วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

สงครามเด็ก ๆ ตอน สงครามบนรถ

        เรื่องนี้เป็นปัญหาของคุณพ่อท่านนึง ที่เขาประสบปัญหานี้บ่อย ๆ และเก็บเอาคำถามนั้นมาถามในกิจกรรมครั้งนึงที่แม่ดาวก็ไปเข้าร่วมด้วย  และเป็นปัญหาที่ญาติของแม่ดาวท่านนึงก็ประสบปัญหานี้บ่อย ๆ เช่นกัน  ญาติของแม่ดาวท่านนี้มีลูกสาว 3 คน อายุประมาณ 9 ขวบ  5 ขวบ และ 3 ขวบตามลำดับ  ตัวแม่ดาวเองถึงมีลูก 1 คน ก็เคยประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน คือ สงครามพ่อลูกบนรถ หรือบางทีก็เป็นสงครามแม่ลูกบ้างแต่อันนี้จะน้อยมาก หากสภาพร่างกายปกติดี จิตใจอยู่ในระดับไม่เลวร้ายเหตุการณ์พวกนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา จัดการได้ โดยละม่อม อิอิ

        ถามว่าเด็ก ๆ ทำไมถึงชอบทะเลาะกันจริง ๆ เวลาอยู่บนรถโดยเฉพาะเวลาที่เราเป็นคนขับรถและกำลังขับรถอยู่บนถนน  แม่ดาวมองว่าเด็กเขาฉลาดนะคะ  เรารู้ว่าเราไม่สามารถเข้าไปจัดการปัญหานี้ได้ เพราะเราต้องเอาสมาธิไปจดจ่ออยู่บนท้องถนน ความสามารถในการคิดจัดการแก้ไขปัญหาจะมีต่ำกว่าปกติฮ่าๆๆ  เด็กเขารู้จุดอ่อนตรงนี้ เลยปล่อยหมัดน็อคเราบ่อย ๆ บ่อยรถ  มีใครในที่นี้เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้  แล้วปรี๊ดแตกบ้างแล้วไหมน้อ   คิดว่าน่าจะมีหลายคนนะแม่ดาวว่า  

        แม่ดาวเอาคำถามนี้ไปถามกับคุณแม่ลูก 3 ดังกล่าวข้างต้น คุณแม่ท่านนี้จัดการโดย  หากสามารถจอดรถได้ ณ ตอนนั้น เขาจะจอดรถทันที และหันไปดุลูกหลังเบาะ อาจจะเป็นการพูดด้วยเหตุผล หรือขู่ก็ตาม  เขาบอกว่าลูก ๆ เขาจะหยุดทันที   แม่ดาวเห็นด้วยกับวิธีนี้ตรงที่ หากสามารถจอดรถได้  ก็ให้เราจอดรถก่อน เพื่อจะได้มีสมาธิ มีสติและปัญญามากพอที่จะจัดการขั้นต่อไปได้  

        แต่หากเป็นแม่ดาว จะไม่ใช้เสียงดังกลบลูก (ตวาดแผดเสียง)  ไม่ขู่เพื่อให้ลูกกลัว แต่พูดจริง ๆ และทำจริง ๆ เช่น หากแม่ดาวเป็นคุณแม่ลูก 3  ดังกล่าวแม่ดาวหากจอดรถได้ แม่ดาวจะ
แม่    “แม่ไม่สามารถขับรถต่อไปได้นะคะ  หากลูก ๆ ยังทะเลาะกันแบบนี้ แม่รู้สึกเครียดมากกับปัญหาของลูกที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ แม่มีมีสามาธิมากพอที่จะขับรถต่อได้อย่างปลอดภัย  มีใครพอจะเสนอวิธีการจัดการแก้ไขปัญหานี้ได้ไหมค่ะ เพื่อเราจะได้เดินทางต่อไปต่อได้ อย่างไม่เครียด”
ลองรับฟังข้อเสนอของลูก ๆ  แม่ดาวว่าเด็ก ๆ เขาก็จะมีวิธีการตกลงกันได้ไม่ยาก หากที่ ๆ เขากำลังจะไปจูงใจให้เขาอยากจะเดินทางไปให้ถึงมากพอ อิอิ  

