วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

คุณซื้อหนังสือให้ลูกเพราะอะไร

            คำถามนี้น่าสนใจมากนะคะ  เป็นคำถามที่เตือนสติให้เรามานั่งคิดทบทวนว่าเหตุผลที่แท้จริงของการที่เราซื้อหนังสือให้ลูกนั้นเพราะอะไร คำถามนี้เป็นคำถามที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรม “หนังสือและสื่ออ่านเพื่อการพัฒนาสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย” เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 55 ที่ผ่านมา

         คำถามนี้ แม่ดาวก็มานั่งคิดทบทวนแบบจริงจัง นั่นซิ....จุดมุ่งหมายหลัก ๆ ในการซื้อหนังสือให้ลูกอ่านเราทำไปเพราะอะไร คำตอบที่ได้เรียงตามลำดับเลยนะคะ คือ

         1.  เพื่อเป็นการปลูกฝังให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านหนังสือ แบบที่แม่ดาวเองไม่มี สำคัญนะคะ เรื่องการรักการอ่านหนังสือเนี้ย  มันเป็นประตูนึงที่ช่วยเปิดโลกการเรียนรู้มากมาย  แต่ปัจจุบันก็ยังเห็นเขาไม่ค่อยสนใจเท่าไร ชอบเล่นซะมากกว่า แต่แม่ดาวก็ไม่ได้เครียดอะไร สบาย ๆ  ยึดหลักหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า สุ จิ ปุ ลิ วินิมุตโต  กะถัง โส ปัณฑิโต ภะเว  คนที่ปราศจากการฟัง คิด ถาม เขียน เสียแล้ว จะเป็นบัณฑิตไปได้อย่างไร 
            ดังนั้นตอนนี้ให้เขาฟังให้มาก ๆ ไปก่อน ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่เร่งรีบ จากนั้นก็มาดูที่กระบวนการคิดของลูก เขามีคำถามในแต่ละวันมากมาย เราก็ต้องขยันตอบเขาด้วย ส่วนเรื่องอ่านและเขียนเนี้ย ณ ตอนนี้แม่ดาวยังไม่เน้น เรื่อย ๆ สบาย ๆ อยู่  แต่ระบบการศึกษาไทยเน้น อ่านและเขียนเป็นหลัก ๆ นะเท่าที่เห็นและจากประสบการณ์ตัวเอง ปัจจุบันกับเมื่อก่อนก็ยังเป็นแนวคิดแบบนี้ส่วนใหญ่นะ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนแปลงสักทีไม่รู้  ฟังก็มีฟังแหละ แต่ฟังแล้วก็ไม่กล้าที่จะถาม ครูดุมากๆๆๆ ที่เจอกับตัวเองตอนเรียนนะ กลัวจนสมองแทบไม่พัฒนา กล้าคิดนะ แต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าถาม หลัง ๆ เริ่มสมองฝ่อไม่กล้าจะคิดฮ่าๆๆ

        2.  หนังสือเป็นกิจกรรมนึงที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เวลาที่เราอ่านหนังสือกับลูก เราและลูกจะมีความสุขมาก ได้ความอบอุ่น ใกล้ชิด รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ เป็นกิจกรรมนึงที่สร้างความสุขง่าย ๆ ราคาก็ไม่แพงมากหากเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ

      3.  หนังสือเป็นเครื่องมือนึงที่แม่ดาวใช้ในการสร้างวินัยเชิงบวกกับลูก และได้ผลดีมาก ช่วยพัฒนาในเรื่องพฤติกรรม อารมณ์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม  (EQ) วิธีนี้สำหรับน้องดีโด้แล้ว เป็นอะไรที่ง่าย และจัดการกับนิสัยและพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีนัก  และยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดนิสัยและพฤติกรรมดีๆ ที่เราต้องการอีกด้วย  วิธีนี้แม่ดาวใช้บ่อย ๆ บางทีก็แต่งนิทานเองล่าสุด เรื่องสติกับสตางค์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็ก 2 คนที่เกิดมามีพื้นฐานทางความคิดและชีวิตที่แตกต่างกันสิ้นเชิง และมีผลสรุปของเรื่องคือ เด็กคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีความสุขในชีวิตแบบแท้จริง คือเด็กที่มีสติปัญญามากแต่มีสตางค์น้อยประมาณนี้ 
       เคยคิดจะวาดภาพ หรือทำหนังสือนิทานทำเอง  แล้วก็ล้มเลิกไปหลายที แต่ครั้งนี้คาดว่าจะทำขึ้นมาสักเล่ม ลองดู แม่ดาวว่ามันน่าสนุก คุยกับลูก ๆ ก็อยากทำ ตอนแรก ๆ ที่คิด ก็ท้อและเลิกไป ไม่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ แต่พอฟังบรรยายจุดประกายว่า มันไม่จำเป็นต้องสวยงาม คุณค่าของหนังสือนิทานที่เราจะทำมันอยู่ที่ใจ อยู่ที่เราได้ทำกิจกรรมนี้กับลูก เราและลูกมีความสุข และคงกลายเป็นนิทานเล่มแรกที่แม่ดาวกับน้องดีโด้จะทำร่วมกัน 
 
