วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทลงโทษ เมื่อลูกกระทำผิด

        อ่านหัวข้อแล้ว คิดว่าหลายท่านต้องรีบคลิกเข้ามาอ่านแน่ ๆ ฮ่าๆๆ  เพราะหากจั่วหัวว่าปรับพฤติกรรมเนี้ยอาจจะธรรมดา ไม่เร้าใจพอ ปกติของพ่อแม่ส่วนใหญ่เนอะ ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด จะได้หลาบจำ คิดกันประมาณนี้หรือเปล่าค่ะ อิอิ หลงกลเราซะแล้ว ตั้งใจพาดหัวข้อให้เร้าใจไปอย่างงั้นแหละ จะได้เข้ามาอ่านกัน หุหุ อันที่จริงคำว่า “ลงโทษ” เนี้ยในการสร้างวินัยเชิงบวกคงไม่มีเนอะ เอ....หรือมี ใครรู้ช่วยบอกหน่อยนะคะ ไม่รุ้จะใช้คำว่าอะไรถึงจะเหมาะสมกับการสร้างวินัยเชิงบวกเนอะ 
        เอาเป็นว่าเมื่อลูกทำผิดข้อตกลงที่คุยกันไว้ หรือทำพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น แม่ดาวจะทำดังนี้

        1.  ให้ลูกเลือกว่าจะเลือกอะไร ระหว่าง....วิธีการทำโทษ.ก.....กับ. วิธีการทำโทษ .ข.......... ให้ทางเลือกเชิงบวก ไงค่ะ ทำผิดก็ยังเลือกได้อีก เช่น ตกลงกันว่าตอนเช้า หากพี่นาฬิกาปลุกแล้ว ลูกไม่ตื่น กดปิดเสียงแล้วนอนต่อ ลูกจะให้แม่ทำยังไงดีค่ะ ระหว่าง ลดนิทานก่อนนอนลง 1 เรื่อง หรือ งดดูการ์ตูนย์ตอนเช้า ใจดีเนอะ มีให้ดูการ์ตูนย์นิดหน่อยก่อนไปด้วยหากเขาตื่นเช้า แต่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ เสริมสร้างภาษาที่แม่ดาวไม่ถนัดเอาซะเลย ไม่แนะนำให้ทำตามนะคะ อันที่จริงก็ไม่สนับสนุนเรื่องนี้เท่าไหร่  อันนี้สำหรับดีโด้จะคิดหนัก นิ่งไปสักพัก ก็ตอบว่า “ลดนิทาน 1 เรื่องก็ได้” แต่แม่........................บ่นไป ตัดบทไปว่า “ยังไงซะหากลูกตื่นตามเวลาที่พี่นาฬิกาบอก นิทานของหนูก็อยู่ครบทุกเรื่อง แต่ก็ต้องอยู่บนบรรทัดฐานกติกาเดิมที่เราคุยกันไว้ล่าสุด ที่ปรับปรุงใหม่ไม่นาน โดยให้สิทธิน้องดีโด้เป็นคนคิด คือ หากเข้านอน  1 ทุ่ม (19.00น.) ได้ฟัง 6 เรื่อง, 2 ทุ่ม ได้ฟัง 5 เรื่อง และสุดท้าย 3 ทุ่มได้ฟัง 1 เรื่อง  หากเข้านอนดึกกว่านี้อดฟังทุกเรื่องฮ่าๆๆ 
        ส่วนเรื่องการปลุก แม่ดาวก็ให้เขาเลือกนะคะ ว่าจะให้แม่ปลุก หรือจะให้พี่นาฬิกาปลุก น้องดีโด้เป็นเด็กประเภทต้องเร้าใจกันตลอด ต้องปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ  แต่ก็มีหลายครั้งที่ไม่มีใครปลุก เขาก็ตื่นมาเอง ตื่นเช้าด้วยนะ  ก็คละ ๆ กันไปแหละ
        สรุปวิธีนี้คือให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเลือกเองว่าจะโดนทำโทษโดยวิธีไหน แต่เราเป็นผู้เสนอทางเลือกเชิงบวกที่เรารับได้และคิดว่าลูกก็น่าจะรับได้เช่นกัน ทำไม่ยากนะคะข้อนี้ แล้วหากเขาทำผิดข้อตกลง เราก็เอามาอ้างได้อีกว่า แม่ไม่ได้เป็นคนเลือกจะทำแบบนี้กับลูกนะ  นี่เป็นทางที่ลูกเลือกเอง ฮ่าๆๆ
       
        2. ริบของ และเสนอทางเลือกเชิงบวก  เช่น ตกลงกันเรื่องการเล่นของเล่นแล้วว่า หากเล่นแล้วต้องเก็บด้วยตัวเอง หากไม่ทำตามข้อตกลง แม่ต้องเก็บของเล่นเหล่านั้น งดเล่นเป็นระยะเวลา  3 หรือ 7 วันครับ  ให้ลูกเลือกอีก ใจดีอีกแล้วเนอะ  แน่นอนหากลูกไม่เลือกก็ทำแบบเดิมค่ะ  “ลูกจะเลือกเอง หรือให้แม่เลือกคะ”   ทันทีค่ะดีโด้เลือก 3 วันแน่ ๆ เลือกแล้วก็มีบ่นแหละ  เราก็ฟังเฉย ๆ ไม่โต้ตอบอะไร เก็บจริง งดจริง ไม่มีใจอ่อน  และไม่อ่อนใจกับพฤติกรรมเขาด้วย ระยะหลัง ๆ มาเนี้ยโดนไม่ค่อยบ่อยแล้ว เข็ด แม่ดาวไม่ดุนะ ทำแบบประมาณว่าเข้าใจนะลูก แต่มันผิดข้อตกลง แม่จำเป็นต้องทำฮ่าๆๆ

