วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนะนำ 10 วิธี สร้างวินัยเชิงบวก


10 วิธีการนี้ เป็นการประมวลผลจากสมองของแม่ดาวเองโดยนำมาจากความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามา  และสรุปจาการความชอบเป็นการส่วนตัวของแม่ดาวเอง  เป็นวิธีการที่ใช้ประจำ ใช้บ่อย ใช้ตลอด ๆ เรียกว่าขาดไม่ได้  วิธีส่วนใหญ่ก็นำมากจาก 101 สร้างวินัยเชิงบวกของ ดร.แคทธารีน เคอร์ซี่ย์ ที่ครูใหม่และครูหม่อมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้นี้มาให้แม่ดาวอีกต่อนึง  ต้องขอบคุณ ครูใหม่และครูหม่อมมาก ๆ นะคะ ที่นำความรู้ดี ๆ แบบนี้เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยของเรา

1.  เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก  หากใครอ่านหนังสือจิตวิทยาเลี้ยงลูกทั่ว ๆ ไป ก็จะพบข้อนี้เสมอ ๆ  ข้อนี้จะว่าทำง่าย ก็ง่ายนะสำหรับบางคนที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว  สำหรับแม่ดาวเองแล้วข้อนี้ยากที่สุด หินที่สุด  ด้วยตัวเองไม่ค่อยจะมีอะไรที่ดี ที่จะเป็นต้นแบบให้ลูกทำตามได้ ต้องเรียกได้ว่าสร้างกันใหม่แทบจะทั้งหมด  เหนื่อยและท้อหลายครั้งกับการที่จะต้องเปลี่ยนตัวเอง เรียกว่าเปลี่ยนไปจนแทบไม่เหลือตัวตนของเราในสมัยก่อน ทำได้จริงจังตอนเริ่มปฏิบัติธรรมะเมื่อไม่นานประมาณปีกว่าได้ ผลเพิ่งเริ่มเห็นชัด ๆ ว่าดีขึ้นก็เมื่อไม่กี่เดือนมานี่แหละ
แต่วิธีการเป็นแบบที่ดีให้ลูก อันนี้แม่ดาวว่าสำคัญกว่าข้ออื่น ๆ นะ ถ้าพ่อแม่ดีอยู่แล้ว ก็คงไม่ยากที่ลูกจะดีได้ง่าย  ลูกก็จะซึมซับแต่สิ่งดี ๆ จากเราไป แต่หากเราเป็นต้นแบบที่ไม่ดี ก็ไม่น่าแปลกใจว่าลูกของเราก็จะเป็นเหมือนเราเป็น ในร่างกายมนุษย์จะมีเซลล์กระจกเงา ทำหน้าที่ในการเรียนรู้จากการเลียนแบบ ซึ่งเด็ก ๆ จะเรียนรู้จากการเรียนแบบมากที่สุด

อยากรู้ว่าลูกเราเป็นอย่างไรให้เอากระจกมาส่องดูที่ตัวเราลูกคือกระจกเงาที่สะท้อนตัวของเรา

ประโยคนี้คงเคยได้ยิน ได้อ่านกันบ่อย ๆ  แล้วคุณล่ะ อยากให้ลูกเป็นคนแบบไหน  หากได้คำตอบแล้วลองกลับมาดูที่ตัวเราซิคะ ว่าตอนนี้คุณมี คุณสมบัติดี ๆ ที่คุณต้องการอยากให้ลูกคุณมีหรือยัง  แล้วถ้ายังคุณจะรออะไร รีบลุกขึ้นและแก้ไขเปลี่ยนตัวเองกันไหม อะไรที่ไม่ดีก็ทิ้งไป ส่วนดี ๆ เหลือเอาไว้ให้ลูกได้เรียนรู้และปฏิบัติตาม

             2.   พูดแล้วไม่คืนคำ   หากเราพูดอะไรแล้ว เราต้องรักษาคำพูด  ยึดมั่นในคำพูด และไม่ใจอ่อนยอมเปลี่ยนใจเมื่อเราเกิดความเห็นใจหรือสงสารลูก  ข้อนี้อยู่ใน 101 เช่นกัน เรีกว่า หลักการใจดีแต่เด็ดขาด ซึ่งเมื่อก่อนแม่ดาวจะเรียกว่า ใจดี แต่ไม่ใจอ่อน ข้อนี้เป็นหัวใจของการสร้างวินัยเชิงบวกเลยทีเดียว หากเราทำข้อนี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะใช้วิธีการการไหน ๆ  ก็อาจล้มเหลวไม่ประสบผลสำเร็จ

