วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

สร้างวินัยเชิงบวกกับลูกเล็ก ๆ ที่ยังสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง

          โจทย์ข้อนี้จะว่ายาก ก็ยากนะคะ สำหรับแม่ดาว เพราะตอนที่ลูกแม่ดาวเล็ก ๆ 0-3 ขวบ แม่ดาวเองก็ใช้สัญชาติญาณร่วมกับความรู้ที่ได้จากการอ่านและประสบการณ์ที่เคยเลี้ยงน้อง ๆ หลาน ๆ ด้วยตัวเองมาประยุกต์ใช้ และยังเป็นช่วงที่ตัวเองยังไม่ค่อยจะมีทั้งสติและปัญญา  มีแค่ความศรัทธากับการสร้างวินัยเชิงบวกแค่นั้น คือ ตั้งใจไว้ว่าจะเลี้ยงลูกแบบใช้เหตุผลและความรัก ตอนนั้นดวงตาก็ยังมืดมัว ยังไม่มีแสงธรรมนำชีวิตเหมือนกับตอนนี้
           สิ่งที่แม่ดาวจะเสนอเป็นแนวทาง จะเป็นสิ่งที่คิดเองว่า หากย้อนกลับไป แม่ดาวจะทำแบบนี้กับลูก

          1.  สร้างภาษามือสื่อสารกัน   ในช่วงเด็กเล็กประมาณ 0-9  เดือน  แม่ดาวคิดว่าเด็กในช่วงนี้ต้องให้ความรัก อุ้ม กอด หอม ฯลฯ การแสดงออกสื่อสารความรักที่เรามีต่อลูก   แม่ดาวจะใช้ทั้งภาษากายและภาษาพูดไปพร้อม ๆ กัน  ภาษามือ เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับเด็กในวัยนี้ เด็กที่ยังพูดไม่ได้ เขาจะมีความอึดอัดคับข้องใจ และทำให้เขาอารมณ์บูดได้ง่าย ระเบิดได้ง่าย ๆ   เพราะการที่เราไม่สามารถสื่อสารกับเขาได้รู้เรื่อง  และตัวเขาเองก็ไม่สามารถจะสื่อสารกับเราได้รู้เรื่องเช่นกัน  การที่มีภาษามือใช้ในการสื่อสารกันจะช่วยให้เขาและเราจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น
           แต่แม่ดาวไม่ได้ไปเรียน หรือซื้อหนังสือเกี่ยวกับการใช้ภาษามือกับลูก (babysign) มาศึกษาเลยนะคะ  แม่ดาวใช้สัญชาติญาณ ฮ่าๆๆๆๆ   หากถามว่าย้อนกลับไปได้จะศึกษาไหม ตัวเองคงไม่ค่ะ มองว่าไม่จำเป็นสำหรับตัวเอง เราก็แค่สร้างภาษามือแบบที่เราเข้าใจกับลูกได้เอง เพราะแม่ดาวเลี้ยงลูกเองแทบจะคนเดียวอยู่แล้ว แต่หากอยากได้แบบเป็นภาษามือสากลอยากเรียนรู้ก็ดีนะคะ 

          2.  การให้ทางเลือกเชิงบวก ก็ทำได้ค่ะ สำหรับเด็กเล็กที่พอจะสื่อสารกันรู้เรื่อง เขาพูดไม่ได้ก็จริงแต่เขาสามารถเข้าใจ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้แล้ว เช่น หากเราจะให้เขาผลไม้  ก็เอาผลไม้ให้เขาเลือกว่า  ลูกอยากทานกล้วย หรือส้มค่ะ  ให้เขาชี้ และเราก็ยืนยันกับเขาอีกที เช่นเลือกส้ม  ก็ยืนส้มให้เขาและถามยืนยันว่า ลูกเลือกส้มนะคะ ใช่ไหมค่ะ สอนให้เขาตอบรับเช่น จะเป็นพยักหน้า หรือจะอะไรก็ได้ อย่างที่บอกภาษากายที่สื่อสารกันรู้เรื่อง   การให้ทางเลือกเชิงบวกกับลูกเป็นการฝึกให้เขาตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง ฝึกตั้งแต่เล็ก ๆ ดีมากค่ะ

