วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ตื่นตัว…แต่ไม่ตื่นตูม


                จากที่ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของเด็กน้อยวัย 5 ขวบ ที่ถูกรุ่นพี่ป1 ต่อยจนได้รับบาดเจ็บสาหัส จนในที่สุดก็เสียชีวิต  เป็นข่าวที่น่าตกใจ สะเทือนใจ และหวั่นใจ ในเวลาเดียวกัน   ข่าวนี้เป็นข่าวที่ไม่ดี เป็นข่าวร้าย แต่ข่าวนี้เป็นข่าวที่มีประโยชน์นะคะว่าไหม  การจากไปของเด็กน้อยรายนี้ เราควรนำมาช่วยกันดูแลและแก้ไข หันกลับมามองในโลกความเป็นจริง สิ่งที่เป็นอยู่รอบตัวเราเป็นอย่างไร เราเองมีส่วนไหมในการส่งเสริมพฤติกรรมความรุนแรงดังกล่าว 

                ได้ยินกันก็เยอะ อ่านเจอกันก็บ่อย หากใครที่เป็นพ่อแม่ที่ใส่ใจคุณภาพการเลี้ยงลูกนั้น ความรุนแรงเหล่านี้มันสะสมเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ก่อตัวมาทีละนิด ๆ  เริ่มมาจากสถาบันครอบครัวไล่มาจนถึงโรงเรียนตลอดจนสังคมสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ  แฝงอยู่รอบ ๆ ตัวมากมาย หากเราสังเกตเราจะเห็น ไม่ว่าจะเป็นจากทีวี เกมส์  หนังสือการ์ตูนย์ ลองเปิดตาและเปิดใจรับรู้กันเนอะ  มีเยอะมากจริง ๆ 

                เห็นแล้ว รู้แล้ว อันดับแรกให้ทำใจยอมรับเสียก่อน  เราเปลี่ยนโลกนี้ให้ได้ดังใจเราไม่ได้จริงไหม  แล้วอะไรล่ะ ที่เราจะช่วยกันเปลี่ยน ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันทำได้  เราทำได้แน่ ๆ ค่ะ อย่างน้อยที่สุดก็เริ่มจากเปลี่ยนความคิดของเราเอง เรามักเห็นความรุนแรงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านเป็นเรื่องปกติ เช่นการตีลูก การทำโทษลูกในแบบต่าง ๆ ที่มีความรุนแรง  การพูดจาด่าทอโดยใช้คำพูดที่สร้างความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสให้กับเด็กโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยความพลั้งเผลอ หรืออาจจะด้วยความตั้งใจก็มี   แต่ยังเชื่อว่าหลายๆ ท่านก็ไม่อยากใช้วิธีการหรือคำพูดไม่ดีแบบนี้ แต่มันอดไม่ได้ อารมณ์(โกรธ)พาไป   การตีนั้นอันที่จริงสำหรับบางบ้านนั้น ฟังๆ เขาก็บอกว่า เขาตีแบบมีเหตุผลนะ ไม่ใช่ตีแบบใช้อารมณ์  ตีด้วยความเข้าใจและไม่ใส่อารมณ์  เช่นนั้นก็ควรมีวิธีการตีอย่างมีหลักการเนอะ หากใครอยากตีลูก ก็ควรเรียนรู้วิธีการตีอย่างมีเหตุผลไว้สักหน่อย  ว่าเขามีวิธีการกันอย่างไร ที่ตีแล้วกายเจ็บ แต่ใจไม่เจ็บ

                แต่โดยส่วนตัวแม่ดาวแล้ว แม่ดาวเลือกที่จะไม่ตี แต่ใช้วิธีการอื่นๆ  ในเชิงบวกแทน  บัวยังมี 4 เหล่า แล้วพ่อแม่อย่างเราก็คงเป็นเช่นนั้นเนอะ  เคยมีคนบอกกับแม่ดาวว่าคนที่จะอ่านบทความพวกนี้ ก็คงเป็นคนที่คิดคล้าย ๆ เรา ดังนั้นสิ่งที่แม่ดาวทำคล้ายจะสูญเปล่าเสียมากกว่า ฮ่าๆๆ   ทำด้วยใจเนอะบอกตามตรงว่าไม่คาดหวัง ณ ปัจจุบัน  ทำให้ดีที่สุดแล้วปล่อย เคยได้ยินคำพูดนี้ หรืออ่านผ่านมากันมาบ้างไหมค่ะ  แม่ดาวทำแบบนั้น