อยากให้ทุก ๆ ท่าน จำและปฎิบัติข้อนี้ให้ได้  และเช่นกันหากลูกพูดอะไรออกมาแล้ว เราก็ต้องยืนยันที่จะให้ลูกของเรารักษาคำพูดของเขาด้วยเช่นกันนะคะ  บอกให้ลูกได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญ ของคำพูด แม่ดาวบอกลูกเสมอว่า ก่อนจะพูดอะไรคิดให้ดี ๆ เพราะ คำพูดของเราจะเป็นนายของเรา และบอกผลของการที่ไม่รักษาคำพูดเป็นยังไง  หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจากการที่เขาไม่สามารถรักษาคำพูดได้ ให้ยกตัวอย่างความผลร้ายที่เกิดขึ้นให้เขาเห็น เป็นประสบการณ์ตรงที่เขาจะได้รับและรู้สึกได้ด้วยตัวเขาเอง

ข้อนี้สำหรับตัวแม่ดาวแล้วในช่วงแรก ๆ เป็นอะไรที่ปฏิบัติได้ยากมากๆๆๆ แต่สำหรับสามีข้อนี้หมู ๆ ทำได้แบบไม่ลำบากใจเลย  หึๆ   เขาไม่ได้เป็นคนใจร้ายนะคะ แต่เขาเป็นพวกเคร่งครัดกับระเบียบวินัยจัด ๆ ว่าสูงเชียวแหละ


3.  ให้ทางเลือกเชิงบวก  คือ ให้ทางเลือกในการปฏิบัติกับลูก ที่เราสามารถรับได้ทั้ง 2 ทางและให้ลูกเลือกที่จะปฏิบัติว่าจะเลือกข้อไหน  ข้อนี้ก็นำมาจาก 101   เช่น

ดีโด้จะให้ป๊า หรือให้แม่ช่วยสอนอ่านหนังสือให้ครับ    ทางเลือกคือ ป๊า  หรือ แม่   ไม่ว่าน้องดีโด้จะเลือกทางไหน ก็ต้องอ่านหนังสืออยู่ดี
ดีโด้ครับอีก 5 หรือ 10 นาที ลูกจะไปอาบน้ำครับ   ทางเลือกคือ 5 หรือ 10 นาที  ไม่ว่าจะเลือก 5 หรือ 10 นาที ผลก็คือน้องดีโด้ก็ต้องไปอาบน้ำ
ข้อนี้ต้องใช้ร่วมกับข้อ 2 ด้วย คือหากถ้าลูกเลือกแล้วไม่ยอมทำตาม งอแง โวยวายขนาดไหนยังไงก็ต้องทำ อาจดูเหมือนทำร้ายจิตใจกัน ในช่วงแรก ๆ ที่ปฏิบัติ แต่สัก 2- 3 ครั้งก็จะไม่มีปัญหาแล้วนะสำหรับน้องดีโด้   แม่ดาวเองทำแรก ๆ น้ำตาแทบร่วงสงสารลูกจับใจ แต่ก็จำใจต้องทำ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราต้องไม่โวยวายอาละวาดตามลูก ต้องรักษาความปกติของใจไว้ให้ได้ ควบคุมอารมณ์ตัวเองให้ดี พูดอย่างเข้าใจและเห็นใจลูกด้วย 

เช่น แม่รู้ว่าดีโด้เสียใจมาก และแม่เองก็ไม่อยากทำแบบนี้นะลูก แต่นี้คือสิ่งที่ดีโด้เลือกเอง ดีโด้พูดแล้วต้องรักษาคำพูดนะครับ แม่รักและหวังดีอยากช่วยให้ดีโด้เป็นคนที่รักษาคำพูดนะครับ  แต่ขอบอกนะคะว่าเวลาที่เขากำลังอาละวาด อย่าไปพูดอะไรกับเขามาก เขาไม่รับฟังเราหรอกค่ะ เอาแค่ว่า  ครับ ๆ แม่เข้าใจนะลูก ว่าลูกเสียใจ แม่ทำเพราะแม่รักลูกนะ ประมาณนี้ แล้วเอาไว้ให้เขาสงบลงก่อนค่อยพูดอะไรเยอะ ๆ  หรือไม่ก็เบี่ยงเบนความสนใจไปเลย