        3.   ทำตัวเป็นหุ่นยนต์ระบบเสียงเสีย   บางทีแม่ดาวก็เหนื่อย ๆ คิดอะไรไม่ออก ก็ทำนิ่งซะ หน้านิ่ง ไม่พูด ไม่สนใจ แต่เชื่อไหม วิธีนี้ได้ผลมากกับดีโด้ เขาจะร้อนร้อนมาก ที่แม่ไม่สนใจ เพราะทุกทีแม่ดาวจะสนใจมากไง  แต่ก่อนจะเงียบไป จะบอกลูกประมาณว่า “ตอนนี้แม่ไม่พร้อมจะฟังอะไร หรือทำอะไร แม่เหนื่อย” จบ  เข้าสู่โหมดหุ่นยนต์ไร้อารมณ์  อันนี้คืออารมณ์แบบว่า ที่สุดของแม่ดาวแหละฮ่าๆๆ  ก็มีบ้างนะแต่ไม่บ่อยมาก
        หากเจอโหมดนี้ของแม่ดาว  เจ้าดีโด้จะหยุดตัวเอง และหันมาสนใจแม่ดาวแทน กลายเป็นแม่มีปัญหาแทน จะเข้ามาช่วยปรับอารมณ์และพฤติกรรมของแม่ให้เข้าสู่โหมดปกติ  พอเรา 2 คนอารมณ์พร้อมทั้งคู่แล้ว ค่อยบอกค่อยสอนกันอีกทีว่าอะไร ยังไง แต่เขาให้แน่ใจนะคะ ว่าทั้งเราและลูกพร้อมที่จะคุยกัน

        4. take a break  งงกันล่ะซิค่ะ  เอ....แม่ดาวภาษาอังกฤษบกพร่องจนจำผิดเปล่า จริง ๆ เขาต้องเรียกว่า  time out ไม่ใช่เหรอ     แม่ดาวเรียกถูกจริง  ๆ นะ อันนี้ตามที่ครูใหม่ครูหม่อมสอนแม่ดาวมาเลย เมื่อก่อนที่เป็นคุณแม่แบบบ้าอำนาจนิด ๆ ก็จะมีการจับลูกทำ time out อยู่บ้าง  พอได้รู้สึกกับ 101 สร้างวินัยเชิงบวกแล้วก็รู้สึกผิด รู้สึกว่ามันโหดไปไหม เลยส่งคำถามไปถามครู  ท่านมีเมตตากับแม่ดาวมากอธิบายว่า
        Time out  คือ เราแยกลูกไป ณ สถานที่ ๆ เราเตรียมกันไว้  และได้ซ้อมกันไว้แล้วด้วยนะคะตอนอารมณ์ลูกพร้อมว่า หากเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลูกจะต้องไปอยุ่ตรงไหน  ยังไง เป็นการแยกให้ขาออกไปสงบสติอารมณ์  และเราเป็นคนกำหนดเวลาให้ว่าลูกจะต้องอยู่อย่างนั้นนานแค่ไหน  (อยากให้กลับไปอ่านในเรื่องเก็บตกจากกิจกรรม “รับมือลูกวัย 0-6 ปี” วันที่ 7 สิงหาคม 55)
        Take a break ที่แม่ดาวเคยใช้และชอบใช้มากกว่า ด้วยวิธีการคล้ายกันค่ะ ต่างกันตรงที่เด็กเขาจะเป็นผู้กำหนดเวลาของเขาเอง คือ เมื่อไหร่ที่เขาพร้อม กลับมาได้เลย เรารออยุ่ ไม่ใช่เพราะเราสั่งเขาว่าต้องนั่งนานกี่นาที 
        แม่ดาวเคยใช้ time out กับลูกก่อนหน้าที่จะเรียนรู้เรื่อง take a break  มันรู้สึกผิดมาก ทำไปก็สงสารลูกไป แต่ก็ใจแข็งทำ  เห็นหน้าของลูกแล้วก็สงสารมาก คำพูดที่เขาสื่อสารออกมาอีก เล่าให้ครูฟัง ครูเลยบอกว่าไม่แนะนำให้ทำแบบนี้ ให้เปลี่ยนมาเป็น take a break
      ยกตัวอย่างนะคะ  สมมติ  น้องดีโด้เล่นกับพี่บีบี (นามสมมุติ) เล่นกันสักพัก ก็เกิดอาการหมั่นเขี้ยว ตีหัวพี่บีบี จนร้องไห้  ตีแรงและพี่เจ็บมาก  ทำผิดแล้วไม่รับผิด ไม่ขอโทษ อันที่จริงต้องพิจาณากันอย่างละเอียดนะคะ ว่าเขาตั้งใจจะตี หรือว่าเล่นแรงจนผิดพลาดทางเทคนิค  สมมุติเหตุการณ์นี้เป็นแบบตั้งใจจะตีให้พี่เจ็บ
        หากเป็น  time out  น้องดีโด้จะโดนนั่งเก้าอี้ ซึ่งที่เคยใช้ น้องดีโด้จะรู้จักในนาม “เก้าอี้สำนึกผิด”  ให้นั่งตามอายุ 1 ขวบ/ 1 นาที  จัดไป 5 นาที ตามอายุ เศษเดือนปัดทิ้งลดให้ใจดี ระหว่างนี้น้องดีโด้จะต้องแยกตัวไปนั่งคนเดียว นานถึง 5 นาที  ถึงจะกลับเข้ามาร่วมวงกับเราได้
        แต่ที่แม่ดาวแนะนำ เพราะครูแนะนำมา แล้วใช้แล้ว รู้สึกเองว่ามันดีกว่า คือ take a break  แม่ดาวจะบอกลูกว่า  “น้องดีโด้ควรนั่งสงบสติอารมณ์สักพักนะครับ ลูกกำลังโกรธมาก  นั่งพักตรงนี้ก่อน เมื่อไหร่ที่พร้อมจะคุยกับแบบไม่โกรธแล้ว แม่จะรออยุ่ตรงนี้” ก็บอกเขาไป  หากเขารุ้สึกสงบแล้ว เขาสามารถกลับเข้ามาหาเราได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาว่าจะกี่นาที 
        ข้อความเตือนสติที่ดีมาก ๆ ที่ครูใหม่ครูหม่อมให้ไว้คือ การสำนึกผิดใครกำหนด  เด็กหรือเรากำหนด  ตัวเด็กต่างหากที่เป็นคนกำหนด  หากเด็กพร้อมที่จะสำนึกผิดเร็ว แล้วมีเหตุผลอะไรที่เขาจะต้องมานั่งรอเวลา แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า 5 นาที เขาสำนึกผิดแล้ว อย่าลืมนะคะไม่ใช่เรากำหนด ตัวเด็กรู้ดีที่สุดให้เขากำหนดชีวิตเขาเองเนอะ
        เอาเป็นว่าแม่ดาวไม่ใช้ time out อีกเลย เมื่อรู้จัก take a break
        เอามา 4 ข้อ พอเป็นวิทยาทานเนอะ  หากท่านใดมีอะไรจะเสนอแนะเพิ่มเติม จัดมาเลยนะคะ แบ่งปันความรู้กัน เยอะ ๆ ยิ่งดี แม่ดาวจะได้จำไปใช้บ้าง