     4.  หนังสือเป็นเครื่องมือที่แม่ดาวใช้ในการพัฒนาสมองลูกและตัวเองด้วยฮ่าๆๆ  (IQ) ในแง่ความรู้ ความสามารถทางวิชาการต่าง ๆ แต่ตอนนี้ใช้น้อยในส่วนนี้นะ เนื่องจากไปเน้นส่วน EQ มากกว่า ณ ช่วงวัยนี้ ( 5 ขวบ) 

***ในการเลือกซื้อหนังสือของลูกส่วนมาก หากลูกไปด้วยเขาก็จะเป็นคนเลือกเอง โดยที่มีเราเป็นที่ปรึกษา เพราะบางทีเขาดูแค่ปก ไม่ได้สนใจเนื้อหาข้างใน เราเลยต้องคอยดูและบอกเขาอีกทีว่า เป็นเรื่องประมาณไหน เรามีความคิดเห็นว่าอย่างไร ส่วนลูกจะตัดสินใจยังไง เราก็ยอมรับค่ะ  แต่ก็มีบางเล่มนะที่เขายืนยันว่าจะเอา ให้ได้ แต่เราเห็นว่าไม่เหมาะสมเลย เช่น หนังสือปืนของพวกผู้ชาย แล้วก็เป็นหนังสือผู้ใหญ่มากๆ  เราไม่สนับสนุนความรุนแรงอยู่แล้ว เลยต้องเบี้ยงเบนความสนใจเขาไปที่เล่มอื่นแทน ได้ผลนะคะ  ต่อมน้ำตาลูกไม่ต้องทำงาน แล้วก็ยิ้มหน้าบานได้ด้วย  แค่ใช้เทคนิคในการจูงใจนิดหน่อย อิอิ

        แล้วคุณล่ะคะ  เคยถามคำถามนี้กับตัวเองหรือยัง ถ้ายังลองถามตัวเองและลองหาคำตอบกันนะคะ แม่ดาวคิดว่าคำถามนี้เรียกสติเราได้มากเลยแหละ

การคัดสรรหนังสือสำหรับเด็ก

แม่ดาวคัดลอกมาจาก  www.oknation.net    เห็นว่ามีประโยชน์เผื่อใครไม่เคยได้อ่านนะคะ
 
เด็กปฐมวัย 0-6 ปีไม่สามารถอ่านหนังสือได้เอง ดังนั้น พ่อ แม่  และ ผู้เลี้ยงดูเด็ก จึงต้องเป็นผู้อ่านให้ฟัง หนังสือจึงเป็นสื่อกลางให้พ่อ แม่ และผู้เลี้ยงดูเด็ก ได้ใกล้ชิดกับเด็กได้พูดคุย ได้เล่น และเฝ้าดูพัฒนาการของเด็กอย่างใกล้ชิด การคัดเลือกหนังสือเพื่ออ่านให้เด็กฟัง ควรคัดสรรหนังสือที่มีลักษณะเด่นชัดในด้านต่างๆ ดังนี้
1.  เนื้อหา ชัดเจนดึงความสนใจของเด็กได้ ควรมีความสนุกสนานในความคิดแปลกใหม่กับสิ่งใหม่ กระทบต่อความรู้สึกและอารมณ์ เนื้อหากระตุ้นสติปัญญาของเด็กบนพื้นฐานความเชื่อและความคิดของแต่ละ วัฒนธรรม
2.  แก่นเรื่อง ให้ความรู้และนำเสนอแนวทางในการปฏิบัติ     ที่ดีงามมีการนำเสนออย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อนเข้าใจได้ง่าย
3.  การนำเสนอเรื่อง มีการเปิดเรื่อง เปิดปม เปิดประเด็นที่น่าติดตาม เพื่อคลี่คลายและแก้ไขปัญหา จนถึงบทสรุปถึงความสำเร็จ       ในการคลี่คลายและแก้ไขปัญหาของตัวละครแต่ละตัว  เหล่า นี้ต้องอยู่ในกระบวนการใช้ภาษาที่ง่ายๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ ทวนบ่อยๆ สื่อสารตรงไปตรงมา กระชับ ได้ใจความและความหมาย แต่มีการใช้ภาษาที่สละสลวยสวยงาม
4.  บุคลิกภาพของตัวละคร สนุกสนานสร้างความประทับใจให้แก่เด็กตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ มีคุณค่าและมีความหมาย เช่น     ตัว ละครของอิสป ที่ใช้สุนัขจิ้งจอกเป็นตัวแทนของคนเจ้าเล่ห์เพทุบาย กระต่ายเป็นตัวแทนของความซื่อใสสะอาด สิงโตเป็นตัวแทนของคนที่เย่อหยิ่งทะนงตน
5.  ภาพประกอบ สดใส สวยงาม สะอาดสะอ้าน ต้องมีความชัดเจน สามารถเล่าเรื่องได้อย่างดี และเปลี่ยนไปตามเนื้อหาอย่างน่าเชื่อถือและตรงกับความจริง
6.  ตัวอักษร ตัวอักษรต้องมีขนาดใหญ่ เส้นหนาเหมาะกับสายตาเด็กเล็ก เป็นอักษรที่เป็นปกติ ไม่เล่นหาง ไม่ไร้หัว
7.  รูปเล่ม มีความสำคัญทั้งในแง่ของความงาม ศิลปะ ภาพ ขนาด รวมถึงการใช้และการเก็บรักษาปกหนังสือ จึงถือเป็นหน้าต่างที่ทำให้เด็กสนใจ ด้วยสีสันที่สดใส ดึงดูดใจในความงาม ประณีตประดิษฐ์
นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่ได้รับการคัดสรรจากสถาบันต่าง ๆ เช่น
- คณะกรรมการคัดสรรหนังสือดีแห่งชาติ
- คณะกรรมการโครงการคัดสรรหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน
- รักลูกอวอร์ด
- นายอินทร์อวอร์ด
- โครงการหนังสือเล่มแรก
- สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
และ อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหนังสือเหล่านี้ ผู้ปกครองสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมของเด็กได้เป็นอย่างดี และสะดวกเพราะมีรางวัลเป็นเครื่องรับรองคุณภาพอยู่แล้ว