แล้วถ้าลูกไม่ยอมเลือกล่ะเคยมีไหม แล้วทำยังไง  มีค่ะ   น้องดีโด้พอใช้วิธีบ่อย ๆ หลัง ๆ เริ่มพัฒนา ไม่ยอมที่จะเลือก แต่เราก็มีวิธีค่ะ ครูสอนมาคือ ให้ถามคำถามดังนี้กับลูก ดีโด้จะเป็นคนเลือกเอง หรือจะให้แม่เลือกให้ครับ  โดยปกติตามหลักจิตวิทยาแล้วนั้นพอได้ยินประโยคนี้เด็กจะรีบเลือกทันที เพราะเด็ก ๆ เขาไม่ชอบที่จะให้ใครมาบังคับ หรือฟังคำสั่งจากใครอยู่แล้ว อยากจะเป็นผู้เลือกชีวิตของตัวเอง  หากไม่เลือกอีกถามต่อค่ะ หากให้แม่เลือก แม่จะเลือก 5 นาทีนะครับเร็วดี ไม่เลือก 10 นาทีหรอกมันนานเกินไปสำหรับแม่ ออกแนวแหย่ ๆ ลูกนะคะ  

ขอย้ำว่าเราต้องพูดอย่างใจดี ใจเย็น มุขนิด ๆ อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าเขากำลังถูกบังคับให้เลือก อันนี้ต้องใช้จิตวิทยาร่วมด้วย น้องดีโด้มักจะต้องมาถามมาถึงคำถามสุดท้ายอยู่บ่อย ๆ   แต่ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยแล้วนะคะ เขาจะเป็นระบบอัตโนมัติไปแล้ว พอเลือกแล้วเขาก็จะทำเลยแทบจะไม่ต้องเตือนเลย

3.  การตั้งเวลา  ข้อนี้แม่ดาวมักใช้คู่กับการให้ทางเลือกเชิงบวก และขาดไม่ได้คือยึดมั่นคำพูด คือพอลูกเลือกแล้วว่ากี่นาที แม่ดาวก็จะใช้ตัวจับเวลาตั้งเวลาเตือนเป็นเสียงให้ลูกได้ยิน   อาจใช้เป็นมือถือตั้งเวลา หรือ ใช้ชี้เข็มนาฬิกาให้ลูกดู   หากเลือกการใช้เสียงเตือนก็จะได้ผลชัดกว่า คือเขาได้ยินเสียงเลย แม่ดาวมักจะให้ลูกเลือกเสียงเตือนไว้เอง เช่นเสียงเพลงโดราเอมอน พอเสียงเพลงที่เขาชอบดัง เขาก็จะอารมณ์ดีด้วย เพราะเพลงที่ตัวเองเลือกด้วย จะทำตามง่ายขึ้น

แม่ดาวเคยลงทุนซื้อนาฬิกาปลุกแบบที่เขาชอบ ให้ลูกเลือกเองเลยให้ 800 บาทได้นะ แพงมากสำหรับแม่ดาวแต่ก็ยอมลงทุน และก็ไม่แนะนำให้ทำตามนะคะ แม่ดาวว่ามันสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ  ปรากฎว่าแรก ๆ ก็ชอบนะ นาน ๆ ไป เริ่มไม่พอใจบ่นอยากจะเอาไปทิ้ง ประมาณว่า เกลียดนักเจ้านี่ ชอบมาสั่งบังคับเรา อิอิ   วิธีนี้แรกก็เห็นผลได้ดีมาก ใช้ต่อ ๆ ไปเริ่มมีปัญหา เริ่มเบี้ยว    เราก็แสดงความเข้าใจเข้าไป การใช้ตัวตั้งเวลานี่ดีนะคะ   ทำให้เราไม่ใช่ผู้บงการบังคับสั่งการเขา ไม่ใช่เรา แต่เป็นพี่นาฬิกา หากเวลาลูกเกิดปฏิกิริยาต่อต้านโวยวายใส่เรา เช่น