          3.  การสอนพฤติกรรมที่เหมาะสม  เช่น เวลาเขาอยากได้อะไร เขาจะร้องไห้ใช่ไหมค่ะ บางทีภาษามืออะไรไม่เอาแล้วไม่สน ฉันเอาแบบที่ฉันถนัด ร้องไห้นี่แหละ วิธีง่าย ๆ ทำได้เรื่อย ๆ และเห็นผลได้เร็วกว่า ฮ่าๆๆๆ    หากเจอเหตุการณ์ประมาณนี้  เราก็บอกเขาว่า ลูกอยากได้ แม่ให้ ลูกควรทำอย่างไร เช่น ลูกอยากทานขนม   เขาจะแสดงอาการร้องไห้ โมโหหน้าแดง  ชี้มือมาที่ขนมจริง แต่ร้องไห้   เราก็ต้องใจเย็น ใช้หลักการแสดงความเข้าใจ ว่า เรารู้ว่าเขาต้องการอะไร และเขาต้องปฏิบัติตัวอย่างไรถึงจะได้ขนม เช่น น้องดีโด้อยากทานขนมใช่ไหมครับ แม่เข้าใจแล้ว ลูกชี้นิ้วและบอกว่าหม่ำ ๆ แบบนี้แม่เข้าใจแล้วค่ะ หากลูกร้องไห้แม่จะเข้าใจผิดนะคะว่าลูกไม่อยากจะทานขนม เกลียดขนม ถึงร้องไห้  คือหาคำพูดแบบที่เราคิดว่าเราสื่อสารกันเข้าใจ  ต้องใช้วิจารณญาณเองนะคะว่าพูดยังไงจะเหมาะกับลูกของเรา ส่วนมาก เด็กเล็ก ๆ เขาจะพูดกระชับ ๆ สั้น ๆ เพราะเขาบอกว่าเด็กจะไม่ค่อยเข้าใจความหมาย
สำหรับแม่ดาวเป็นประเภทพูดเยอะมากตั้งแต่ลูกเล็ก ๆ พูดคุยกับเขาตั้งแต่ในท้องก็ว่าได้ พูดคุยเหมือนกับเขารู้เรื่องแล้ว  ลูกเลยชินและได้เรียนรู้คำศัพท์ไว้เยอะมาก คือแรก ๆ แม่ดาวว่าเขาก็คงไม่รู้หรอก แต่พูดบ่อย ๆ เขาก็เรียนรู้ว่า พูดแบบนี้คืออะไร หมายความว่าอะไร  พอตอนที่เขาพูดได้แล้ว เราขำเลยเขาเอาคำศัพท์มากมายที่จำ ๆ ไว้ในสมองเอามาทยอยใช้ บางทีก็ใช้ผิด เราก็คอยแก้ให้ แต่อย่าไปขำนะคะ ถึงจะอยากขำแทบตายก็อดทนไว้ เดี๋ยวเขาจะเสียความมั่นใจ ไม่กล้าพูดไม่กล้ากล้าใช้คำใหม่ ๆ   

4.  สอนคำศัพท์ เกี่ยวกับอารมณ์ต่าง ๆ ให้ลูกรู้ ว่า แบบนี้คือเรียกว่าอะไร โกรธ  เสียใจ เหนื่อย ฯลฯ อย่างที่บอกค่ะว่า  เขายังพูดไม่ได้ตอนนี้ ยังไม่เข้าใจ ณ ตอนนี้ ที่เขาได้เรียนรู้ครั้งแรก ๆ  แต่พอหลาย ๆ ครั้งเข้าเขาก็จะเข้าใจเอง และเรื่องนี้สำคัญนะคะ เพราะจะทำให้เราและเขาจัดการอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

5.  สอนให้รู้จักรอคอย  เวลาที่ลูกอยากได้อะไร อย่าเพิ่งให้เขาทันที  เมื่อเขาขอ (พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปนะคะ) สอนให้เขารู้จัก รอคอย   เช่น เราทำกับข้าวอยู่ เขามาชวนเราไปเล่นด้วย เราก็บอกเขาว่า แม่รู้ค่ะว่าลูกอยากจะเล่นกับแม่มากตอนนี้ รอก่อนนะคะ แม่ทำกับข้าวเสร็จแม่ไปจะไปเล่นกับลูกทันที  ย้ำว่าให้เขารอ ต้องให้เขาร้องไห้ เราก็ต้องอดทน เพราะนี้คือการสอนให้เขารู้จักการอดทนและรอคอย สำคัญมากนะ แม่ดาวก็พลาดมากมายกับจุดนี้