ที่มา : เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป. หนังสือเล่มแรก Bookstart Thailand. โครงการหนังสือเล่มแรกประเทศไทย. 2552.

การเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย

แม่ดาว คัดลอก มาจาก www.ideaforlife.net  คิดว่าน่าจะสอดคล้องกับบทความกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้

ขึ้น ชื่อว่า เด็ก คำๆ เดียวกัน แต่ใช้ว่าทุกคนจะเหมือนกัน โดยเฉพาะพัฒนาการ ลักษณะนิสัย และความสนใจใคร่รู้ ย่อมแตกต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมของครอบครัว และวิธีการเลี้ยงดู เช่นกันกับหนังสือที่ต้องเลือกให้ตรงกับช่วงวัยของเด็กด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นตามมา ต่อยอดให้เด็ก รู้จักโลกของหนังสือ จนกลายเป็นเด็กรักการอ่านในที่สุด

เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนแห่งความรัก ทีมงาน Life and Family มีคำแนะนำพ่อแม่ผู้อ่านที่รัก ในการเลือกหนังสือภาพให้ลูกตามแต่ละช่วงวัย โดยอ้างอิงจากหนังสือ พัฒนาลูกน้อยด้วยการอ่านของ "ทาดาชิ มัตษุอิ" ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพเพื่อเด็ก เพื่อเป็นแนวทาง และตัวเลือกในการซื้อหนังสือภาพให้ลูกน้อยได้อย่างเข้าใจกันครับ

หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0-3 ขวบ

หนังสือภาพสำหรับ "เด็กวัยทารก" นี้ ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นหนังสือภาพเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดปิดได้ ซึ่งพอเปิดดูข้างในแล้ว ก็มีภาพต่างๆ หลากหลายสี เรียงรายกันอยู่ในแต่ละหน้า เด็กจะรู้สึกสนุกกับการค้นพบ สำหรับสิ่งที่น่าสนใจนี้ ถ้าเปิดหน้าไหนแล้ว พบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่น แมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมากเป็นพิเศษ และจะส่งเสียงร้อง บื๋อ บื๋อ เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า บ๊อก บ๊อก เมื่อเห็นภาพสุนัข

สำหรับหนังสือภาพที่เหมาะสมกับเด็กวันนี้ ควรเป็นหนังสือภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่างๆ หรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง มีความสวยงาม ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบของภาพที่รกรุงรัง

พอขึ้นวัย 2 ขวบ เด็กแต่ละ คนจะเริ่มมีความชอบที่ต่างกัน ดังนั้นการเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน หนังสือภาพควรมาพร้อมกับความสุขของลูก เช่น เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หนังสือภาพสัตว์ และสิ่งของ

นอกจากนี้ หนังสือกาพย์กลอนสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบ ก็เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้เช่นกัน เนื่องจากเด็กวันนี้จะมีประสาททางหูที่ดีมาก และสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงวัย 2-4 ขวบ เด็กที่ฟังเสียง และภาษาที่มีจังหวะ บางคนถึงกับจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม และอ่านได้ถูกต้องทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก ดังนั้นหนังสือที่มีบทกวีดีๆ จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับพ่อแม่ในการอ่านให้ลูกฟัง

ก้าวระดับมาถึงวัย 3 ขวบ เด็ก จะมีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง มีจินตนาการสร้างสรรค์ แล้วมีความอยากรู้อยากเห็นมาก สามารถติดตาม และเข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ได้แล้ว รวมทั้งเด็กวัยนี้จะชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ส่วนเรื่องไหนที่ชอบมาก เด็กก็จะให้อ่านซ้ำ ไม่รู้จักเบื่อ ทั้งๆ ที่จำเรื่องได้หมดทุกตัวอักษรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็ตาม ดังนั้นหากเด็กวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กในอนาคต ซึ่งเด็กที่ที่เคยรู้สึกปีติยินดีกับหนังสือภาพตั้งแต่ 3 ขวบจะไม่ห่างหนังสือไปตลอดชีวิต

ลูกอายุ 4 ขวบ ความ สามารถทางภาษาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคน จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน การเลือกหนังสือจึงยากขึ้น ดังนั้นหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก เพราะเด็กวัย 4 ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์