                ในส่วนเนื้อหาเรื่องความรุนแรงในเด็ก  วิธีการรับมือ/จัดการการแก้ปัญหาเมื่อเด็กถูกรังแกก็มีมากมายให้ได้อ่าน แม่ดาวก็มีโพสต์ไว้ให้ใน Facebook แล้วเนอะ ลองตามอ่านกัน  ส่วนที่พิมพ์วันนี้ขอเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ แนวคิดและวิธีการจัดการเมื่อลูกถูกรังแก หรือเห็นคนอื่นถูกรังแก ขอเน้นไปที่โรงเรียนเนอะ เพราะอาจจะเจอกันบ่อย

                ย้อนไปเมื่อสมัยลูกแม่ดาวเข้าเรียนอนุบาล 1  ไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก ทัศนคติแม่ดาว ณ ตอนนั้นอาจไม่เหมือนตอนนี้สักเท่าไหร่ฮ่าๆๆ สุดโต่งมากๆ  แต่อยู่บนพื้นฐาน แนวคิดบวก  มีพื้นฐานว่าอยากจะเลี้ยงลูกด้วยแนวคิดนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม  แต่วิธีปฏิบัตินี่ซิยังไม่ได้สักเท่าไหร่   เมื่อลูกไปเรียนและกลับมามีบาดแผลตามร่างกาย ร้องไห้โยเยไม่อยากไปโรงเรียนและบอกว่าไม่อยากไปเพราะถูกเพื่อนแกล้ง  หัวใจคนเป็นแม่ ณ ตอนนั้น เจ็บแทนลูกมากมายนัก  อันดับแรก โกรธครูที่ดูแลลูกเราไม่ดี  อันดับต่อมาโกรธเพื่อนลูกที่มาทำร้ายลูกเรา  คือหยิกแบบเป็นรอยทั้งสองแขน  แต่ก็เก็บอาการต่าง ๆ ไม่ได้แสดงทีท่าออกไปเท่าไหร่ แต่ใจเรามันสื่อถึงใจลูกได้ง่ายมาก คิดไปเยอะ แต่แสดงออกไม่เยอะเท่าที่คิด ฮ่าๆๆ   อันที่จริงตั้งแต่ก่อนลูกจะเข้าเรียนก็จะมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไว้เยอะพอสมควร รู้ว่ายังไงเสียมันต้องเกิด ดังนั้นสอนไว้ ให้ลูกรู้ มีการซ้อมแสดงบทบาทสมมติด้วย แต่เอาเข้าจริงก็ไม่รอดฮ่าๆๆ  ยังเด็กเนอะ 3 ขวบตอนนั้น สอนเข้าใจ รู้เรื่อง เล่นบทบาทสมมุติได้เป๊ะ  เอาจริงสติหายปัญญาหดฮ่าๆๆ  ณ ตอนนั้นไม่ได้จัดการอะไรมาก ครูเองก็มาขอโทษตั้งแต่วันที่เกิดเหตุการณ์  เราก็รับคำขอโทษแต่ยังคา ๆ ใจ  แอบเคือง  ส่วนกับเด็กฝ่ายที่กระทำนั้นก็ไม่ได้จัดการอะไรเลย เพราะก็เข้าใจว่าเขาเด็กอยู่ และแต่ละบ้านแต่ละคนก็ถูกเลี้ยงมาแตกต่างกัน  แต่ก็มีแอบโกรธพ่อแม่เด็กฮ่าๆๆ  