ดีโด้    ดีโด้ไม่ทำแล้ว แม่ชอบบังคับดีโด้ให้ทำ ไม่ทำแล้ว งอน กระฟัดกระเฟียด ไม่อยากเลิกเล่นตามเวลา
แม่      ดีโด้ครับ แม่เข้าใจนะว่าลูกกำลังเล่นสนุกมาก แต่แม่ไม่ได้บอก หรือบังคับลูกเลยนะ พี่นาฬิกาต่างหากที่บอกหนู
หึ ๆ โบ้ยความผิดกันเห็น ๆ ได้ผล
ดีโด้   ดีโด้จะเอานาฬิกาทั้งบ้านไปทิ้งให้หมด
พูดแบบนี้ก็จริง แต่เขาก็ทำนะ อาจจะทำแบบงอน ๆ แต่ก็ทำ อย่างที่บอกค่ะ เรายึดมั่นและทำต่อไป

สำหรับวิธีปฏิบัติในข้อนี้ แม่ดาวมักจะใช้สลับ ๆ กัน เช่นใช้ตั้งเวลาจากมือถือบ้าง  จากตัวตั้งเวลาที่ซื้อมาจากไดโซะบ้าง (ทั้งร้าน 60 บาท)  จากนาฬิกาปลุกพี่บัซไลน์เยียร์บ้าง  หรือจากพี่ใหญ่นาฬิกาประจำบ้านที่เป็นแบบระบบเข็มนาฬิกา ทั้งนี้เพื่อเป็นกระจายความเกลียดพี่นาฬิกาไปให้ทั่ว ๆ ฮ่าๆๆ และยังเป็นการสอนให้ลูกดูนาฬิกาไปในตัวด้วย ให้เขารู้จักการทำงานของเข็มนาฬิกาแต่ละเข็ม ฝึกการดูเวลาแบบเข็มนาฬิกา ได้ประโยชน์หลายอย่างเลยนะเนี้ย
ปัจจุบันดีโด้แทบไม่มีอาการดังกล่าว เพราะเขาเริ่มที่จะมีความรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น

4.  อะไรก่อนอะไรหลัง นี่ก็เป็นอีกวิธีที่แม่ดาวเอามาจาก 101  เป็นการถามลูกเพื่อให้ลูกจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ ว่าอะไรทำก่อน และอะไรที่จะทำต่อไปโดยที่เราช่วยสร้างข้อเสนอให้ลูก  เช่น   ลูกจะอาบน้ำก่อนหรือแปรงฟันก่อนครับ  ให้ลูกตัดสินใจเลือกทำด้วยตัวเอง
แตกต่างกับการสร้างเงื่อนไขนะคะ ลูกจะรู้สึกต่างกันมาก เช่น หากลูกไม่อาบน้ำตอนนี้ลูกจะไม่ได้ฟังนิทานก่อนนอนคืนนี้  การสร้างเงื่อนไขแบบนี้ เป็นการขู่ให้เด็กกลัวและปฏิบัติตาม ไม่ควรใช้ค่ะ  เมื่อก่อนแม่ดาวเองก็พลาดใช้เหมือนกัน แต่มีแอบประยุกต์ใช้อยู่นะอิอิ