ดังนั้น เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน ซึ่งภาพเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อลูกได้ฟัง ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฎขึ้นให้เด็กเห็นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าจะไม่มีอะไรเลยก็ตาม แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น

สำหรับเด็กวัย 5 ขวบ จะชอบ หนังสือภาพนิทาน และเรื่องเล่าที่ยาวขึ้น เด็กต้องการฟังนิทานมาก แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน บางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวกันทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าติดต่อกันหลายสัปดาห์ แสดงว่า เด็กชอบหนังสือเล่มนั้นมากเป็นพิเศษ และการค้นหาหนังสือที่ลูกชอบมากเป็นพิเศษเล่มนั้น นับว่ามีความหมายต่อเด็กมาก

พอเข้าสู่วัย 6 ขวบ พ่อแม่ สามารถอ่านหนังสือนิทานเรื่องราวให้ลูกฟังเป็นตอนๆ ติดต่อกันทุกวัน เด็กจะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น ซึ่งนิทาน หรือบทประพันธ์สำหรับเด็กวัยนี้ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านให้เด็กฟัง เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก

เห็นได้ว่า "หนังสือภาพ" เพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือภาพที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ "ความสุข+ความสนุก" แก่เด็ก ช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก และหนังสือภาพไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรอ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัว และสร้างพื้นฐานด้านมนุษย์สัมพันธ์ให้เด็กได้เป็ยอย่างดี (ขอบคุณข้อมูลจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์)

เก็บตกกิจกรรมที่อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) 8 ส.ค. 55


  มาแล้วจ้า เก็บตกความรู้จากกิจรรม “หนังสือและสื่ออ่านเพื่อพัฒนาสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย” ที่ อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2555  สด ๆ ร้อน ๆ เลยนะเนี้ย  กิจกรรมเริ่มสายกว่ากำหนดการเยอะพอสมควรเนอะ ก็เลยทำให้ต้องบีดอัดรวบรัดข้อมูลดี ๆ ที่แม่ดาวตั้งใจจะไปฟัง กล่าวเปิดกิจกรรมโดย คุณทัศนัย วงศ์พิเศษกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กิจกรรมก็มีให้ชมวีดีทัศน์ “หน้าต่างแห่งโอกาสกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย” แล้วก็มีการบรรยายโดยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ หลายท่าน ต้องขอบคุณทางอุทยานการเรียนรู้นะคะที่จัดกิจรรมดี ๆ แบบนี้
               
   เรื่องแรกที่ได้ฟัง คือหัวข้อ “6 เดือนนมแม่ สานสายใยรักแท้สู่ 6 ปีการอ่าน”  โดย รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์  แม่ดาวชอบวิทยากรท่านนี้มาก ท่านดูมีเมตตาสูง ดูจะมุ่งมั่นตั้งใจเป็นอย่างมากกับการที่จะพยายามจะพัฒนาในเรื่องกระตุ้นให้เยาวชนไทยได้อ่านหนังสือกัน ใจความที่แม่ดาวจับประเด็นคือ ท่านบอกถึงเรื่องความสำคัญของการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เราควรอ่านให้ลูกฟังตั้งแต่แรกเกิดได้เลย อันที่จริงอ่านตั้งแต่ตั้งท้องเลยก็คงจะดีเนอะ  จะเป็นการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองของเด็กได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เซลสมองของเด็กจะมีการได้รับการกระตุ้นให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาไปอย่างมาก  เด็กที่มีผู้ปกครองอ่านหนังสือให้ฟังสม่ำ เสมอ ไม่เพียงเด็กจะได้รับรู้ทั้งความรัก การอ่านหนังสือด้วยกันเป็นการสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี และยังมีพัฒนาการที่ดีตามมาอีกด้วย

มีงานวิจัยพบว่า​เด็ก​ในวัย 0-6 ปี ​เป็นช่วงวัยที่​เซลล์สมองจะมี​การ​เจริญ​เติบ​โต​และพัฒนามากที่สุด ดังนั้นการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก  ​เราคงทราบกันดีว่า หนังสือเด็ก นิทานเด็ก นั้นมีราคาค่อนข้างสูงทีเดียว  ระดับฐานะบ้านแม่ดาวก็ระดับกลาง ยังคิดว่าแพงเลย แล้วลองคิดถึงครอบครัวอื่น ๆ ที่เขามีฐานะต่ำกว่าเราซิ หากลดราคาพวกหนังสือลงได้ก็คงจะดีเนอะ หากอยากสนับสนุนให้คนไทยรักการอ่านกันจริง ๆ มีแนะนำวิธีการเลือกหนังสือให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัยด้วย ส่วนรายละเอียดขอผ่านนะคะ ใครสนใจจะไปดูรายการย้อนหลังกันได้ที่แนะนำไว้ใน facebook

  เด็กในวัย 12-15 เดือน โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถเข้าใจภาษาของเราได้ 50-200 คำ แต่แม่ดาวคิดว่าน้องดีโด้เนี้ยเข้าในเยอะกว่านี้นะคะ เพราะสังเกตุจากเวลาที่เราคุยอะไร เขาจะรู้เรื่องหมด แค่พูดสื่อสารออกมาไม่ค่อยได้ แต่แม่ดาวก็เข้าใจได้ดีนะ