6. การแสดงความเข้าใจ คือการใช้คำพูดที่บอกว่าเราเข้าใจเขาว่าอย่างไร คงไม่ต้องอธิบายเนอะ ผ่านเลย

7. สอนให้เขารู้จักการขอบคุณ และขอโทษ พูดไม่ได้ก็ทำได้ค่ะ จับมือเขาและสอนว่าแบบนี้คือขอบคุณ ขอโทษ ภาษามือนี่แหละ 

8. เรื่องการตั้งเวลาก็ใช้ได้นะคะ  ลอง ๆ พิจารณาดูว่าเขารู้เรื่องแค่ไหนยังไง

9.  สอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัยที่เหมาะสม เราต้องมีอุเบกขามาก ๆ  ใช้ปัญญาพิจารณาเอาเลยค่ะว่า แค่ไหนยังไง หากคิดไม่ออกลองหาตัวช่วย ศึกษาจากประสบการณ์คนอื่น ๆ โดยที่ต้องยึดลูกเราเป็นหลักนะคะ แม่ดาวก็ทำแบบนั้น เช่น น้องดีโด้เขาจะมีพัฒนาการเร็วกว่าวัยของเขา แม่ดาวก็พิจารณาจากพัฒนาการของลูกตัวเอง อย่างสมมติเขา 6 เดือน แต่พัฒนาการเขาจะไปอยู่ 8 เดือน  เราก็ไปดูว่า 8 เดือนเนี้ยเขาสามารถทำอะไรได้เองบ้าง ก็เปิดตำราบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ลอก ๆ คนอื่นมาบ้าง เอามาประยุกต์ใช้เป็นแนวของเรา

10.  คำพูดประเภท  ห้าม อย่า หยุด เลี่ยงได้ก็เลี่ยงนะคะ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ  เขาอยู่ในวัยอยากเรียนรู้ ทุกอย่างเป็นสิ่งน่าสนใจน่าเรียนรู้ไปหมด  เราต้องให้โอกาสเปิดพื้นที่ในการเรียนรู้ตามความเหมาะสมเช่นกัน คำพูดประเภทข้างต้น เป็นการไปหยุดการเจริญเติบโตของเซลสมองลูก จะกินนมที่มีส่วนผสมอกระตุ้นพัฒนาการสมองดีเลิศขนาดไหน ก็ฟ่อกันได้ง่าย ๆ หากเรายังใช้คำพูดพวกนี้ ไม่ได้ขู่นะเนี้ย 

11.  พูดเรื่องจริงกับลูก  เจอกันบ่อย ๆ นะคะ ชอบจริง ๆ  ขู่เด็ก เนี้ย เช่น ถ้าไม่ไปนอนนะ เดี๋ยวผีจะมาหลอก , มาตรงนี้เร็วมากับแม่ ถ้าไม่มานะเดี๋ยวตำรวจมาจับ ฯลฯ สารพัดคำขู่ บอกเขาไปตรง ๆ เถอะค่ะ เราต้องการให้เขาทำอะไร เพราะอะไร ใช้การสื่อสารแบบ I message ก็ได้ อย่าขู่ลูกแบบนี้เลย เป็นตัวอย่างไม่ดีกับลูกด้วยนะ โกหกลูกเนี้ย