        หากเราไม่สามารถจอดรถได้หล่ะ จะทำยังไง  แม่ดาวมองว่า อันดับแรก เราต้องควบคุมสติตัวเองให้ได้ นึกถึงความปลอดภัยของชีวิตลูก ๆ และเราเข้าไว้ ขับรถต่อไป  แต่ควรพูดอะไรสักอย่างเพื่อบอกกับลูก ๆ ของเรา ว่าเรารู้สึกยังไง  เช่น “แม่คิดว่าแม่ไม่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย  เพราะแม่รู้สึกเครียดมากที่ลูก ๆ กำลังทะเลาะกันเสียงดังแบบนี้” พูดด้วยเสียงแบบจริงจังเลยค่ะ เอาแบบออกมาจากใจ แต่ไม่ตวาดได้ไหมค่ะ  เอาแบบเสียงดุ ๆ นิด ๆ ก็มันเครียดนี่เนอะ  ใช้ร่วมกับสายตาพิฆาตส่งผ่านกระจกมองหลังรถไปด้วย  คิดว่าเขาน่าจะสงบได้บ้างหล่ะ   แม่ดาวก็ใช้บ้างนะ เสียงเข้ม ตาดุเนี้ย บางทีก็ต้องงัดไม้นี้มาใช้กันบ้าง ลูกแม่ดาว เป็นประเภท ต้องหลากหลาย อะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ จะดื้อยา ต้องเปลี่ยนตัวกระตุ้นกันบ้างฮ่าๆๆ

        หากทางที่ดี แม่ดาวว่ากันไว้ก่อนดีกว่าเนอะ  มีการพูดคุยกันก่อนจะเดินทางเลยว่า  หากลูก ๆ เกิดทะเลาะกันหลังเบาะขณะที่แม่ขับ แม่จะขับรถกลับบ้านทันที ที่ตกลงกันไว้เป็นโมฆะล้มเลิก ไม่ไปแล้ว อันนี้ไม่ได้ขู่นะคะ เราต้องทำได้จริง ๆ ต้องเด็ดขาด คำไหนคำนั้น  แม่ดาวเคยอ่าน มีคนที่ทำแบบนี้ แล้วได้ผลดีมาก ลูก ๆ เลิกทะเลาะกันบนรถเลย   แต่หากเป็นเรื่องที่ยกเลิกไม่ได้  และลูก ๆ ของเราก็ไม่ได้อยากจะไปสักเท่าไหร่  คงต้องมีการตกลงกันอีกแบบ เช่น ในการเดินทางไป หากลูก ๆ ทะเลาะกันอีก แม่จะงด..........................เป็นเวลาคนละ ........   อันนี้ก็เช่นกันค่ะ พูดจริงและต้องทำได้จริง ๆ ก่อนจะพูดคิดดี ๆ ก่อน ควรเป็นเรื่องที่ทั้งเราและลูกรับได้ 

        อย่างน้องดีโด้เนี้ย หากงดนิทานก่อนนอนเนี้ย เรื่องใหญ่มาก แต่เขาก็รับได้ ถึงจะโอดครวญบ้างก็เถอะ  แต่เราจะบอกเขาทุกครั้งว่า พรุ่งนี้นะคะ แม่จะเล่านิทานให้สนุกซะใจไปเลย  คืนนี้ต้องงดตามข้อตกลงนะคะ  ห้ามซ้ำเติมลูกเด็ดขาดเช่น  ที่นี้จะเข็ดหรือยัง ดีจะได้รู้สำนึกซะบ้าง ทีหลังจะได้ไม่ทำแบบนี้อีก  แบบนี้ไม่เอาไม่พูดนะคะ  แม่ดาวขอร้อง การพูดแบบนี้จะทำให้สิ่งที่เราทำไปลดประสิทธิภาพลงมาก  แถมเป็นการไปก่อไฟในใจให้ลูกโกรธเราเพิ่มอีกนะคะ  

        แม่ดาวจะบอกกับตัวเองเสมอ ๆ ว่า เราต้องพยายามรักษาสัมพันธ์ภาพที่ดีของเรากับลูกเอาไว้  อย่าไปทำลาย หรือลดความสัมพันธ์แบบไม่ทันคิดนะคะ  คิดเยอะ ๆ ก่อนจะพูดเนอะ   คิดดี พูดดี ทำดี  ลูกเราก็จะดีด้วยนะคะ จริงไหม