ได้ค่ะ ไม่มีปัญหา ยังไงซะ แม่จัดให้

        เรื่องนี้เป็นการใช้คำพูดที่แม่ดาวใช้ เวลาที่ลูกร้องโวยวายอยากได้ของเล่นใหม่  แต่แม่ดาวไม่ซื้อให้ เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม   เคยเป็นไหมค่ะ เวลาปฏิเสธลูกบ่อย ๆ กับเรื่องเดิม ๆ ด้วยนะ แล้วลูกจะโวยวายต่อต้านอาละวาดหนัก ถึงจะพูดดีขนาดไหน เกลี่ยกล่อมยังไงก็ไม่ยอมยุติสักที สงครามเริ่มยืดเยื้อ แม่ดาวก็เคยเจอค่ะ  ช่วงนั้นงัดกลยุทธ์มากมายก็ดูจะไม่ได้ผล  จนกลับมานั่งทบทวนกับครั้งหน้า หากเจอเหตุการณ์แบบนี้อีกเอาไงดีน้า

        ปิ๊ง....คิดออก เคยอ่านหนังสือมาผ่าน ๆ ตามากับกลยุทธ์นี้ ลองใช้ดูและได้ผลแฮะ  ผ่านไปนานมากแล้วที่ไม่ได้ใช้ เมื่ออาทิตย์ก่อนโน้นที่แม่ดาวกลับกาญจนบุรี  น้องดีโด้เวลาอยู่กับยายจะเป็นเด็กที่ว่าไม่นอน สอนก็ยาก ฮ่าๆๆ อาการดื้อกำเริบ  เนื่องจากรู้ว่ายังไงซะแม่ก็ต้องฟังยาย  ยายใหญ่กว่าแม่ว่างั้น เด็กเขาฉลาดค่ะ เรียนรู้ว่าอยู่ที่ไหนกับใครต้องทำตัวแบบไหน ยายใจดีมาก ตามใจหลาน หลานทานข้าวก็ป้อนให้ สั่งแม่ แม่ดื้อ ไม่ป้อนข้าวหลานยายป้อนเองก็ได้  อันนี้เป็นปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมของแม่ดาวนะคะ ฮ่าๆๆ ต้องเคารพท่าน เคยพูดคุยชักชวนโน้มน้าวหลายทีก็เห็นผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังติดจะเอาใจหลานชายสุดที่รัก เมื่อก่อนแรก ๆ แม่ดาวโดนยายดุบ่อย ๆ ต่อหน้าลูก เรื่องการเลี้ยงลูกนี่แหละ เราเลี้ยงแบบนี้ คุณยายน้องดีโด้เขาก็มองว่าเราเข้มงวดไป  แต่คนภายนอกมองว่าแม่ดาวเนี้ยสุดแสนจะตามใจลูกเลยนะ  เห็นไหมค่ะ ทำแบบเดียวกัน แต่มุมมองที่คนมองก็ต่างกันราวฟ้ากับเหว  เอาเป็นว่าเราต้องมีหลักในการปฏิบัติของเราไม่ต้องไปบังคับใครเขาให้มาเข้าใจ เหนื่อยใจเปล่า ๆ เนอะ