                วิธีการจัดการ ณ ตอนนั้นเท่าที่จำได้คือ
1.      พูดคุยและรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นของลูก ตอนนั้นจะถามเยอะกว่าฟังฮ่าๆๆ
2.       จากนั้นนำมาชวนกันคิด ชวนกันคุย เนื่องจาก ณ ตอนนั้นมีการสอนหลักการจัดการเบื้องต้นเมื่อถูกเพื่อนแกล้งไปแล้ว  จึงข้ามขั้นการสอนไป  มาชวนคิด ชวนคุย แบ่งปันความคิดกัน  ถามลูกว่าลูกคิดว่าหากเกิดอีกจะจัดการอย่างไรให้เขาอธิบาย  หากเราเห็นด้วยก็จบ ข้ามไปขั้นต่อไป  หากไม่เห็นด้วยให้ช่วยเสนอแนวทางแก้ไขในแบบของเรา และแม่ดาวนั้นไม่สอนลูกให้ตอบโต้ด้วยความรุนแรง  เช่น ให้ลูกบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้ลูกเจ็บ และจะไม่เล่นด้วยจากนั้นให้เดินหนีไป  หรือหากรุนแรงมากพิจารณาแล้วว่าเจ็บมาก เพื่อนไม่ฟัง เดินหนีเลย   หากเขาตามมาแกล้งอีกให้บอกครู จำได้คร่าว ๆ ประมาณนี้ค่ะ
3.  ซ้อมบทบาทสมมุติก่อนลงสู่สนามจริงฮ่าๆๆๆ  อันนี้จำเป็นและสำคัญมากนะคะ  แม่ดาวจะซ้อม ๆ กับลูกจนมั่นใจว่าเขาพูดได้คล่องแล้ว และเข้าใจดีแล้ว แต่จะทำแบบขำ ๆ เขาจะได้ไม่เบื่อ ส่วนมากก็จะทำไปขำแม่ไปประมาณนั้น
4.  ติดตามผล หากยังไม่ดีขึ้น ยังถูกแกล้งอยู่ย้อนกลับไปเริ่มข้อ 1 ใหม่ฮ่าๆๆ  ทำไปสัก 3-4 ครั้งหากไม่ดีขึ้น แม่ดาวจะแจ้งคุณครูทราบด้วยตัวเอง  คิดว่าลูกพูดแล้วครูอาจไม่ใส่ใจมาก หากเราพูดเองน่าจะดีกว่า  แต่ทั้งนี้ส่วนมากจะพิจารณาด้วยว่าความรุนแรงที่ลูกได้รับมากน้อยประการใด หากถึงขั้นบาดเจ็บมากก็คงรีบไปแจ้งครูทันที 

ผ่านมาหลายปีก็มีการพัฒนาวิธีการบ้างเล็กน้อย แต่ความคิดนั้นพัฒนาไปเยอะมากฮ่าๆๆๆ เริ่มฉลาดขึ้น คิดบวกได้มากขึ้น ไม่ได้แค่แนวความคิด แต่คิดได้ตามแนวที่เคยอยากทำ และทำได้จริง  ปัจจุบันลูกชายอยู่ชั้นป.1  ลักษณะนิสัยไม่ค่อยยอมคนสักเท่าไหร่ แต่โดนแม่ครอบไว้ ปรามไว้ตั้งแต่เล็กๆ  อันที่จริงเขาเป็นเด็กที่รุนแรงเหมือนกันนะคะ  แต่เขาพอจะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีในระดับนึง  ฝึกๆ มา    ลืมเล่าไปนิดสมัยที่เรียนชั้นอนุบาลนั้น เขามาขอเรียนเทควันโด้ แม่ดาวก็ไม่สนับสนุนเท่าไหร่นัก นอกจากเปลืองเงินแล้วยังเป็นการติดอาวุธให้ลูกอีก  แต่ลูกอยากเรียนและป๊าส่งเสริมด้วย  เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเปลี่ยนมุมมองเป็นว่า เรียนไว้เผื่อใช้งานแทนฮ่าๆๆ  ไว้เพื่อป้องกันตัวก็น่าจะดีเนอะประมาณนี้