       และที่สำคัญคือ เวลาที่ลูก ๆ เราไม่ทะเลาะกัน เราต้องชมลูก ๆ ของเราด้วยนะคะ ไม่ใช่เห็นว่าไม่ทะเลาะกันก็ดี ปล่อยผ่านไป  ชมเพื่อกระตุ้นให้เราทำอีกไงค่ะ อย่าลืม ต้องชมด้วยนะ

สงครามเด็ก ๆ ตอน ศึกชิงของเล่น

บทความนี้ จัดให้เอาใจเป็นพิเศษสำหรับคุณพ่อ คุณแม่หลายท่านที่มีลูกมากว่า 1 คนขึ้นไป  ความรู้ที่จะนำมาสาธยายในบทความนี้ แม่ดาวก็ได้มาจากประสบการณ์ของตัวเองด้วย ความรู้จากการอ่าน และความรู้จากการที่ได้ฟังคนอื่น ๆ เขาบอกกล่าวมาด้วยนะคะ 

ประเด็นนี้เกิดขึ้น  มีผู้ปกครองท่านนึง ที่รู้จักกันที่โรงเรียนลูกของแม่ดาว   เขามีลูกชาย 2 คนอายุก็ไล่เลี่ยกัน และมักจะก่อสงครามแย่งของเล่นกันเป็นประจำในช่วงนึง  ฟังที่จากเล่าการจัดการในการแก้ปัญหาของผู้ปกครองท่านนี้ ก็เหมือน ๆ กับอีกหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งก็เหมือนกับที่คุณยายน้องดีโด้ (แม่ของแม่ดาว) ที่เลี้ยงแม่ดาวมาเช่นกัน สงบศึกโดยการเข้าไปห้ามศึกลูก ๆ  และเป็นผู้ตัดสินปัญหาให้ว่าใครถูก หรือใครผิด หรือ เสมอ โดนตีทั้งคู่ เป็นกรรมการเวทีมวยภายในบ้าน

ผลที่แม่ดาวเห็นส่วนมากคือ พี่น้องมักจะทะเลาะกันหนักกว่าเดิม หรือไม่ก็แค่สงบปาก สงบคำ แต่ไม่สงบจิตใจ ในใจเนี้ยยิ่งระอุร้อนรุ่มยิ่งกว่าเก่าซะอีก  ถึงปากจะยอมบอกว่า “ขอโทษ” แต่ในใจเนี้ย ไม่ยอมลดลาความโกรธนั้นลงได้เลย บางทียิ่งเหมือนจะเกลียดกันมากกว่าที่จะรักกัน   ความปรองดองในหมู่พี่น้องลดน้อยลงไปทุกที ๆ  ยกตัวอย่าง ๆ ตัวแม่ดาวเอง เวลาที่แม่เข้ามาจัดการในการแก้ปัญหา จะรู้สึกว่า “ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม แม่ลำเอียงเข้าข้างไม่พี่ก็น้องตลอด ๆ”  แต่ด้วยความเป็นลูกคนกลางก็ต้องยอมอ่อนข้อให้ตลอด ๆ  กลัวแม่ไม่รัก ด้วยความเป็นลูกสาวคนกลาง คนโตเป็นผู้ชายและน้องคนเล็กเป็นผู้หญิง  อันนี้เป็นปมในใจ แต่ปัจจุบันปมนี้ไม่มีแล้วนะคะ  แต่ก็เพิ่งเข้าใจได้อย่างแท้จริงก็ไม่นานมานี่ตอนที่เริ่มเข้าใจตัวเองมาก ๆ จากการปฏิบัติธรรมะ และพอเข้าใจตัวเองแล้ว การเข้าใจความรู้สึกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก็ทำได้ไม่ยากเลย