        เข้าเรื่องดีกว่า  ไปโลตัสที่กาญจนบุรี  ดีโด้ผ่านไปเห็นของเล่นคือ หุ่นยนต์ ฮีโร่แฟคตอรี่ เป็นหุ่นยนต์ที่เขาชอบมาก และก็มีแล้ว เขาไม่เคยดูนะคะว่าเรื่องเนี้ยเรื่องราวเป็นอย่างไร แต่ติดใจรูปลักษณ์ของหุ่น เป็นพลาสติก เวลาจะเล่นต้องประกอบชิ้นส่วนเอง ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ โดยเราให้เขาดูแบบคอยบอกว่าเริ่มจากตรงไหนในแบบ 1 คืออะไร ให้เขาหาชิ้นส่วนเองโดยดูจากแบบและประกอบเองตามแบบ แทบจะไม่ช่วยเลย เขาเก่งเลยแหละ  แม่ดาวบางทียังงง แต่เขากลับต่อได้ถูก คือตัวเองไม่ชอบเล่นพวกของที่ต้องใช้สมองมากนักฮ่าๆๆ  

        แต่ตัวที่เขาเห็นที่โลตัสเป็นของเลียนแบบ ประกอบเสร็จมาแล้ว แต่อยากได้เพราะเท่ห์มาก  แม่ดาวก็เข็นผ่านไปแบบไม่ได้สนใจมากนัก เพราะตกลงกันตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากกรุงเทพฯ แล้วว่า ของเล่นที่บ้านยายไม่มี อยากเล่นอะไรให้ลูกจัดการเตรียมไว้ แต่เขาก็บอกว่าไม่เอา เอาแค่นิทานไปไม่กี่เล่ม  เขาบอกว่าอยุ่บ้านยายต้องเล่นขุดดิน  วิ่งเล่น (เล่นอยู่กับธรรมชาติ) เขาก็บอกแบบนี้ เราก็ไม่ได้เอาของเล่นอะไรไปสักชิ้น

        พอเห็นหุ่นยนต์ตัวนี้ โวยวายเลย

ดีโด้          แม่ ครับ มาบ้านยายไม่มีของเล่นเลยสักชิ้น ขอซื้อ 1 ชิ้นได้ไหม
แม่            เราตกลงกันว่าไงครับลูก 

        เดินผ่านไป ดีโด้ก็บ่น ๆ แหละ แต่ก็ยังไม่ถึงขนาดโวยวาย อะไรมากนัก เนื่องจากยายแยกไปซื้อของแล้วก่อนหน้า  เดินมาด้วยกัน 2 คน  ก่อนหน้านี้ก็หลับในรถมาและโดนปลุกให้ตื่นเพื่อลงมาซื้อของด้วยกัน ดังนั้น อารมณ์จึง บ่ จอย เท่าไหร่ นอนไม่พอ อารมณ์ก็ไม่พร้อมไปด้วย มันส่งผลถึงกันอย่างเห็นได้ชัดทุกครั้ง หากร่างกายไม่พร้อม อารมณ์ก็จะไม่พร้อมไปด้วยทุกที 
ขากลับก็ต้องเดินผ่านร้านของเล่นร้านนี้ แต่ ณ ขณะนั้น กลับพร้อมกับคุณยายด้วย  และแล้วก็เป็นอย่างที่คิดไว้ล่วงหน้า นี่ถ้าแม่ดาวทำนายทายหวยได้แม่น แบบนิสัยลูกเนี้ย รวยไปแล้ว อิอิ

ดีโด้          ดีโด้จะเอา ๆๆ  แม่ไม่รักลูก คนรักลูกเขาไม่ทำกันแบบนี้หรอก แม่ใจร้าย ฯลฯ (สารพัดจะพูด)

ตะโกนเสียงดัง ไม่ได้หวังว่าแม่จะอาย รู้ว่าแม่ไม่อายแน่ ๆ แต่ยายนี่ซิ หึ ๆ กลุ่มเป้าหมายของงานนี้

ยาย          ดีโด้  เป็นอะไรลูก อยากได้อะไรนะ ไหนพูดกับยายซิ พูดดี ๆ โวยวายแบบนี้ยายฟังไม่รู้เรื่อง

ฮั่นแน่ คุณยายแอบเอาคำพูดของแม่ดาวไปใช้ด้วยนะ  แต่ใช้ยังไม่ถูกวิธี 

ดีโด้          (แผดเสียง+ร้องไห้)  ดีโด้อยากได้หุ่นยนต์ฮีโร่แฟคตอรี่สีดำ ตัวนั้น มันเท่ห์มากเลย ดีโด้ชอบมาก ดีโด้ยังไม่เคยมีหุ่นยนต์แบบนี้ ฮือๆๆๆๆๆ ดีโด้อยากได้ ๆๆๆ ยายซื้อให้หน่อยแงๆๆๆ

