วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เข้าสู่โหมด “โกหก” เพื่อ




        ห่างหายจากการพิมพ์ การเขียน และการอ่าน ทุกอย่างแทบไม่ได้ทำเลยในช่วงลูกปิดเทอมที่ผ่านมา   มีเรื่องมาพิมพ์บทความ คิดเองว่าต้องนำมาขยายต่อ คือ “เด็กชอบพูดโกหก”

        ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาได้มีโอกาส พบและได้พูดคุยกับเด็กคนนึง น่าจะอายุสักประมาณ 7-8 ขวบ เขาเป็นเด็กที่ดูบุคคลิกภายนอกก็จะดูแข็ง ๆ  ไม่อ่อนโยน ไม่สุภาพ ก็คงสไตล์เด็กผู้ชายโดยส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัดด้วยหรือเปล่า  คือเท่าที่ตัวเองก็เป็นเด็กต่างจังหวัด เด็กผู้ชายต่างจังหวัดก็จะแบบแข็งๆ  ประมาณนี้   ต่างจากเด็กกทม. ที่จะพูดเพราะ ดูสุภาพกว่า อ่อนโยนกว่า นี่เล่าจากส่วนมากที่ตัวเองเจอนะคะ

        ผู้ปกครองที่นำเด็กมาดูแลช่วงปิดเทอมบอกว่า เขาเป็นเด็กมีปัญหามาก อารมณ์รุนแรง โมโหร้าย และโกหกแทบทุกเรื่อง  เอ่อ......พอได้ฟังก็คิดในใจ “ขนาดนั้น” เลยหรือ  ยังไม่เชื่อนะคะ  คิดเองว่า อาจจะคิดไปตามสไตล์ผู้ใหญ่ที่มองด้วยสายตาแบบผู้ใหญ่หรือเปล่าหนอ

        พอได้พูดคุย ใกล้ชิด ก็ค่อย ๆ เห็นว่า “ก็จริง” นะ  แต่...................ไม่รู้สึกตำหนิเด็กเลยค่ะ  กลับยิ่งรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ และสงสารเด็กมาก  มีการคิดเองเออเองตามประสา คุณแม่ชอบตีความ ฮ่าๆๆๆๆ  แล้วสิ่งที่เราคิด ก็จริงด้วยนะ  เขาถูกเลี้ยงดูประมาณถูกดุ ถูกตำหนิ ถูกทำโทษ ตี  และบางทีก็ไม่สมเหตุสมผล  อันนี้เติมเองจากที่เคยเห็นและได้ยินด้วยตัวเอง  

        เด็กคือผ้า ส่วนเนื้อผ้าแต่เดิมนั้นจะมาแบบไหน ยังไงซะคงไม่ขนาดนี้เนอะ  การโกหก การพูดปด ของเขา จากที่เราสัมผัส คือ เขาทำเพื่อปกป้องตัวเอง  กลัวโดนตำหนิ กลัวถูกทำโทษ พอทำไปนานๆๆๆๆๆ  เข้ามันติดเป็นนิสัยไปโดยปริยาย  เด็กคนนี้ เขาชอบไหว้พระ  รู้จักศีล 5 เป็นอย่างดี  แต่คิดว่าที่เขาทำสมองคงสั่งการว่า “โกหกแล้วจะรอดปลอดภัย” เขาถึงทำ  

        เราเป็นแค่คนนอกครอบครัว ทำได้เต็มที่ ก็แค่เล่านิทาน เล่าเรื่อง ชวนพูดคุย แต่จะไม่มุ่งประเด็นไปที่ตัวเขา ทำเป็นสอนลูกเรา และให้เขาผู้เป็นพี่ช่วยสอนน้อง  เขาสอนน้องได้ดีทุกอย่าง เขารู้ว่าเรื่องไหนดี ไม่ดี เขารู้ถูก รู้ผิด แต่เขาไม่สามารถควบคุมจิตใต้สำนึกของเขาเองได้  เห็นแล้วก็เห็นใจ เข้าใจ  ไม่รู้สึกรังเกียจ แต่มีแปลกใจบ้าง คือบางเรื่อง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าโกหกทำไม  มานั่งคิดเอง ตอบเอง เอ่อ......ก็มันติดเป็นนิสัยไปแล้วนี่นะ  อันนี้แก้ยากจริง ๆ 