มีอีกหลาย ๆ เหตุการณ์ ที่แม่ดาวได้เคยประสบพบเห็น เช่น ครั้งหนึ่งได้พบกับครอบครัวหนึ่ง ที่เขามีลูก 2 คน คนโตเป็นลูกสาว น่าจะอายุประมาณ 5 ขวบได้  และคนเล็กเป็นลูกชาย น่าจะอายุประมาณ 3 ขวบมั้งค่ะ  เรื่องคือ ลูกชายของเขากำลังนั่งเล่นของเล่นอยู่ชิ้นหนึ่ง  สักพักพี่สาวก็เดินมาและกระชากของเล่นชิ้นนั้นไปจากมือน้อง  น้องร้องไห้จ้าและหากสังเกตุนั้น เด็กชายตัวเล็กคนนั้นจะร้องไห้เสียงดังๆ  และหันไปทางพ่อและแม่  ซึ่งกำลังวุ่น ๆ อยู่  เมื่อพ่อและแม่ได้ยินเสียงที่แผดร้องด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ  สิ่งแรกที่พ่อและแม่ 2 ท่านนั้นทำร่วมกัน คือ รุมต่อว่าลูกสาวทันที และสั่งให้ลูกสาวเอาของมาคืนน้อง และขอโทษน้องเดี๋ยวนี้ ประโยคสนทนาที่พอจะจำได้คือ

แม่        พี่ A (นามสมมติ) ทำไมต้องมาแย่งของเล่นน้องด้วย ของเล่นก็เยอะแยะ แม่ไม่เข้าใจ ทำไมเป็นเด็กนิสัยเสียแบบนี้

พ่อ         พี่ A  เอาของเล่นไปคืนน้องเดี๋ยวนี้ และขอโทษน้องด้วย เร็ว   

ทั้งคู่พูดท่าทางที่โกรธจัด และพูดด้วยพลังเสียงแห่งอำนาจของความเป็นพ่อแม่  หากแม่ดาวคิดเองแม่ดาวคิดว่าเขา 2 คนรู้สึกเสียหน้า อายคนอื่น ๆ ด้วย ที่ลูกทำนิสัยแบบนี้ในที่สาธารณะ และต้องการจะแสดงให้เห็นว่า ฉันเลี้ยงและอบรมลูกมาดีแล้ว แต่เด็กคนนี้ไม่เชื่อฟังเอง  ฉันไม่ผิด  ตีความเอาเองจากแววตา ท่าทาง คือเขามองคนรอบ ๆ ตัวด้วย และยิ่งมองยิ่งเหมือนจะโกรธลูกหนักขึ้น 

เด็กหญิงตัวน้อย  ๆ คนนั้น สีหน้าโกรธจัด และแววตาแสดงถึงความไม่พอใจอย่างมากกับการพิพากษาของพ่อแม่ตัวเอง เขาหันไปมองหน้าน้องด้วยสายตาที่ดูจะโกรธน้องมาก ๆ ไม่รู้จะแอบเกลียดลึก ๆ ด้วยหรือเปล่า  เขาส่งเสียงร้องไห้ออกมาด้วยความน้อยใจ  เสียใจ และ ความโกรธ (คิดเอง) แม่ดาวคิดว่าเด็กหญิงคนนี้เขาน่าจะโดนกระทำคล้าย ๆ แบบนี้มาหลายครั้ง  เพราะสายตาคู่น้อย ๆ คู่นี้ ดูเหมือนจะโกรธแค้นชิงชังน้องชายตัวน้อย ๆ เขาเสียเหลือเกิน แม่ดาวไม่แปลกใจหรอกค่ะ หากเขาไม่พอใจน้องชายของเขา คิดว่า เขาคงรู้สึกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า  เขาคงมีความอิจฉาน้องอยู่เป็นทุนเดิมแหละ 

พ่อและแม่ก็ตวาดรุมต่อว่าลูกไม่หยุด เพราะลูกสาวก็ไม่ยอมที่จะขอโทษน้องเช่นกัน   ต่างฝ่ายต่างร้อน เจ้าคนพี่ก็ร้องไห้ เจ้าคนน้องก็ร้องไห้ พ่อและแม่ก็โวยวายพยายามจะยุติปัญหานั้นให้ได้ แต่.....จากสงครามพี่น้องนั้นได้เปลี่ยนเป็นสงครามพ่อแม่ และลูก แล้ว  ณ ตอนนั้น สงครามดูน่าจะยืดเยื้อยาวนาน  สูญเสียทั้งพลังงานกายและสูญเสียความรู้สึก  ลดทอนความสัมพันธ์ทีดีต่อกันระหว่างครอบครัวอย่างไม่ทันได้รู้ตัว