ยาย          (หันมามองหน้าแม่ แม่ส่ายหน้า)  ตอนยายสมัยเด็ก ๆ นะ ยายไม่มีเงินซื้อของเล่นแบบนี้เลย  แล้วที่บ้านดีโด้ยายเห็นหุ่นพวกนี้เต็มไปหมด เก็บเงินไว้เรียนหนังสือดีกว่าลูก

อารมณ์แบบนี้เขาไม่ฟังหรอกค่ะ กิเลศครอบงำ กำลังกายมีน้อย กำลังสติก็พลอยลดน้อยไปด้วย  ผลก็เลย
               
เชื่อว่าคุณยายพยายามอย่างมาก แต่ไม่สำเร็จ เพราะดีโด้รู้ว่าหากตื้อต่อต้องได้แน่ ๆ แม่ดาวเลยต้องส่งสัญญาณ มามะ แม่ดาวจัดการเอง ด้วยสายตาและท่าทาง คุณยายรับรู้ได้ และถอย อันที่จริงอยากจะบอกคุณยายเหมือนกันว่าให้คุณยายเดินไปก่อน แต่ก็กลัวว่าหากพูดไปแล้ว เดี๋ยวคุณยายน้อยใจอีก คนแก่ยิ่งขี้ใจน้อยอยู่ด้วย หากคุณยายไม่อยู่ตรงนั้น อะไร ๆ จะง่ายกว่าเยอะ

แม่            ดีโด้ครับ แม่เข้าใจว่า หุ่นตัวนี้ลูกอยากได้มาก แม่ก็เห็นว่ามันเท่ห์มากเลยนะครับ  อืม....ได้ครับ แม่จะซื้อให้นะ ตัวนี้เลยหรือเปล่าลูก

ดีโด้          (ได้ยินแบบนี้ สงบลงเห็นได้ชัด) ใช่ครับ ตัวนี้เลย มันเท่ห์มาก 

แม่            ได้ครับได้ ตัวนี้ใช่ไหม วันเกิดลูกนะ แม่จะซื้อให้นะครับ 

ดีโด้          (คงนึกในใจ อีกแล้ว ประโยคนี้อีกแล้ว)  ไม่ เอา ๆๆ ดีโด้จะเอาวันนี้ เดี๋ยวนี้ ซื้อเลย

แม่ยังใจเย็น พูดนิ่ง ๆ อย่างเข้าใจว่า

แม่            ดีโด้ครับ แม่ซื้อให้แน่ ๆ แม่สัญญา  วันเกิดลูก ยังไงซะได้แน่ ๆ รับรอง แม่รักษาสัญญาอยุ่แล้วใช่ไหม

ดีโด้          ใช่ แต่ดีโด้จะเอาวันนี้ตอนนี้ 

แม่            ครับ ได้แน่ ๆ แม่ซื้อให้แค่ไม่ใช่วันนี้ แต่รับรองว่าได้แน่ ๆ  ไปครับลูกจะเดินไปเอง หรือจะนั่งรถเข็น(รถเข็นของโลตัส)ไปขึ้นรถครับ (ตอนนั้นก็ส่งสัญญาณให้ยายเดินไปก่อนได้เลย)

ดีโด้ไม่ยอมเลือก งอน แต่อาการไม่โวยวายเท่าตอนแรกแล้ว  แต่ก็ยังโวยวาย ร้องไห้อยู่

แม่            ดีโด้จะเลือกด้วยตัวเอง หรือดีโด้จะให้แม่เป็นคนเลือกครับ

ดีโด้หากได้ยินประโยคนี้เมื่อไหร่จะชิงเลือกก่อนทันที เพราะเคยโดนมาแล้วที่ไม่เลือก หากครั้งนี้ให้แม่ดาวเลือก นั่นหมายถึงดีโด้ต้องเดินไปที่รถด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ดีโด้          นั่งรถเข็นไป  แต่ดีโด้อยากได้หุ่นยนต์

        แม่ดาวก็เข็นไปเลยค่ะ  เขาก็บ่นโวยวายไปตามประสา เด็กที่อ่อนเพลีย ง่วงนอน บวกอาการปวดเท้ากำเริบด้วย คือดีโด้จะมีโรคปวดฝ่าเท้า เป็นโรคประจำตัว หากปวดเมื่อไหร่ หมายถึงแม่ดาวต้องเหนื่อยปรับอารมณ์อีกเยอะ  เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปกติที่แม่ดาวก็ยอมรับ เรียนรู้ อยู่กับปัจจุบัน ฮ่าๆๆๆ ๆ  ปวดขมับเล็ก ๆ นะคะ แต่ก็ผ่านไปได้   

      พอขึ้นรถก็ยังโวยวาย ๆ อยู่ แม่ดาวยิ่งขับรถเก่ง ๆ อยู่ ต้องบอกกับลูกอีกครั้งอย่างหนักแน่นว่า

แม่            เวลาแม่ขับรถ หากลูกโวยวายแบบนี้ จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายนะครับ ไม่ใช่แค่แม่เจ็บ แต่เจ็บกันทั้งคันรถเลยนะลูก เพราะแม่จะเครียดและไม่มีสมาธิในการขับรถ

