเด็กมีพัฒนาการทางสมองผิดปกติ เช่นโรคสมาธิสั้น   หรือ LD   คิดดูเองค่ะ  เราเลือกเองได้ ชีวิตลูกอยู่ในกำมือคุณ
        สุดท้ายนี้ฝากทิ้งไว้กับคำพูดพี่ปอง  รักอย่างเดียวไม่รอด ต้องรู้เท่าทันด้วย  จำคำพี่ปองไว้นะคะ ใครขี้ลืมแนะนำจดใส่กระดาษแล้วแปะฝาบ้านเลยค่า เอาตัวใหญ่ ๆ โต ๆ เลยนะ จะได้มี สติ เตือนตัวเอง   การเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่ใช้ความรักนำทางแล้วจะไปถึงจุดหมาย  ต้องรู้ และไม่หลงนะคะ 
        แม่ดาวฟังแล้วก็ยังคิดว่าตัวเองไม่หลงทางนะคะ “เลี้ยงลูกให้ถูกธรรม นั้นคงไม่หลงทางแน่ ๆ