แม่ดาวอยู่ ณ ตรงนั้น เห็นเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มต้น ถามว่า น้อง A ทำผิดไหม ที่แย่งของเล่นน้อง  แม่ดาวก็เห็นสมควรว่า เขาทำผิดจริงนะคะ  แต่แม่ดาวรู้สึกไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้ปกครอง  หากแม่ดาวเป็นแม่ของเด็กหญิงตัวน้อย  และเด็กชายตัวน้อย ๆ คนนั้น สิ่งที่แม่ดาวจะทำคือ

แม่ดาวจะลดนั่งลงให้ระดับสายตาเรากับลูกสาว อยู่ในระดับเดียวกัน และพูดกับลูกว่า  

แม่            “พี่ A ค่ะ   แม่เห็นว่า  ตอนนี้น้องของลูกกำลังเสียใจมากๆ เลย  ลูกคิดว่าจะช่วยเหลือน้องอย่างไรดีค่ะ”

      แม่ดาวคิดว่าหากเราไม่ตำหนิเขาโดยตรง  แต่บอกให้เขาคิดเอง ว่าเขาควรจะจัดการปัญหานี้อย่างไร  เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา  แม่ดาวว่าผลน่าจะออกมาดีกว่านี้  หากใช้เวลาบ้าง แต่แม่ดาวคิดว่าไม่นานเท่ากับเหตุการณ์ข้างต้น และไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเลย  แต่แม่ดาวก็ไม่บังอาจเข้าไปเสนอหน้า ชี้แนะใคร ๆ หรอกนะคะ  ต่างคนก็ต่างความคิด  แม่ดาวรู้มาแบบนี้ พิจารณาแล้วเห็นว่าจริง เอาจากความรู้สึกตัวเองด้วย และได้เคยลองจัดการปัญหานี้มากับตัวเองด้วย ถึงไม่ใช่กับลูกตัวเอง แต่เป็นบรรดาคุณหลาน ๆ (กรณีนี้น้อยมาก)
      หรือเวลาที่ลูกชายทะเลาะกับเพื่อนที่เล่นด้วย แล้วแม่ดาวก็อยู่ในเหตุการณ์ตลอด ๆ แต่ไม่เข้าไปแทรกแซง หากลูกมาฟ้อง ก็รับฟัง และโยนปัญหากลับไปให้เขาทั้งคู่จัดการกันเอง ผลก็ออกมาดีทุกครั้ง หากครั้งไหนทะเลาะกันถึงขั้นเจ็บตัว เจ็บใจน้ำตาไหลพรากๆ  แม่ของอีกฝ่ายวิ่งพุ่งเข้ามาแทรกแซงแล้ว แม่ดาวก็จะบอกลูกว่า "วันนี้ลูกและเพื่อนคงไม่พร้อมจะเล่นด้วยกันแล้วแหละ แม่คิดว่าเราต้องบ๊ายบายกันแล้ว"  พากลับเลย แม่เขาก็เข้าใจแม่ดาวนะคะ เพราะคุ้นชินกัน สนิทกัน

        อยากให้ทุก ๆ ท่าน ลองมองแบบนี้ค่ะ  ปัญหาของเด็ก ๆ ทะเลาะกัน ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัวตัวเอง หรือทะเลาะกับเพื่อนก็ตาม  อยากให้มองว่า  นั้น “เป็นปัญหาของเด็ก”  เด็กควรจะเป็นผู้จัดการในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เรา เป็นผู้เข้าไปจัดการปัญหานั้น  แต่ปัญหาจะโยนกลับมาเป็นของเราทันที ถ้าการทะเลาะกันนั้น กำลังจะกลายเป็นความรุนแรงแบบที่ถึงขั้นทำร้ายร่างกันแบบเลือดตกยางออก     ที่นี้ ขอแนะนำแนวคิด แบบเป็นข้อ ๆ ให้ลองปฏิบัติกันดูนะคะ