ดีโด้          แม่ครับ ขอดีโด้พูดอีกหน่อย พอถึงวันเกิดดีโด้แล้ว แม่ช่วยไปบอกคนที่เขาผลิตหุ่นยนต์ด้วยว่า ให้ผลิตรุ่นนี้มาเยอะ ๆ ดีโด้กลัวมันจะหมด (ฮ่าๆๆ กว่าจะถึงวันเกิดคือ ปีหน้า รู้ว่านานมาก) 

แม่            ได้ครับ แม่จะโทรไปบอกให้นะครับ แต่แม่ไม่รับปากนะว่าเขาจะทำตามที่แม่บอกได้หรือเปล่า หากหุ่นรุ่นนี้ขายดีมาก แม่คิดว่าเขาก็ผลิตเยอะอยู่แล้ว    แต่แม่กลับคิดว่ากว่าจะถึงวันเกิดลูกพวกของเล่นหุ่นยนต์พวกนี้ก็พัฒนาไปแบบที่ลูกคงจะตัดสินใจเลือกลำบากอีกแน่ ๆ  เพราะพวกคนผลิตเขารู้วิธีการล่อหลอก ยั่วกิเลศเด็กเก่ง 

ดีโด้ฟังแล้วก็เงียบไป  ขับรถไปได้สักพัก  ก็ได้ยินเสียงเด็กอารมณ์ดี พูดคนเดียว

ดีโด้          (หัวเราะคนเดียว) กว่าจะถึงวันเกิดดีโด้ ต้องมีหุ่นยนต์ของเล่นเจ๋ง ๆ แน่ ๆ อิอิ ไม่รู้จะเลือกถูกหรือเปล่าว่าจะเอาตัวไหน  (พูดเบา ๆ อยู่หลังเบาะแม่)

แม่            นั่นซิครับ แม่ก็ว่าอย่างงั้นแหละ มันคงจะเยอะมาก จนตัดสินใจลำบากแน่ ๆ

ดีโด้          อ้าว....นี่ขนาดดีโด้คิดในใจนะเนี้ย ทำไมแม่ได้ยิน

ฮ่าๆๆ  นี่เข้าใจอะไรผิดแน่ ๆ คิดในใจ คือไม่มีเสียงพูดออกมา หากพูดออกมาแบบนี้เขาเรียกว่าพูดกับตัวเองเบา ๆ มั้ง 

      กรณีศึกษาอันนี้ ที่ตั้งใจยกตัวอย่างนี้มาก ทั้งที่จริง ๆ ก็มีหลายเหตุการณ์ที่พูดว่า “ได้ครับ แล้วแม่จะซื้อให้ เมื่อ...............”  แค่พูดแค่นี้ ปกติน้องดีโด้เขาก็ไม่ได้ร่ำร้องอะไรต่อ เพราะเป็นที่เข้าใจตรงกัน แต่เหตุการณ์นี้ยากตรงที่เขาไม่พร้อมทางด้านร่างกายยและอารมณ์  ประกอบกับอยู่กับคุณยาย  ยกตัวอย่างยาก ๆ ให้เห็นภาพว่าถึงยังไงก็ยังจัดการได้ ถึงจะทุกลักทุเลพอสมควรก็ตาม   

        สรุปคือ  เราเขาเรียกร้องอยากได้อะไร บางครั้งหากเราพูดว่า “ได้ค่ะ”  ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ  เราก็คิดอยู่แล้ว่ว่า “ไม่ได้”  แต่หากเราพูดปฏิเสธออกไปตรง ๆ เขาก็จะยิ่งโวยวาย  พูดแล้วเราต้องทำได้จริง ๆ นะคะ  แต่เรื่องนี้ที่แม่ดาวสัญญาไว้ แม่ดาวก็จัดให้แน่ ๆ เพราะรักษาสัญญา  วันเกิดเขามีสิทธิ์ที่จะได้ของที่เขาอยากได้เป็นพิเศษ หากเราสามารถให้ได้  เป็นขวัญและกำลังใจ  ของชิ้นนี้แม่ดาวมองแล้วว่ามันมีมูลค่าที่แม่ดาวสามารถให้เขาได้ และไม่ได้แพงจนไม่สมเหตุสมผล  หากถึงวันเกิดเขาอยากจะได้อย่างอื่นแทน แม่ดาวก็ไม่มีปัญหา แต่จะทวงถามก่อนว่า  ลูกเคยบ่นว่าอยากได้หุ่นยุนต์ฮีโร่แฟคเตอรี่นะ  เตือนให้เขาคิดดี ๆ ตัดสินใจอีกครั้ง และบอกเขาว่าเราไม่ลืมสิ่งที่เราสัญญากับเขา  หากเปลี่ยนใจเอาชิ้นอื่นก็ไม่มี
ปัญหา แต่ต้องอยู่ในขอบเขตมูลค่าที่แม่ดาวเห็นว่าเหมาะสมนะคะ