  คุณหมอพูดเรื่องนมแม่ไว้ว่า เป็นอาหารที่สำคัญมากสำหรับทารก ทำให้เด็กทารกมีสุขภาพกายที่แข็งแรง เด็ก 0-6 เดือนแรกที่ได้ทานนมแม่จะลดโอกาสการเป็นโรคภูมิแพ้  แต่น้องดีโด้กินนมแม่ถึง 2 ขวบ ก็เป็นภูมิแพ้เยอะมาก ก็อาจจะด้วยทางสายเลือดด้วยทางสามีแม่ดาวเป็นกัน  ตัวแม่ดาวเองมาเป็นตอนแก่นี่แหละ แพ้ขนแมว แพ้ฝุ่น แพ้อากาศ อาจเพราะใช้ชีวิตในกรุงเทพฯนานด้วยมั้ง

ข้อดีของการอ่านหนังสือสรุปเป็นข้อๆ ออกมานะคะ
  1. เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของครอบครัว
  2. พัฒนาการภาษาได้ดีและรวดเร็ว การที่เราอ่านหนังสือภาษาไทยให้ลูกฟัง เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนภาษาอื่น ๆ ต่อไปด้วย เช่นคุณหมอยกตัวอย่าง เด็กวัยปฐมวัยที่คุณแม่สอนภาษาไทยเป็นหลัก มีภาษาอังกฤษบ้าง เห็นรูปครุฑ ไม่เคยเห็นมาก่อนไม่รู้จัก ถามแม่ว่า นี่คืออะไร แม่บอกว่า “ครุฑ”  ลูกงงไม่เข้าใจเพราะไม่เคยได้ยินและรู้จักกับคำนี้มาก่อน พูดกับแม่เชิงถามว่า “มังคุด” แม่ก็บอกไม่ใช่มังคัด “ครุฑ” ลูกก็ใช้ความคิดสมองเชื่อมโยงความรู้เก่า ๆ ที่มีในหัวคำศัพท์ต่าง ๆ แล้วประมวลผลดึงข้อมูลออกมาใช้ใหม่ “มังคี่”  เด็กเขารู้จักคำว่า “มังคี่”  คำว่าลิง ในภาษาอังกฤษ และรู้จัก “มังคุด” ในภาษาไทย เลยเอามาผสมกัน น่ารักนะคะ  ดีโด้ก็เคยเกิดอาการผสมคำมั่วตามความเข้าใจแบบนี้บ่อย ๆ ตอนเป็นเด็กที่เริ่มหัดพูดไม่นาน ปัจจุบันภาษาไทยค่อนข้างแข็งแรงฮ่าๆๆ
  3. ทำให้เด็กมีความเข้าใจตัวเอง และเข้าใจผู้อื่น เปรียบเทียบกับตัวเองได้  การอ่านหนังสือเวลาที่ตัวละครในนิทานดำเนินไป เด็กก็จะเข้าใจความรู้สึกของตัวละครในนิทานตามไปด้วยผ่านการที่เราเล่าให้ฟังซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เด็กจะเรียนรู้ว่าแบบนี้รู้สึกอะไร ยังไง ตามความเข้าใจตัวเองนะคะ
  4. เรียนรู้การเข้าสังคมจากนิทาน
  5. เป็นการสร้างและปรับนิสัยรวมถึงพฤติกรรมของลูกได้ดีมาก อันนี้เติมเองเป็นความคิดเห็นส่วนตัว

         เรื่องต่อมาคือ “ความสำคัญของหนังสือกับการอ่าน และความเข้าใจผิด ๆ ของสังคมไทย” โดย คุณเรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก  หลายท่านอาจรู้จัก แม่ดาวฟังชื่อแรก ๆ ก็ไม่รู้จัก คนห่างไกลหนังสือเนอะ  แต่พอบอกว่าเขียนหนังสือเรื่อง “กุ๊กไก่ปวดท้อง” แม่ดาวถึงบางอ้อทันที เพราะนิทานเรื่องนี้น้องดีโด้ก็ชอบมากเหมือนกัน วิทยาท่านนี้ฮากระจายมาก ๆ ชอบในเรื่องมุมมองและวิธีการเล่าเรื่องของท่าน เรื่องนี้แม่ดาวจับประเด็นได้ว่า  คนไทยส่วนมากมีความเข้าใจผิด ๆ คือ มีวัตถุประสงค์การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หรือซื้อหนังสือให้ลูกอ่านเพื่อความเก่งฉลาด  แต่แท้จริงมันควรเป็นความสัมพันธ์ที่ดีที่ได้รับ ความรัก มีความสุขร่วมกัน  นอกนั้นก็เล่าเรื่องประสบการณ์ที่คุณเรื่องศักดิ์ได้ทำงานเกี่ยวกับการพยายามพัฒนาการที่จะกระจายหนังสือไปให้เยาวชนที่อยู่ตามชนบท ห่างไกลได้อ่านหนังสือกันถ้วนหน้า กับโครงการหนังสือเล่มแรก ว่าเป็นอย่างไร คุณเรืองศักดิ์มีความคิดเห็นคล้าย  ๆ กับคุณหมอข้างต้น คือ หนังสือช่วยกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด          