        1.  หากกรณีแย่งของเล่นกัน  ลองปล่อยให้เขาจัดการแก้ปัญหากันเองก่อน   มันต้องมีอยู่แล้วที่จะต้องมีฝ่ายถูกกระทำ มาฟ้องเรียกร้องความยุติธรรมจากเรา หากเป็นแม่ดาวอยู่ในสถานกาณ์เช่นนี้ แม่ดาวจะบอกกับลูกคนที่แย่งของเล่นแบบข้อความข้างบนคือ “ พี่.....ค่ะ แม่เห็นว่า ตอนนี้น้องของลูกกำลังเสียใจมาก ๆ เลยนะคะ ลูกคิดว่าลูกจะจัดการแก้ปัญหานี้ยังไงค่ะ  เรื่องนี้เป็นเรื่องของพี่น้อง แม่คิดว่าลูกทั้ง 2 ควรตกลงกันเองนะคะ แม่ขอบคุณพี่.....ล่วงหน้า แม่หวังว่าลูกคงจะช่วยน้องแก้ปัญหานี้ได้นะคะ” แล้วเดินทิ้งระยะไป แอบดูแบบเนียน ๆ

        2.  หากตกลงกันไม่ได้ ต่างฝ่าย ต่างเอาชนะกัน ไม่มีใครยอมใคร สงสัยงานนี้ต้องเข้าไปร่วมงานนี้สักนิด  
แม่    “แม่คิดว่า  ของเล่นชิ้นนี้ คงจะเป็นตัวปัญหาเนอะ  ดูซิ ทำให้พี่น้องที่รักกัน ลูกของแม่ทั้ง 2 ต้องมาทะเลาะกัน โกรธกัน แม่จะช่วยจัดการเจ้าตัวปัญหานี้ให้  โดยแม่จะอาสาเก็บของเล่นชิ้นนี้ไว้ให้เองนะครับ”  และเก็บของเล่นชิ้นนั้นไปเลย   แน่นอนค่ะ หากเขาทั้ง 2 อยากจะเล่นของเล่นชิ้นนี้ เขาต้องแสดงให้เราเห็นว่า เขาทั้งคู่สามารถเล่นด้วยกันได้โดยไม่มีน้ำตา  ไม่ทะเลาะกัน  

        3. หากเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดกำลังจะทำร้ายร่างกายกันแบบที่เราคิดว่าน่าจะต้องเข้าขั้นบาดเจ็บหนัก  เราต้องรีบเขาไปจัดการทันที  เช่น เห็นว่าลูกคนเล็กกำลังจะเอาของเล่นเขวี้ยงใส่พี่  หรือกำลังจะตีพี่ ให้เราเขาไปจับเขาไว้ และบอกว่า  “แม่รู้ว่าลูกโกรธพี่มาก แต่ตอนนี้ลูกยังไม่พร้อมจะคุยกัน ลูกต้องการเวลาสงบสติอารมณ์สักพักนะคะ ”  ให้เขาเย็นลงก่อน ค่อยคุย และควรเก็บของเล่นชิ้นนั้นไปด้วย จะได้ไม่มีฝ่ายใดได้อาศัยช่วงชุลมุนหยิบไปเล่นได้
         
อีกสักตัวอย่าง  
        หากเราไม่ได้อยู่ในเหตุกาณ์นั้น แต่ลูกคนนึงก็วิ่งเข้ามาหาเรา แน่นอนส่วนใหญ่คนแรกที่จะเข้ามาเราก่อนนั้น น่าจะเป็นผู้ถูกกระทำก่อน เราก็ต้องตั้งใจรับฟังลูก แบบยังไม่ต้องพิพากษาตัดสิน  และควรอยู่ลำพังกับลูกคนนั้น โดยอาจให้อีกฝ่ายมีใครสักคนพาไปเล่นด้วยก่อน
ลูกบี          แม่ครับ  เมื่อกี้พี่เอ...ตีบี  แย่งของเล่นจากบีไป ทั้ง ๆ บีเล่นอยู่ก่อนแล้ว
แม่            อืม....พี่เอ  แย่งของเล่นของลูก และตีลูกด้วยเหรอค่ะ