5.  การแสดงความเข้าใจลูก เป็นการพูดเพื่อทำให้ลูกรู้สึกว่าเรายอมรับความรู้สึกของเขา  เช่น  หากลูกหกล้ม ส่วนใหญ่จะได้ยินคนทั่ว ๆ ไป พูดว่ายังไงค่ะ   โอ๋ๆๆ ไม่เจ็บนะครับ ไม่เจ็บ ไม่เป็นไรนะ   อันนี้แม่ดาวเองเมื่อก่อนก็พูดนะ แล้วสังเกตุไหมยิ่งเราพูดประโยคพวกนี้เด็กจะร้องไห้หนักขึ้น เพราะเราไปปฏิเสธความรู้สึกของลูก  ก็ลูกเจ็บ เราดันไปบอกว่าไม่เจ็บ รู้นะคะว่านี่คือคำพูดที่เราตั้งใจจะใช้พูดปลอบใจ แต่ผลที่ได้มันไม่ใช่ได้ความรู้ที่ดีเลย  พูดแล้วยิ่งแย่ ลูกนะรู้สึกว่าแม่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับความรู้สึกเรา แต่หากเด็กเล็ก ๆ มาก
อาจจะงงและสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่า อ้าวแล้วไอ้ที่หัวเข่าถลอกเลือดไหล แสบ ๆ แบบนี้ มันจะเรียกว่าอะไร  เพราะแม่บอกว่ามันไม่เจ็บ ไม่เจ็บ    พอแม่ดาวรู้แล้วไม่พูดแล้ว เปลี่ยนคำพูดใหม่เป็น เจ็บมากเลยใช่ไหมลูก  ดูซิหัวเขาถลอกเลือดออกเลย เดี๋ยวเราไปทำแผลกันเนอะ   แม่ดาวใช้วิธีการแสดงความเข้าใจร่วมกับวิธีอื่น ๆ เสมอ ๆ เพราะมันเสริมพลังบวกให้ทวีคูณ อะไร ๆ ก็ง่ายขึ้นหากใช้วิธีนี้ร่วมไปด้วย  อย่าลืมนะคะ ใช้กันบ่อย ๆ ล่ะ

6.  การร้องเพลง  ข้อนี้สำหรับแม่ดาวง่ายมาก อิอิ แม่ดาวชอบร้องเพลงมาก ๆ อยู่แล้ว เป็นอะไรที่ไม่ฝืนธรรรมชาติของแม่ดาวเลย ข้อนี้ไม่ต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมอะไรมาก ทำมาตั้งแต่แรกเลยฮ่าๆๆ   เด็ก ๆ มักจะชอบเสียงเพลง เพราะเด็ก ๆ ชอบความบันเทิงสนุกสนาน  แม่ดาวร้องเพลงกล่อมลูกมาตั้งแต่ลูกอยู่ในท้องแล้ว พอคลอดออกมาก็ร้องให้ลูกฟังมาเรื่อย ๆ แต่ร้องยังไงที่จะเป็นการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูก สงสัยกันหรือเปล่าค่ะ
หากเวลาที่ลูกคุณมีอาการงอน หรือไม่พอใจ งอแง ฯลฯ  ต้องประเมินสถานการณ์ก่อนนะคะว่าลูกคุณจะชอบเสียงร้องกระชากพฤติกรรมของคุณหรือไม่   แม่ดาวเคยใช้การร้องเพลงกับเด็กคนอื่น ๆ ที่แม่ดาวไม่รู้จักหลายครั้ง ทดสอบลองวิชาตอนได้เรียนรู้หลักการมาใหม่ ๆ ผลคือแม่ดาวไม่เคยพลาด สักครั้ง แต่มันแค่เปลี่ยนพฤติกรรมชั่วคราวไม่นานนะคะ แค่พอเปลี่ยนอารมณ์ของเขาให้หันมารับฟังในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไป  

หรือเด็กบางคนอาจจะสงบได้เลยหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะเท่าที่ลองกับเด็กคนอื่น เขาก็จะหยุดร้องไห้ เราก็ชวนคุย ใช้วิธีการพูดเพื่อแสดงความเข้าใจเขาไป ฯลฯ เขาก็จะหยุดนะคะ แต่พอเราห่างเขาออกไป เขาก็มองตามและร้องไห้ต่ออยู่ดี
สำหรับน้องดีโด้ การร้องเพลงก็ได้ผลแทบจะทุกครั้ง  มีบางครั้งเหมือนกันที่หน้าแตกหมอไม่รับเย็บ แต่ก็น้อยนะคะ  หากถามว่าเพลงไหน ยังไง แนวไหน ถ้าเสียงไม่ดีล่ะ ร้องได้ไหม  ทำได้หมดค่ะ  หัวใจสำคัญของการร้องเพลงในแบบแม่ดาว ๆ  คือ ร้องแบบเอาขำไม่เอาเพราะ  เนื้อร้องก็แต่งเองบ้างอาศัยทำนองเพลงเดิม บางทีก็ใช้เนื้อร้องเดิม ทำนองก็รีมิกซ์เอง เช่น เพลงของแอม เสียงร้องเป็นอัสนีวัสสัน เอาขำเข้าไว้ ตลกไว้ก่อน  ลูกชอบนะ ชอบมาก ร้อง ๆ อยู่ หัวเราะซะงั้น  ร้อง ๆ ไป จนกว่าเราจะมั่นใจว่าเขารู้สึกดีขึ้นมาก ต่อจากนั้นก็ค่อยสื่อสารในสิ่งที่เราต้องการอีกที  บางทีก็สื่อสารผ่านเสียงเพลงไปเลย  บอกแล้ววิธีเนี้ยหมูมาก สำหรับแม่ดาว อิอิ