ปัญญาที่พบ คือ
-          การเลือกหนังสือให้ลูกผิดประเภท บรรดาผู้ปกครองและครู มักยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองต้องการ อยากได้ให้เด็ก ไม่ได้ให้เด็กเลือกด้วยตัวเอง
-          เลือกวิธีใช้หนังสือผิดวิธี  ก่อนนอนควรอ่านประเภทนิทานให้ลูกฟัง ไม่ควรนอนคว่ำอ่าน ไม่ควรนอนหงายเพราะจะหลับง่าย คนอ่านจะหลับก่อนคนฟัง อันนี้ฮามาก
-          หนังสือภาพ ราคาแพง ภาพเยอะ คำน้อย ไม่คุ้ม ผู้ปกครองส่วนมากมักคิดแบบนี้ แต่หากมองกันจริง ๆ มันก็คุ้มค่ามากนะคะกับการลงทุน คุณเรืองศักดิ์ แนะนำให้เราประหยัดจากส่วนของเรามาให้ลูก เช่น แทนที่จะเอาเงินไปซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องสำอาวค์ ก็เอาเงินส่วนนั้นไปซื้อหนังสือให้ลูกเราแทน  ส่วนมากเด็กเล็ก ๆหากชอบหนังสือเล่มไหน ก็จะชอบเล่มนั้นอ่านเป็นร้อย ๆ ครั้งก็ไม่เบื่อ คุ้มนะ  หนังสือ 1 เล่มเราสามารถอ่านได้มากมายหลายแบบไม่จำเป็นต้องยึดตามตัวหนังสือที่พิมพ์มาตามเล่ม

         วิทยากรท่านต่อมา คุณ วิมล โรมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ท่านนี้ดูเป็นคนแม่แสนใจดีมาก ๆ ในสายตาแม่ดาวนะคะ  ท่านพูดคุยเรื่อง “เชื่อมสัมพันธ์แม่-ลูก สร้างเสริมพัฒนาการด้วยการอ่าน”  ท่านนี้เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่ท่านมีลูก ว่าท่านอ่านหนังสือให้ลูกฟังโดยที่ทำไปเพราะทราบว่าดีกับลูก  แต่จะดียังไงแค่ไหน ณ ตอนนั้นก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก  ประสบการณ์ของท่านน่าใจมาก ท่านบอกว่า เมื่อลูกโตขึ้น เวลาที่ลูกจะทำอะไรที่ไม่เหมาะสม ลูกจะไม่กล้าทำ เพราะบอกว่าหน้าของแม่จะลอยมาตลอด ๆ พร้อมได้ยินคำพูดที่แม่สอนตลอดๆ  น่าชื่นใจแทนจริง ๆ  ท่านบอกว่าเราสามารถยืมหนังสือนิทานเด็ก ๆ ต่าง ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาแต่อย่างใด  แม่ดาวคิดว่าหากอยู่ในกรุงเทพฯก็คงทำเรื่องนี้ได้ไม่ยาก หากอยู่ต่างจังหวัดอาจลำบากหน่อย  นี่คือสิ่งที่กลุ่มคนเหล่านี้กำลังพยายามจะผลักดัน และพัฒนากันต่อ ๆ ไป เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเนอะ เรื่องดี ๆ แบบนี้

          วิทยากรท่านต่อมา คุณบุญยัง วังเปรม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี พูดคุยเรื่อง “ชุมชนส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย”   เป็นอีกท่านที่น่าชื่นชม ท่านพยายามเสริมสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับชุมชนของท่าน ท่านได้มีการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชน กิจกรรมคือแจกหนังสือเล่มแรก ให้กับเด็ก ๆ ในท้องถิ่น สร้างศูนย์การเรียนรู้ประจำหมู่บ้าน  ท่านบอกว่าหากใครสนใจจะบริจาคหนังสือท่านยินดี  ใครสนใจลองไปค้นหาท่านได้ใน Facebook ได้นะคะ

    ท่านสุดท้ายของกิจกรรมช่วงเช้าคือ รศ.ถิรนันท์  อนวัชศิริวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานกรรมการคัดสรรหนังสือวัย 6-12 ปี พูดคุยในหัวข้อ “วัฒนธรรมการอ่านความสำคัญที่สร้างได้จากครอบครัวถึงระดับชาติ”  ท่านบอกถึงปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน (อย่างต่อเนื่อง) คือ การกระจายหนังสือให้ทั่ว, ปรับสภาพแวดล้อมในการอ่าน, ปรับภาพลักษณ์ของการอ่านและพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ  ท่านพยายาม ท่านพยายามจะผลักดันและต้องการให้เกิดมีห้องสมุดในทุก ๆ ที่ แต่ละตำบลควรจะมีห้องสมุดแบบบนี้อยู่ 

          จากการสำรวจพบว่าหนังสือเด็ก 0-2 ปี ไม่มีหนังสือแปล เป็นคนไทยเขียนกันเอง ส่วนกลุ่มอื่น ๆ มีทั้งหนังสือของไทยและหนังสือแปล และเกินกว่าครึ่งของหนังสือแปลเป็นหนังสือกลุ่มเด็กอายุ 4-6 ปี 