        เช่น  เวลาถามเขาไม่ตอบ  คนที่ถามก็ถามหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงไม่ตอบ เขาเลยบอกว่าเจ็บหู หูไม่ได้ยิน เลยต้องพากันไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจ ผลปรากฎว่า “ปกติ”     เอ่อ....แม่ดาวเนี้ยคิดไว้อยู่แล้ว่า ที่เขาไม่ตอบ เพราะเขาไม่อยากจะตอบ เขาคิดไม่ออกว่าจะตอบอะไร  ถึงบางคำถามจะเป็นคำถามง่าย ๆ แต่คิดออกไหมค่ะ เด็กเขาระแวงไปหมด เขารู้สึกว่าเขาถูกจับผิด  ด้วยว่า คนพามาเขาบอกว่า “จะพามาดัดนิสัย” เวลาเขาเห็นเราคุยอะไร เขาก็จะมองตลอด ระแวงว่า นี่จะว่าอะไรเขา มองด้วยสายตาที่หวาดระแวง  ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีจริงไหมค่ะ  เขาดูไม่มีความสุขเท่าไหร่  ถึงเราจะไม่ได้พูดถึงเขา เขาก็จะมองตลอด  ด้วยความระแวงนั่นแหละ  เขารู้ว่า “ผิด” แต่มันห้ามตัวเองไม่ได้ คิดว่านะ

        เขาโกหกได้แทบทุกเรื่องจริง ๆ แม้แต่เราที่หวังดีกับเขาอย่างจริงใจ  คิดว่าเขารับรู้ได้แน่ ๆ ค่ะ ว่าเราหวังดีกับเขาจริง ๆ เมตตาเขาจริง ๆ  เวลาที่เขาอยู่กับเราแล้วเขาโกหก เขาจะเหมือนทำหน้ารู้สึกผิด ไม่สบตา พูดไม่เต็มปากเต็มคำ และต้องบอกว่า หากเขาอยู่ในภาวะปกติด้วยนะคะ คือไม่ถูกกดดัน อารมณ์ปกติ ไม่เครียด   ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะคะ  และหากเขาอยู่ในโหมดปกป้องตัวเอง เขาจะแสดงอาการอีกแบบเท่าที่สังเกตุนะคะ

        ถามว่าแล้วแบบนี้ควรทำอย่างไร  คนที่ถามไม่ใช่คนดูแลที่แท้จริง ไม่ใช่พ่อแม่ด้วยนะคะ  ถามเพราะห่วงใยในตัวเด็ก  แม่ดาวก็นิ่งอึ้ง ยากมาก  เพราะให้แก้ที่พ่อแม่ คนดูแล เขาบอกว่า ยากเช่นกัน  หากคนเลี้ยงไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด ก็ยาก  ต่อให้พาไปพบจิตแพทย์ด้วยนะ คิดเองต้องให้คนดูแล พ่อแม่พบมากกว่าที่จะให้เด็กไปพบ  แก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่าปลายเหตุเนอะ   และการที่ว่าให้ผู้ปกครองไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่การประชดประชันนะคะ  หมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ บางทีคำพูดจากปากจิตแพทย์ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะทำให้คล้อยตาม และยอมเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นได้

        เล่าๆ เนี้ย แค่ให้เป็นอีก 1 เรื่องที่ลองย้อนถามตัวเองว่าเราเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กชอบโกหก หรือเปล่า  บางทีเราก็ไม่ทันคิดถึงจุดนี้   เห็นลูกโกหก ก็ว่าลูก ตำหนิลูก “เด็กนิสัยไม่ดี ชอบโกหก”  อยากให้ย้อนดูที่การสอน การเลี้ยงดูของเราเองก่อนเป็นสำคัญนะคะ  

        และเรื่องความรุนแรงของเขาเวลาเขาโกรธนั้น ฟัง ๆ แล้วก็หนักใจแทน ทำลายข้าวของ ขว้างปาของ ไม่แน่ใจว่าทำลายผู้อื่นด้วยหรือเปล่า  หากเราเลี้ยงเขาด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ใช้ความรุนแรง จะแปลกใจทำไม หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวเองเนอะ บางเรื่องก็พูดยาก บางคนเขาไม่ได้คิดแบบนี้ มองข้ามตัวเองไป มองไปไกลมาก ทั้ง ๆ ที่ปัญหามันอยู่ใกล้ขนาดนั้น  ทำได้แค่อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ อีกแหละ

        น้องดีโด้เองก็เคยเกือบ ๆ จะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ เช่นกัน  ด้วยที่สามีเป็นคนชอบตำหนิ เจ้าระเบียบ เหมือนจะจ้องจับผิดตลอดเวลา   เขาหวังดี รักลูก แหละค่ะ แต่ผลมันออกมาตรงข้าม  ก็ต้องพูดคุยชี้ให้เห็นพฤติกรรมของลูกให้เขาเห็น  ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง ตามประสา  อย่าว่าแต่ลูกเลยค่ะ แม่เองยังจิตตกฮ่าๆๆๆ จะบาปไหมเนี้ยเอาเรื่องจริงมาเล่าต่อเนี้ย  เอาเป็นว่าการเขียนบทความนี้ไม่ได้จะมุ่งร้ายต่อใคร แต่เพื่อประโยชน์ของพ่อๆ แม่ ๆ เนอะ