7.  การชมเชยลูกในพฤติกรรมที่เหมาะสม  หากเราเห็นลูกทำอะไรที่ดี ที่เหมาะสมให้เราชมลูกทุกครั้ง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ให้ชมระบุให้ชัดเจนถึงพฤติกรรมที่ดีนั้น  ไม่ใช่ชมเลื่อนลอย  ทั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้พฤติกรรมที่ดีนั้นเกิดขึ้นต่อไป และการชมยังช่วยแก้ไขอะไร ๆ ได้หลายอย่าง แต่บางที่การชมของเราก็ทำร้ายลูกได้เช่นกัน เอาไว้แม่ดาวจะขยายความต่อไปในหัวข้อนี้โดยเฉพาะ

8.  การวางเฉย แต่ไม่ใช่เมินเฉย   คุณเคยสังเกตุตัวเองไหมค่ะ ว่าบางครั้งเรื่องที่เราทะเลากับลูกเนี้ย มันเป็นเรื่องเล็กนิดเดียว ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ไม่ใช่พฤติกรรมที่ลูกเราทำผิดแต่อย่างใด เพียงแต่พฤติกรรมนั้นมันดันมาขัดใจเราก็เท่านั้นเอง  หึ ๆ  เคยรู้ตัวกันไหมนะ  มาดูกัน  เช่น   อากาศหนาวลูกไม่ยอมใส่เสื้อแขนยาว ใส่เสื้อกันหนาวตามที่เราต้องการ ก็พาลทะเลาะกับลูกจะเป็นจะตาย  เราโวยวาย บังคับให้ลูกต้องใส่ เพราะเราเป็นห่วงอากาศมันหนาวกลัวลูกจะเป็นหวัด  อันนี้แม่ดาวเคยเป็นเลย ทะเลาะกันตั้งนานเราก็โมโห ลูกก็ร้องไห้โวยวายไม่ยอมใส่  ลองมองอีกมุม  อากาศหนาว ใครตัดสินว่ามันหนาว ตัวเราใช่ไหมค่ะ  แล้วลูกล่ะ ทำไมเขาไม่ยอมใส่ ก็เขาไม่รู้สึกว่าหนาวเหมือนที่เรารู้สึกไง เขาถึงไม่ยอม หรือบางทีก็อาจจะต่อต้านก็ได้นะบางกรณี  แล้วที่นี่ควรทำไง  

หากเกิดเหตุการณ์ประมาณนี้  สำหรับแม่ดาวตามใจลูกเลยค่ะ แต่จะบอกลูกว่า ค่ะ  แม่เข้าใจแล้วว่าลูกไม่หนาวเนอะ แค่แม่เป็นห่วงกลัวลูกจะเป็นหวัด  แต่หากลูกรู้สึกว่าหนาวเมื่อไหร่ ก็มาหยิบเสื้อไปใส่เองเลยนะครับ เสื้อจะแขวนอยู่ตรงนี้   จบไหม  จบนะ
หลาย ๆ เรื่องที่เราทะเลาะกับลูก อยากให้คุณลองทบทวนเรื่องราวอีกครั้ง อย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างตัวเอง คุณจะเห็นเลยว่าหลาย ๆ เรื่องก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรเลย   มีครั้งหนึ่งแม่ดาวไปที่หอจดหมายเหตุท่านพุทธทาสที่สวนรถไฟ ได้เจอกับคุณพี่คนนึง เขาก็พูดคุยเรื่องการเลี้ยงลูกกับเรา  เราบอกว่าเรามีปัญหาในการเลี้ยงลูกมาก  เขายิ้ม ๆ และบอกเราว่า แปลกนะ พี่ไม่เคยรู้สึกว่าลูกพี่มีปัญหา หรือเลี้ยงยากเลย นั้นคงเพราะพี่ไม่ได้มองว่าเขาเป็นเด็กมีปัญหามั้ง  โอ้..........ตาสว่างเลย  แค่คำพูดไม่กี่คำทำชีวิตเปลี่ยนเลย กลับมามองตัวเองใหม่ มองลูกใหม่ จริงแฮะ หลาย ๆ เรื่องมันก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรจริง ๆ ก็แค่มันขัดใจแม่ก็แค่นั้น