ลูกบี          ใช่ 

แม่            ลูกคงเจ็บและโกรธพี่ด้วยใช่ไหมค่ะ
ลูกบี          ใช่  แม่ช่วยจัดการพี่เอให้หน่อย และแม่ช่วยเอาของเล่นคืนให้บีด้วยนะครับ
แม่            แม่อยากให้ลูกแก้ปัญหานี้ด้วยตัวของลูกเองนะคะ  มันเป็นปัญหาของลูกและพี่ แม่เชื่อว่าลูกสามารถจัดการแก้ปัญหานี้ได้   หากคิดออกแล้วลองมาเล่าให้แม่ฟังหน่อยนะคะ ว่าลูกคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไง  แม่จะรอฟังนะคะ 

มาถึงคุยกับพี่บ้าง  แบบเดิมนะคะ  พูดเป็นการส่วนตัว แบบไม่มีน้องอยู่ด้วย
แม่            พี่เอ    น้องบี บอกแม่ว่า ลูกทั้งคู่ มีปัญหากันเรื่องของเล่น  (ไม่ได้บอกว่าใครทำใครยังไง กว้าง ๆ )     
พี่เอ           ก็เอ  อยากจะเล่นของเล่นชิ้นนั้น แต่น้องบีไม่ยอมให้ น้องบีหวงของ ไม่ยอมแบ่งกันเล่นเลยนี่แม่

แม่            อืม...ลูกอยากเล่นของเล่นกับน้องบี  แต่น้องไม่ยอมแบ่งให้เล่นใช่ไหมครับ
พี่เอ           ใช่  น้องไม่ยอมให้เล่น น้องหวงของ
แม่            แม่เข้าใจว่าลูกอยากเล่นของเล่นชิ้นนั้นมากจริง ๆ  แล้วของเล่นชิ้นนั้นเป็นของใครครับ
พี่เอ           ของน้องบี
แม่            อ๋อ...ของน้องบี   แล้วถ้าของเล่นชิ้นนั้นเป็นของลูก และลูกเล่นอยู่ก่อน แล้วน้องก็เกิดความรู้สึกแบบลูก ทำแบบเดียวกับลูก  โดยลูกก็กำลังอยากจะเล่นของเล่นชิ้นนั้นคนเดียว ยังไม่พร้อมจะแบ่งให้น้องเล่นด้วย  ลูกคิดว่าน้องทำถูกไหมครับ
พี่เอ   อาจตอบหรือไม่ตอบก็ได้   แต่แม่ดาวคิดว่าเขาต้องมีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ในใจ ไม่ต้องคาดคั้นให้ตอบ
แม่            ลูกไม่ตอบแม่ก็ไม่เป็นไรนะครับ  เอาไว้ลูกพร้อมจะบอกแม่ ลูกมาบอกแม่ได้เสมอนะครับแม่จะรอฟัง  
แม่มั่นใจว่าพี่เอ  ลูกชายคนดีของแม่รักน้องอยู่แล้ว  และแม่ก็เชื่อว่าน้องบีก็รักลูกมากเช่นกัน   แม่ว่าเรื่องการไม่เข้าใจกันของพี่กับน้องเป็นเรื่องปกติ แม่เองตอนเด็ก ๆ ก็มีปัญหาแบบนี้แหละ แต่ก็ยังรักกันเหมือนเดิม  

        อันนี้เป็นการจำลองเหตุการณ์ เองนะคะ  หากท่านใดมีเหตุการณ์จริงเกิดขึ้น อยากให้เอามาเล่าสู่กันฟังบ้างค่ะ เอาแบบเหตุการณ์ จริง คำพูดจริง ๆ ประมาณ ๆ เอา ไม่ต้องเป๊ะ  เพราะใครจะได้ทุกถ้อยคำเนอะ  จะได้เป็นประสบการณ์ชีวิตให้ได้ร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

      การที่ลูกทะเลาะกันบ้าง อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ  การที่เขาทะเลาะกันบ้าง ก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ เรียนรู้กันและกันและยิ่งรักกันเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้เราต้องไม่เข้าไปแทรกแซงนะคะ  แต่หลังจากการทะเลาะกันแล้ว เราควรจะเป็นผู้ที่รับฟังความรู้สึกที่แสนจะโกรธแค้น คับข้องใจของลูก ๆ ของเรา อย่างเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยนะคะ   ในกรณีทะเลาะกับเพื่อน ๆ ก็เหมือนกัน แม่ดาวมองว่า มันก็ปกติ คนเรามีความคิดต่างกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง ก็ธรรมดาเนอะ 