        ขออีกตัวอย่างอีกนิดนะคะ เกี่ยวกับเรื่องพูดว่า  “ได้” ทั้งที่ จริง  ๆ มัน “ไม่ได้”
        เช่น  หากลูกบอกว่าอยากได้รองเท้าคู่ใหม่  ทั้ง ๆ ที่มีเต็มบ้านไปหมดแล้ว และร้องไห้โวยวายจะเอาให้ได้  เราก็บอกลูกไปว่า “ได้ค่ะ คู่นี้พังแล้ว แม่จะซื้อคู่ใหม่ที่สวยถูกใจให้ลูกเลยนะคะ  ให้ลูกไปเลือกด้วยตัวเองเลยนะจะได้สวยถูกใจหนูเนอะ”
ปฏิเสธแบบนุ่มนวลจริงไหม   หากอยากได้มากจริง ๆ เขาก็คงยังต้องโวยวายอยู่ ก็ยืนยืนคำเดิมสั้นลงยิ้ม ๆ  “ได้ค่ะ  ได้ไงค่ะ แม่บอกแล้วว่าแม่ซื้อคู่ใหม่ให้แน่นอน หลังจากที่คู่นี้พังแล้ว” โวยวายอีกคำเดิมค่ะ “เอ.....ลูกเข้าใจผิดหรือเปล่าน้า  แม่บอกว่าซื้อให้นะคะ ไม่ใช่ไม่ซื้อ” ตีมึนไปเรื่อย  แม่ดาวทำแบบนี้ก็บ่อยนะ ได้ผล  

        ****เด็กแต่ละคนมีนิสัยต่างกัน  วิธีเดียวกัน คำพูดเหมือนกัน อาจใช้กับเด็กคนนึงได้ผล กับเด็กอีกคนอาจคนละเรื่อง เราเป็นแม่ เป็นผู้ปกครองใกล้ชิดเด็กที่สุด เลือกเอานะคะ คิดว่าแบบไหนที่น่าจะใช่ที่สุด มันต้องทดลองเรื่องเนี้ย แต่ที่สำคัญอย่าลืมเวลาที่เราพูดเนี้ย อารมณ์เราพร้อมขนาดไหน พร้อมที่จะเย็นนะคะ ไม่ใช่พร้อมที่จะเหวี่ยง  หากโกรธจัดไม่ต้องพูดอะไรดีกว่า  เดินหนีไปจากจุดเกิดเหตุดีที่สุด หากเรายังไม่พร้อมที่จะคิด ไม่พร้อมที่จะพูด  ให้ใจเบา ๆ ใจเย็น ๆ ก่อนค่อยคิดหาหนทางนะคะ
       
          

ปัญหาคาใจเกี่ยวกับการสร้างวินัยเชิงบวก

           อยู่ ๆ ก็นึกถึงหัวข้อนี้ขึ้นมา  เหล่านี้เป็นปัญหาที่ตัวเองสงสัยใคร่รู้ตอนเริ่มใช้การสร้างวินัยเชิงบวกแบบถูกทาง

        1.  การสร้างวินัยเชิงบวกมุ่งเปลี่ยนพฤติกรรมใครกันแน่
        อันที่จริงจากประสบการณ์การสร้างวินัยเชิงบวกไม่ได้มุ่งเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก แต่มุ่งเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพ่อแม่เสียมากกว่า  เพราะพ่อแม่คือ ต้นแบบ ของลูก และเป็นต้นเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเหล่านั้น   หากเรายังมองลูกด้วยสายตาว่าลูกเป็นเด็ก “เจ้าปัญหา” เขาก็คงจะเป็นเด็กเจ้าปัญหาอยู่อย่างนั้น  แม่ดาวตอนแรก ๆ ที่เริ่มใช้แล้วไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะมัวไปมุ่งที่จะเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของลูกเสียเป็นหลัก   ใช้ไปสักระยะมองเห็นแจ่มชัดว่า นี่มันผิดนี่นา  เราต้องเปลี่ยนที่ตัวเราต่างหาก หลายเรื่องของลูกที่เรามองว่าสร้างปัญหา เป็นปัญหา อันที่จริงแล้วมันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรามองปัญหานั้นเสียใหญ่โต และลูกก็จะคิดตามเราเช่นกันว่า “เขาเป็นเด็กมีปัญหา” เขาเป็นเด็กไม่ดี ทำให้พ่อแม่ปวดหัว ไม่สบายใจ เขาเองก็พลอยจิตตกกับเราไปด้วย  ทั้ง ๆ ที่อันที่จริงมันก็ไม่ใช่ปัญหาของเขาเลย เป็นเรื่องปกติมาก ๆ ในสิ่งที่เขาเป็น  เราต่างหากที่มองว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โต 
        หลาย ๆ ครั้งต้นเหตุก็เกิดจากที่ตัวเราพ่อแม่นี้แหละค่ะ ที่ไปจุดชนวนพฤติกรรมร้าย ๆ ให้กับลูก โดยที่เราไม่รู้ตัว  หากใช้สติปัญญามองให้ดีแล้ว เราจะรู้สึก ระลึกรู้ได้เลย อย่างที่แม่ดาวก็มานั่งมองย้อนดูพฤติกรรมตัวเองบ่อย ๆ  เช่น บางทีแค่เราเปลี่ยนคำพูดนิดนึง ปรับอารมณ์ตัวเองอีกสักหน่อย ลูกจะคล้อยตามและไม่อาละวาดเป็นปีศาจแบบนี้ หึ ๆ ลองนั่งทบทวนกันนะคะ  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นปัญหาของลูกจะเกิดขึ้นจากตัวเราทั้งหมด  เพราะบางครั้งปัญหานั้นก็อาจเกิดจากความคิดและพฤติกรรมของตัวลูกเอง 
        ดังนั้นเราต้องมองปัญหาให้ออกว่า ปัญหาที่เกิดนั้นแท้จริงเกิดจากใคร  ผู้ปกครอง หรือ ตัวเด็ก เราจะได้แก้ให้ถูกจุดนะคะ