หากจำไม่ผิดน่าจะตอนอยู่อนุบาล 2 โดนเพื่อนแกล้งบ่อยมาก มาเล่าให้แม่ฟัง ใช้วิธีต่าง ๆแล้วก็ไม่ดีขึ้น ป๊าชี้โพรงให้ใช้เทควันโด้จัดการซิ เป็นการป้องกันตัว  แม่ดาวก็ทักท้วงนะ แต่.....เขาไม่ฟังค่ะ  อยากใช้ตั้งแต่ต้นเป็นทุนบวกกับป๊าเปิดทางให้ อีกวันกลับมาเล่าให้ฟังจัดการไปเรียบร้อย เพื่อนมาแกล้งอีก ไม่ใช้แล้ววิธีที่ผ่านมา แตะเพื่อนกลับ เพื่อนหนีแล้วก็ยังตามไปเตะอีก ประมาณเก็บกดแค้นใจมานานแล้ว วันนี้ขอสักหลายๆ  ที มีโอกาสแล้ว แค้นนี้ต้องชำระ  กลับมายิ้มแป้นหน้าบานเล่าให้แม่ฟังอย่างภาคภูมิใจ  ประหนึ่งนักกีฬาไทยได้เหรียญทองฮ่าๆๆ   แม่ดาวฟังก็สลด ใจเหี่ยว พลังหมด โอ้....ที่เผ้ากล่อมเกลาลูกเรามา แค่เพียงไม่กี่ประโยคของป๊าก็สามารถทำลายกำแพงที่แม่กั้นไว้ได้อย่างง่ายดาย   สอนลูกว่า ลูกใช้วิธีการแบบนี้แม่ไม่เห็นด้วย เพราะอะไร ชวนคุย  สุดท้ายก็ใช้คำพูดว่า ก็แค่ใช้ป้องกันตัว   แม่ดาวบอกว่าหากลูกใช้แค่ใช้ป้องกันตัว แล้วทำไมต้องตามไปเตะอีก เมื่อเพื่อนวิ่งหนีไปแล้ว  ลูกบอกสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็เขาทำลูกก่อนทำมาตั้งนานหลายที นี่ก็แค่เอาคืน  ยิ่งฟังลูกเล่ายิ่งปวดใจ ณ ตอนนั้น  ทำได้แค่บอกจุดยืนของเรา และไปพูดคุยกับสามี  เหมือนขำ ๆ นะคะ แต่ไม่ขำสักนิด  สามีเห็นด้วยกับลูกอยู่ดี จบไป ต่างคนต่างมุมมอง แม่ดาวกับสามีมีมุมมอง มีความคิดหลาย ๆ เรื่องที่ต่างกันจนน่าปวดใจ

กลับมาที่ปัจจุบันสักทีฮ่าๆๆ   มาดูวิธีการจัดการในปัจจุบันกันบ้าง เมื่อลูกถูกเพื่อนแกล้งจะทำอย่างไร

1.  รับฟังเรื่องราว อย่างไม่พิพากษาตัดสินความ ฟังเฉยๆ ไปก่อน  รับฟังด้วยใจปกติ  ให้เขาพูดให้จบ เล่าให้หมด  จากนั้นชวนพูดคุยแบบไม่ชี้นำ  พูดคุยเรื่อยๆ สบาย ๆ ให้ลูกเราผ่อนคลายความโกรธ ความอัดอั้นในใจไปก่อน ให้บ่นระบายว่างั้น  การที่แม่ดาวปล่อยให้ลูกได้ระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ลูกบรรเทาความคับแค้น ความอัดอั้นในใจไปได้เยอะ  แต่ต้องฟังให้เยอะ พูดให้น้อยนะคะ  ไม่ใช่แนวสอบสวนสืบสวนคดีความหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

2.  จากนั้นเหมือนเดิมค่ะ ชวนกันคิด ชวนกันคุย แบ่งปันแนวทางการแก้ไขปัญหา ส่วนมากแม่ดาวจะให้เขาคิดเองแล้ว ณ ตอนนี้ ลูกคิดว่าจะจัดการแก้ไขกับปัญหาเรื่องนี้อย่างไร แบบไหน เพราะมีประสบการณ์มามากพอสมควรฮ่าๆๆ 