       บางที่เราอาจจะวิตกเกินไป  กลัวว่าเขาทะเลาะกัน แล้วจะทำพี่น้องไม่รักกัน  เกลียดกัน มันจะเป็นแบบนั้นหากเราเข้าไปแทรกแซงจัดการแก้ไขปัญหาของลูก ๆ ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราสามารถจัดการได้อย่างยุติธรรม เป็นธรรมที่สุดแล้วก็ตาม แต่เชื่อไหมค่ะ เสียงข้างในใจเด็ก ๆ เขาก็จะยังคิดว่า แม่ลำเอียง น้อยใจเรา คิดว่า รักใคร คนใดคนนึงมากกว่าอยู่ดี  อันนี้เป็นเสียงที่ได้ยินดังก้องอยู่ในใจจากอดีตเด็กผู้หญิงตัวน้อย ๆ คนนึง ซึ่งเป็นลูกคนกลางซะด้วย เป็นเด็กที่น่าจะมีปัญหามากที่สุดตามสถิติฮ่าๆๆ   ยอมรับนะคะ ว่าตัวเองมีปมในใจเยอะ มีพฤติกรรมที่ไม่ดีเยอะ และอยากบอกว่าบางพฤติกรรมที่ใคร ๆ เห็นว่าดี เช่น ผลการเรียนดี ก็เกิดมาจากปมในใจเนี้ยแหละ  เพราะเราต้องการได้รับการชื่นชม พยายามแสดงตัวตนออกให้พ่อแม่เห็น ว่า “นี่ไง แม่เห็นไหม หนูก็เป็นลูกที่น่าชื่นชม ลูกที่พ่อแม่ควรรักคนนึงนะคะ”  พยายามจะทำตัวให้เด่นสะดุดตา เพื่อว่าจะได้รับคำชมบ้าง แต่ก็ไม่เคยได้ยินเสียงแบบนั้นเลย  เขาชมแบบในใจไงค่ะ หรือไม่ก็อาจจะชมเราลับหลัง คงกลัวว่าชมต่อหน้าลูกจะเหลิงประมาณนั้น เอาไว้จะมาเผาตัวเองในเรื่องพวกนี้ให้อ่านกัน

        ใครอ่านแล้วมีความคิดเห็นยังไง  หรืออยากร่วมแบ่งปันเรื่องราวทำนองนี้  ยินดีเลยค่า  ดีซะอีกมีประโยชน์ มีหลากหลายมุมมองหลากหลายความคิดเห็น   ตัวแม่ดาวเองที่อยากร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เคยเป็นปัญหาของตัวเองในอดีต และรับรู้ถึงความกังวลใจของเหล่าบรรดาพ่อ ๆ แม่ ๆ ทั้งหลาย ความคิดเห็นที่นำเสนอไปก็เก็บ ๆ เอามาจากหลาย ๆ แหล่งอย่างที่บอกข้างต้น  และเคยแนะนำผู้ปกครองที่เคยประสบปัญหานี้ท่านนึง และเขาก็กลับมาบอกเราว่า ได้ผลดีมาก ๆ  จากตอนแรกเขาจะเป็นคนเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหาลูกทะเลาะกันด้วยตัวเองตลอด ผลตอนนั้นคือ ลูกก็ยิ่งจะทะเลาะกันมากขึ้น แยกกันสักพัก ก็ตีกันใหม่   แต่ปัจจุบันที่ถามเขาบอกว่าปัญหานี้ไม่เป็นปัญหาของเขาอีกต่อไปแล้ว และถึงมีปัญหาลูก ๆ ของเขาก็จัดการได้ โดยมีเขาเป็นที่ปรึกษานิดหน่อย  แม่ดาวเองก็ยิ้มปลื้มใจ อย่างน้อย ๆ ความคิดเล็ก ๆ ของเราก็ก่อผลอันยิ่งใหญ่ให้ใครอีกคน/ครอบครัวได้เหมือนกัน