        แนวคิด/แก่นเรื่อง  หากนำไปเทียบกับคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการตามแนวกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการส่งเสริม อันได้แก่ ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคีและมีน้ำใจ พบว่าแนวคิดของเรื่องการส่งเสริมในเรื่อง ความซื่อสัตย์ไม่ปรากฎในหนังสือคัดสรรทั้งไทยและหนังสือแปล (นั่นซิ..ทำไมน้อ)

        หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย จากการสำรวจเด็กและเยาวชนไทยในปีพ.ศ. 2551 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกในบ้านกับเด็ก 0-5 ปี แม่มีกิจกรรมร่วมกับลูกในสัดส่วนที่สูงที่สุด รองลงมาคือคนอื่น ๆในบ้าน น่าแปลกใจมากที่พ่อมีสัดส่วนต่ำสุดในการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว  และร้อยละของสมาชิกในครัวเรือนที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้กับเด็ก 0-5 ปี กิจกรรมที่ทำมากที่สุดคือ การเล่นร่วมกับเด็ก รองลงมาคือ การพาเด็กไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน ร้องเพลงร่วมกับเด็ก/ร้องเพลงกล่อมเด็ก  ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่นวาดรูป นับเลข  อ่านหนังสือ/ดูสมุดภาพกับเด็ก  และอันดับสุดท้ายคือเล่านิทานเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กฟัง  เห็นได้ชัดนะคะว่าการอ่านหนังสือและการเล่านิทานจะอยู่ลำดับท้าย เลย

                มาในเรื่องการสำรวจเรื่องการอ่านหนังสือของคนไทย ปีพ.ศ. 2551 
  - มีการสำรวจจำนวนหนังสือสำหรับเด็กที่มีอยู่ในบ้าน กำหนดให้มีอย่างน้อย 3 เล่ม พบว่า เด็ก 0-5 ปี อาศัยอยู่ในบ้านที่มีหนังสือสำหรับเด็กร้อยละ 40.7  หากแบ่งสัดส่วนเป็นทั่วราชอาณาจักร กรุงเทพฯ จะมีสูงสุด ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นลำดับสุดท้าย
  -  พบว่าเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ทั่วประเทศมีประมาณ 5.9 ล้านคน มีผู้อ่านหนังสือเองหรือผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง(นอกเวลาเรียน) ประมาณ 2.1 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของเด็กเล็กทั้งหมด
  -  ในกลุ่มเด็กเล็กที่อ่านหนังสือหรือมีผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง อ่านหนังสือสัปดาห์ละ 2- 3 วัน มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 39.6 และใช้เวลาในการอ่านเฉลี่ย 27 นาทีต่อวัน

หนังสือภาพสำหรับเด็กกับบริบทของสังคมไทย
        -เนื้อหาหนังสือที่แต่งโดยคนไทยจะมีแก่นเรื่องความมีน้ำใจมากที่สุด เมื่อพิจารณาในประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ก็มีประเด็นการสร้างความผูกพันธ์มากกว่าประเด็นอื่น ๆ  **ความมีน้ำใจและการสร้างความผูกพันธ์ฐานของสังคมอุปถัม? เรื่องนี้น่าคิดเนอะ
        -ลักษณะตัวละครส่วนมากจะเป็น “แม่” ปรากฎมากกว่า “พ่อ” สะท้อนบทบาทการเลี้ยงดูลูกถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่เพศหญิง อันนี้ปกติเนอะ
        -จากการวิเคราห์ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” หนังสือที่แต่งโดยคนไทย ไม่มีการนำเสนอในประเด็น “ไม่ใช้ความรุนแรง”  อืม....หรือคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นถึงปัญหาของการใช้ความรุนแรงกับเด็กอย่างแท้จริง  อาจจะเห็น .... แต่มองว่าเรื่องเล็ก ทั้งที่จริง ๆ เป็นเรื่องใหญ่มาก
        -หนังสือของไทยส่งเสริมในเรื่องความสุภาพ แต่เป็นลักษณะด้านการใช้คำพูด เช่นการพูดมีหางเสียง ไปลามาไหว้อารมณ์นั้น
        -หนังสือภาพส่วนหนึ่งส่งเสริมให้ภูมิใจกับภูมิปัญญาไทย นำเสนอการละเล่นของไทย ขนมไทย วัสดุที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน และชีวิตในท้องทุ่งแบบดั่งเดิมของไทย ส่งเสริมให้เด็กภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของความเป็นไทย  สังเกตุได้ว่าหนังสือภาพเปล่านี้ล้วนนำเสนอในรูปแบบร้อยกรองแทบทั้งสิ้น  แต่แปลกนะคะ เด็กไทยที่แม่ดาวเห็นส่วนมากก็ยังนิยมชาติอื่น ๆ ในโลกมากกว่าที่ไม่ใช่ชาติไทย เช่นเกาหลี อะไรแบบนี้เป็นต้น หรือเรายังปลูกฝัง ส่งเสริมกันน้อยเกินไป  

         ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใหญ่จะสร้างโอกาสให้เด็กได้รับเรื่องราวเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด  ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสรรค์งานเขียน สำนักพิมพ์ว่าจะสร้างโอกาสให้เด็กได้รับเรื่องราวอย่างไร  เรื่องนี้น่าสนใจและน่าติดตามกันต่อจริง ๆ เนอะ จบไปกับช่วงเช้า  

        ช่วงพักแม่ดาวก็เดินเลือกซื้อหนังสือนิทานตามสัญญากับน้องดีโด้ว่าแม่จะซื้อนิทานมาฝาก  ตอนแรกก็ไม่ตั้งใจจะอุดหนุนมากมายขนาดนี้ แต่ด้วยความเห็นใจที่ทางสำนักพิมพ์ต่าง ๆ อุตส่าหอบหิ้วหนังสือมาวางขาย แต่ดูแล้วเห็นคนที่จะซื้อน้อยจริง ๆ และแม่ดาวเองเข้าใจความรู้สึกตรงนี้มากเคยทำงานอยู่สำนักพิมพ์และอยู่ฝ่ายจัดจำหน่ายมาก่อน  ไหนจะขนหนัก ขายไม่ดีกลับไปก็โดนเจ้านายว่าอีก ก็เลยร่วมด้วยช่วยกัน ซื้อเกือบทุกสำนักพิมพ์ที่เขามาวางขาย  

        กิจกรรมช่วงบ่ายก็เรื่อย ๆ แบบวังเวงมากมาย คนหายไปไหนกันหมด มองไปเห็นแต่เก้าอี้กับคนจัดกิจกรรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหายไปเกือบจะหมด ช่วงบ่ายมีการแสดงความสามารถของเด็กน้อยคนนึงมาเล่านิทานเรื่อง “ปลาสายรุ้งและผีเสื้อโบยบิน” เก่งมากเลยค่ะ ต้องชื่นชมทั้งเด็กและผู้ปกครอง น้องกล้าแสดงออกแบบไม่ตื่นเวทีเลย  ต่อมาก็มีการร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ “อ่านอย่างไรกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการลูกรัก”    
    
     ตอนแรกแม่ดาวคาดหวังกับกิจกรรมนี้มาก ว่าวันนี้จะต้องได้เทคนิคดี ในการเล่านิทานกลับไปประยุกต์ใช้กับลูก แต่ผลิกโผค่ะ ก็เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั่ว ๆ ไป เช่น หนังสือประเภทไหนที่ลูกชอบ  พฤติกรรมและผลที่เกิดกับลูกเมื่อเราอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ดำเนินกิจกรรมโดยคุณศรีวิภา เลี้ยงพันธุ์สกุล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทีมงาน  น่าเสียดายที่หัวข้อ “อ่านอย่างไรให้ลูกสนใจ” ไม่ค่อยได้รับการเน้นเท่าไหร่ ตัวแม่ดาวตั้งใจมากกับหัวข้อนี้  แต่ก็ได้รับประสบการณ์ดี ๆ มากมาย และได้รับเกียรติอย่างยิ่งให้เข้าร่วมเป็นคนต้นเรื่อง เป็น 1 ในคุณแม่ที่มีประสบการณ์อ่านหนังสือให้ลูกฟัง  แต่เป็นอะไรที่ค่อนข้างกดดันเล็ก ๆ ค่ะ ที่เชิญมาทุกท่านดูจะเป็นประเภทครอบครัวนักอ่านกันทั้งนั้น ส่วนแม่ดาวเนี้ย แกะดำที่สุด ตัวเองก็ไม่มีนิสัยรักการอ่านสักเท่าไหร่ อุตส่าหน้าด้านไปเข้าร่วมกิจกรรมกับเขาได้ แต่ก็ประทับใจนะคะ ทุก ๆ ท่านล้วนเป็นกัลยาณมิตรกันทั้งนั้น บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง น่าเสียดายนะคะที่คนให้ความสนใจกันน้อยมากจริง ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งนั้น

       แอบกดดันตัวเองเล็กๆ ยิ่งได้พูดเป็นคนที่ 3 แถมคุณแม่คนก่อนหน้าแม่ดาวเนี้ยที่สุดของนักอ่าน และครอบครัวนักอ่าน แถมมาไกลจากต่างจังหวัดเลย มีความมุ่งมั่น ตั้งใจมากที่จะมาร่วมงานนี้ น่าชื่นชมอย่างยิ่งค่ะ  ยังดีนะคะที่แม่ดาวเป็นคนประเภท “ยอมรับ และมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น” ขำ ๆ กันไปค่ะ ไม่คิดมาก ขากลับ กลับบ้านพร้อมขนมเค้กที่ทางทีมงานแจกมาอร่อยมากค่ะ ต้องขอบคุณมา ณ โอกาสนี้   เป็นอีก 1 วันที่เหนื่อย ๆ กายนะ แต่ไม่เหนื่อยใจเท่าไหร่  บวก ๆ เข้าไว้ ความรู้อยู่รอบ ๆ ตัวเราค่ะ  เพียงแต่เราจะมองเห็นและพร้อมที่จะเรียนรู้มันไหม