9.  การมอบหมายหน้าที่ให้ลูกรับผิดชอบ    ก่อนหน้าที่ในข้อนี้ แม่ดาวก็ยังไม่ได้ปฏิบัติอะไรจริงจัง แต่พอได้มาอ่านจากบทความหนึ่งของท่าน ว. วชิรเมธี เรื่องเกี่ยวกับ พ่อแม่สอนให้ลูกขี้เกียจแล้ว ร้อนตัวขึ้นมาในบัดดล  อดรนทนไม่ได้ ต้องเปลี่ยนตัวเองและลูกเสียใหม่  มีหลาย ๆ เรื่องที่เรายังต้องรีบแก้ไข เช่น เราเลี้ยงเขาสบายเกินไป  มานึกถึงข้อนี้
เมื่อก่อนเขามีหน้าที่หลัก ๆ แค่การรับผิดชอบดูแลเรื่องตัวเองเช่น แต่งตัวเอง ทานข้าวเอง   เรื่องการเรียน ฯ  เสาร์-อาทิตย์ก็อนุญาติให้ตื่นสายได้ เพราะสงสารเห็นว่าเหนื่อยมาตั้งแต่จันทร์-ศุกร์  จากที่อ่านบทความนี้และบวกกับเขาอายุครบ 5 ขวบเต็ม ก็เลยคิดว่าเราน่าจะต้องมีอะไรที่ต้องให้รับผิดชอบมากกว่าเดิม  และเป็นสิ่งที่เราเห็นว่าเขาสามารถทำได้ด้วย
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมา  คือ ปัจจุบัน น้องดีโด้มีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้าน 1 อย่างคือ กรอกน้ำ  แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นถูบ้านแล้วค่ะ เขาบอกกับเราว่า  แม่บังคับให้หนูทำ ดีโด้ไม่อยากทำ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ดีโด้เลือกเอง นั่นไง ดีโด้เจ้าปัญญาออกฤทธิ์หลังจากทำสำเร็จไปแล้ว 1 ครั้งอย่างตั้งใจมากด้วยนะ  มาเบี้ยวเอาครั้งที่ 2 ด้วยประโยคแบบฉลาดพูดมาก  แม่ดาวก็เลยได้เลยเล่นกับแม่มุขนี้
แม่   อืม....จริงเนอะ แม่บังคับให้ลูกทำจริง ๆ เป็นสิ่งที่ลูกไม่ได้เลือกเลย  แม่ขอโทษนะครับ  งั้นแม่ให้ดีโด้เลือกระหว่าง กรอกน้ำ กับถูบ้าน
ดีโด้ ดีโด้ชอบถูบ้าน
แม่   ได้ครับ ถูบ้านเนี้ย ถู วันเว้นวันนะ และทำทั้งหมดไม่มีเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง  แต่หากกรอกน้ำไม่ต้องกรอกบ่อยมาก น้ำหมดเมื่อไหร่ก็กรอกน้ำ แม่ว่ากรอกน้ำเหนื่อยน้อยกว่ามากนะ แม่ถึงตัดสินใจเลือกให้
ดีโด้  ดีโด้จะถูบ้าน ดีโด้ชอบมากกว่า
เราทำข้อตกลงกันว่าต้องทำหน้าที่นี้จนกว่าจะครบ 1 เดือน หากป่วยเป็นไข้ไม่สบายให้หยุดได้ ดีโด้ก็รับปากดิบดี  และดีโด้เลือกเวลาที่จะถูบ้านคือหลังจากกลับมาจากโรงเรียนในตอนเย็น  ทำไปได้ 2 ครั้ง แม่อีก
ดีโด้  แม่ครับ ดีโด้ว่างานถูบ้านมันไม่เหมาะกับดีโด้ มันเหนื่อยเกินไปสำหรับเด็ก ดีโด้อยากกรอกน้ำเหมือนเดิม
แม่รู้อยู่แล้วว่าจะต้องมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
แม่  ครับลูก แม่ก็คิดว่าอย่างนั้น ถึงไม่เลือกให้ลูกทำตอนแรกไง  แต่ลูกก็เป็นคนขอร้องแม่เองนะว่าลูกอยากจะทำเอง และเราก็ตกลงกันแล้วว่า ลูกจะต้องปฏิบัติหน้าที่นี้จนถึงสิ้นเดือนนี้ ดังนั้นดีโด้ก็ต้องรับผิดชอบต่อไปนะครับ  หึๆ ๆ
และแล้วทุกวันนี้ ดีโด้ก็เผ้ารอขีดปฏิทิน นับวันว่าเหลืออีกกี่วันที่ฉันต้องถูบ้านเนี้ย ฮ่าๆๆ