        2.  การสร้างวินัยเชิงบวก ทำแล้วปราศจากน้ำตา หรือความขัดแย้งกับลูกเลยใช่ไหม หรือลูกของเราจะดีขึ้นเห็นทันตาเลยหรือเปล่า 
        ข้อนี้จากที่แม่ดาวใช้มาเอง การสร้างวินัยเชิงบวกไม่ได้ใช้แล้วลูกเราจะไม่มีปัญหาปราศจากน้ำตา แต่เป็นการลดความขัดแย้งให้น้อยที่สุด กระทบกับความรู้สึกลูกและเราน้อยที่สุด บางทีบางเหตุการณ์ก็ไม่เกิดความขัดแย้งใด ๆ เลย ปราศจากน้ำตาเลยก็มี  แต่ที่ไม่มีเลยแน่ ๆ
คือการทำร้ายร่างกาย ความบอบช้ำจากบาดแผลทางกายอันนี้ไม่มี เพราะเราไม่ทำฮ่าๆๆๆๆ     ส่วนเห็นผลได้เร็วมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัววผู้ปกครองและนิสัยของเด็กด้วย
        อย่างลูกชายแม่ดาว ซึ่งจัดประเภทเป็นเด็กเลี้ยงยากเนี้ย  อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าลูกคนอื่น ๆ ที่เขาอยู่ในประเภทเด็กเลี้ยงง่าย  แต่เห็นผลนะคะ เห็นได้ชัดแล้วด้วยตอนนี้  คนอื่น ๆ บางคนที่ไม่รู้จักตั้งแต่แรก อาจมองไม่เห็น แต่หากคนที่รุ้จักสนิทกันจะเห็นชัดเลยว่าเขาดีขึ้นมากมาย  ตัวเแม่ดาวเองซึ่งเป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดกับลูก บอกได้เลยว่า น้องดีโด้มี EQ และ IQ ดีขึ้นมากจากก่อนที่ใช่แบบมั่ว ๆ มึน ๆ ต้องบอกว่า หากเราใช้ถูก ใช้เป็นแล้วเราจะเห็นผลค่ะ  

        3.  การสร้างวินัยเชิงบวก หากเราใช้คนเดียวจะเห็นผลไหม จะประสบความสำเร็จหรือไม่
        ข้อนี้แม่ดาวตอบด้วยประสบการณ์ตรงเช่นกันว่า  เห็นผลค่ะ  เพราะแม่ดาวใช้เป็นอยู่คนเดียว ส่วนสามีออกแนวต่อต้านซะส่วนใหญ่ ส่วนจะประสบความสำเร็จได้ 100 % เลยไหม แม่ดาวไม่ยืนยัน  แต่ ณ ตอนนี้ แม่ดาวก็ยังเชื่อมั่นว่า “ทำดี ก็ต้องได้ดี”  ถึงเราจะทำคนเดียว แต่เป็นส่วนใหญ่ที่ลูกอยู่กับแม่ดาว  แม่ดาวถึงคิดว่าเขาก็น่าจะดีได้ในอนาคต   อันที่จริงปัจจุบันก็เห็นผลหลายอย่าง ชื่นใจหลายเรื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการที่การที่เขาเป็นเด็กที่ห่วงใยเอาใจใส่ความรู้สึกของเรา พูดขอบคุณ ขอโทษเราเองโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ  ฯลฯ 
        หากถามว่า ตอนนี้แม่ดาวมีปัญหาเรื่องลูกให้ปวดหัวอยู่ไหม  มีค่ะปัญหา แต่ไม่ค่อยจะปวดหัว รู้จักที่จะวางใจให้เป็น  เลยไม่ปวดหัวกับลูก แต่ที่ยังปวดหัวอยู่คือปัญหาพ่อของลูกฮ่าๆๆๆ ปัญหานี้โลกแตกนะ  แต่ก็ผ่อนคลายไปเยอะแล้วค่ะ  ตึงบ้าง ผ่อนบ้าง ตามประสา นี่แหละรสชาติของชีวิต มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

        อันนี้เป็นปัญหา 3 ข้อหลัก ๆ หนัก ๆ ที่เคยอยู่ในหัวแม่ดาว มาตอนนี้ตอบเองได้สบาย ๆ ต้องทำเองค่ะแล้วจะรู้ ไม่ทำไม่รู้   ใครบอกว่าการสร้างวินัยเชิงบวกดียังไง อย่าเพิ่งไปเชื่อนะคะ ฮ่าๆๆ ลองทำให้รู้ด้วยตัวคุณเองพิสูจน์ด้วยตัวเอง  เหมือน ๆ กับหากใครบอกว่ามะนาวนี้มันเปรี้ยว เราเห็นมะนาว ลูกเขียว ๆ กลม ๆ แบบนี้นะ มันต้องเปรี้ยว รู้เพราะคนอื่นบอก ๆ ต่อกันมา  แต่ไม่รู้ได้ลึกซึ้งว่าความเปรี้ยวนั้นมันขนาดไหน เข็ด น้ำลายแตกอย่างอะไร อันนี้จะรู้ได้ต้องลองชิมด้วยลิ้นของตัวเองดูนะคะ