12. วินัยบนโต๊ะอาหาร  ฝึกให้ลูกทานอาหารให้เป็นเวลา จัดสถานที่ ๆ สำหรับทานอาหาร  ให้ลูกเรียนรู้ว่า เราควรทานอาหารบนโต๊ะทานข้าว และต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เช่น ถึงเวลาทานอาหารก็พาลูกไปนั่งทานที่โต๊ะทานข้าว ให้ลูกได้ทานด้วยตัวเอง หากอยู่ในวัยที่สามารถหยิบจับอาหารได้แล้ว อุเบกขาอีกเช่นกัน ไม่พร่ำบ่น ต่อว่า คอยทำความสะอาดระหว่างลูกกำลังทาน ปล่อยให้ทานด้วยตัวเอง หากลูกไม่ทานแล้ว บ้วนทิ้ง ขว้างช้อน ก็ให้บอกกับลูกประมาณว่า  "แบบนี้แสดงว่าลูกอิ่มแล้วใช่ไหมค่ะ" แล้วเก็บจานช้อนไปเลย ดูเหมือนอาจจะโหดแต่ดีต่อตัวเขาในอนาคต ให้เขาได้เรียนรู้ว่า หากหิว ก็ต้องทาน หากเล่น ไม่ทานแล้วก็แสดงว่าอิ่ม ถึงเขาจะงอแงสักหน่อย ก็ต้องอดทนนะคะ อย่าลืมใส่ความอ่อนโยนเข้าไปในคำพูดด้วยนะคะ  ไม่ใช่พูดแบบไม่พอใจนะ

13.  วินัยในการกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ  เช่น การตื่นนอน การเข้านอน การล้างมือก่อนทานอาหาร ฯลฯ มากมายที่เราควรฝึกไว้ตั้งแต่เล็ก ๆ    มีหลานของแม่ดาวคนนึงน่ารักมาก ตอนอายุได้ประมาณ 1 ขวบ เขาตื่นมาแล้วจะถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูปเอง และม้วนไปทิ้งที่ถังขยะแบบที่ผู้ใหญ่ทำเลยค่ะ  เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ดีมากๆ สื่อสารอะไรรู้เรื่องหมดทั้ง ๆ ที่พูดไม่ได้ 
หลานคนนี้เป็นต้นแบบของน้องดีโด้เลย แม่ดาวตั้งใจไว้ว่าหากมีลูก ก็อยากให้ลูกช่วยเหลือตัวเองแบบนี้ (ตอนนั้นยังไม่มีลูก) แม่เขาเลี้ยงแบบที่บวกบ้าง ลบบ้าง ปัจจุบันก็ 9 ขวบนะคะ น่าเสียดายเหมือนกัน หากเลี้ยงด้วยแนวคิดบวกสม่ำเสมอหลานแม่ดาวคนนี้คงจะเป็นเด็กที่ดีมากๆ เพราะเขามีต้นทุนชีวิตดีอยู่แล้ว เป็นเด็กฉลาดและเป็นเด็กเลี้ยงง่ายมาก ถึงปัจจุบันเราจะห่างกันมาก เนื่องจากย้ายบ้านไปต่างจังหวัด ที่น่าแปลกคือความสัมพันธ์ของเรายังดีอยู่อย่างน่าประหลาดใจ เขามีความทรงจำเกี่ยวกับแม่ดาวเยอะมาก ทั้ง ๆ ตอนที่แม่ดาวช่วยดูแลนั้นประมาณถึง 2-3 ขวบ  ห่างกันแต่กาย แต่ใจเรายังมีสะพานความรักสื่อถึงกันได้ ถึงสะพานนั้นจะเก่า แต่มันก็ยังไม่ขาด หากมีโอกาสแม่ดาวก็จะหมั่นขัดถูทำความสะอาดสะพานรักของแม่ดาวกับหลานทุกครั้ง

คร่าว ๆ นะคะ  ที่จริงแล้วหากเราใช้เป็นวิธีไหนๆ ในเชิงบวก ในเคยแนะนำไว้ก็นำมาประยุกต์ใช้ได้หมด และอย่าลืมสำคัญที่สุด คือ การเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกเห็นและการยืนยันคำพูด ใจดีแต่ไม่ใจอ่อนนะคะ  

สงสัยไม่เข้าใจวิธีการปฏิบัติลองเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้นะคะ หากแม่ดาวพอช่วยแนะนำได้จะช่วยเต็มที่จ้า   

*** บทความนี้พิมพ์แบบเร็ว สุด ๆ พลาดตรงไหน ยังไง แนะนำกันได้นะคะ  เพื่อที่เป็นความรู้ แนวทางให้คนอื่น ๆ ได้นำไปปฎิบัติ   อย่างที่บอกแม่ดาวเองไม่ได้เก่งอะไร  ใช้ใจและความรู้ที่พอจะมีแนะนำ