10.  การเบี่ยงเบนกิจกรรม   คือ การที่เราเสนอกิจกรรมอย่างหนึ่งให้ลูกทำแทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก  เพื่อที่เด็กจะได้ไม่สามารถทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อไปได้ เช่น  เห็นลูกกำลังตะเบ็งเสียงตะโกนเสียงดังในร้านอาหาร เราก็เข้าไปใกล้ ๆ ลูก และกระซิบเบา ๆ ที่ข้างหูว่า  ดีโด้ครับแม่มีเรื่องอะไรจะคุยด้วย แต่ต้องคุยกันแบบนี้นะ กระซิบ ๆ กันเบา ๆ  แค่นี้เราก็ไม่ต้องตะเบ็งเสียงเอ็ดลูกแข่งกับเสียงลูก เผลอ ๆ ไม่ใช่แค่เสียงพูดแค่นั้น อาจมีเสียงมือฟาดไปที่ลูกดังเผี่ย และดังตามมาด้วยเสียงร้องไห้ จากที่จะไม่รบกวนใครมากกลายเป็นสร้างความรำคาญใจอย่างถึงที่สุด อิอิ
ทั้งหมดนี้เป็นการพิมพ์ออกตามการที่แม่ดาวปฏิบัติ ส่วนชื่อหลักการที่ถูกต้องเนี้ย ต้องไปตามอ่านกันดูในหนังสือต่าง ๆ อย่างที่บอกไม่ได้เป็นนักวิชาการนะคะ  หวังว่าคงจะเป็นแนวทางให้คนอื่น ๆ ได้บ้าง
นอกจาก 10 ข้อนี้ ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่แม่ดาวใช้ประจำ ใช้บ่อย   เอาไว้จะค่อย ๆ  พิมพ์บทความให้อ่านกัน  แต่หากใครมีปัญหาเร่งด่วนเรื่องไหน อยากรู้เป็นพิเศษ ลองส่งข้อความมาสอบถามกันได้ก่อนนะคะ  ถ้าแม่ดาวสามารถตอบได้และมีเวลาจะตอบให้ทันทีเลยจ้า   ตอนนี้แม่ดาวบอกลูกว่า  สิ่งที่แม่ทำอันนี้คือการช่วยเหลือสังคม แต่แม่ก็จะไม่ลืมที่จะมีเวลาให้ลูกเต็มที่  ดีโด้ขอร้องว่า ดีโด้ให้แม่ทำได้เมื่อ ดีโด้ไม่อยู่   นอนหลับ หรือดีโด้อนุญาติแล้วเท่านั้น   หึ ๆ  เจ้าค่ะ  แม่ดาว.....ก็คงต้องทำงานประจำให้ได้ดีก่อนนะ(เลี้ยงลูกและทำงานบ้าน)  แล้วถึงจะมาช่วยเหลือสังคมได้ อิอิ