3.  ให้เขาจัดการเองและติดตามผล
และผลที่ติดตามคือ ยังแกล้งอยู่เหมือนเดิมฮ่าๆๆ  อ้อ....เรื่องของลูกแม่ดาวนี้เท่าที่ฟัง เป็นการที่เพื่อนเขามักเล่นแรง ชอบแหย่เหย้าเอาสนุก(คนเดียว) ที่ฟังแม่ดาวไม่คิดว่าเป็นการแกล้งนะคะ เหมือนเล่นไม่เป็น แต่ลูกเราตีความว่า เพื่อนคนนี้ชอบแกล้ง นิสัยไม่ดีประมาณนี้  อันนี้ต้องฟังเขาไว้นะคะ แม่ดาวไม่ค้าน ช่วงที่ฟัง ก็ฟังไม่เถียง ฟังไปเรื่อย  จะออกความคิดเห็นเมื่อถึงขั้นที่2 

เมื่อผลยังแกล้งอยู่จึงถามเขาว่าต้องการตัวช่วยไหม (แม่) ฮ่าๆๆๆ ช่วยคิด แต่ไม่ลงมือช่วยเองนะคะ  หากเขาบอกจัดการได้ขอคิดเองก่อนก็ปล่อย ให้เขาคิดและที่นี้เริ่มกลับมาช่วยซ้อมบทบาทสมมุติอีกครั้งเพื่อความมั่นใจในการปฏิบัติการจริง    ครั้งนี้เขายังคิดเองได้อยู่ เราแค่รอติดตามผล    และผลปรากฎว่ายังไม่สำเร็จฮ่าๆๆ   งานนี้ลูกขอตัวช่วยแล้ว  แม่ดาวได้เสนอความคิดเห็นซะที คันปากมานาน ต้องข่มใจงับปากตัวเองไว้ ปล่อยให้ลูกตัดสินใจและลองทำด้วยตัวเอง  

ลืมบอกค่ะ ทุกครั้งที่เขาคิดดีคิดได้จะชื่นชมเขาทุกครั้ง เช่น ลูกแม่คิดดี ทำดีเนอะ แม่ภูมิใจจริง ๆ ประมาณนี้   แต่เวลากลับมาได้แผลกาย แผลใจ ก็ช่วยเยียวยารักษาทั้งแผลกายและแผลใจ เริ่มจากรับฟังอย่างตั้งใจ และแสดงให้เขารับรู้ว่าเราไม่ใช่แค่รับฟัง แต่เราเข้าใจ เห็นใจ ห่วงใยด้วย

มาถึงแม่ดาวแนะนำบ้าง  วิธีการปฏิบัติ
1. หากเป็นแม่ แม่จะ   คือจะใช้คำนี้นำบ่อย ๆ   เช่น หากแม่ถูกเพื่อนแกล้งอีก แม่จะบอกเพื่อนด้วยเสียงดัง ๆ ว่า ทำแบบนี้แม่เจ็บ และจะไม่เล่นด้วย  จากนั้นเดินหนีไป  แล้วหากเพื่อนตามจะบอกเสียงดังขึ้นอีกตามลำดับ สัก 2-3 ครั้ง
2.  หากเป็นแม่ แม่จะหาเพื่อน ๆ มาเป็นตัวช่วย จัดการกับเพื่อนคนนี้ โดยขอให้เพื่อนๆช่วยกันพูดเสียงดังๆ ออกมาว่า อย่าทำกับเพื่อนแบบนี้  ไม่งั้นจะฟ้องครู  (คือตัวเองขู่ว่าจะฟ้องครูเพื่อนไม่กลัว )
3.  หากแม่เดินหนี แล้วเพื่อนตาม แม่จะวิ่งไปหาคุณครู เพื่อบอกกับครูว่า เกิดอะไรขึ้น
4.  หากครูไม่อยู่  แม่จะตะโกนดัง ๆ หนักกว่าเดิม ขอให้เพื่อนๆช่วย แม่คิดว่าเพื่อนกันไม่ทิ้งกันหรอกเนอะ ฮ่าๆๆๆ
5. แม่จะไม่เล่นกับเพื่อนคนนี้อีก  แต่แม่ไม่ได้โกรธ  จะบอกเพื่อนว่า พร้อมมาเล่นด้วยกันดี ๆ แบบไม่ทำร้ายกันเมื่อไหร่จะเล่นด้วย  และหากเขาอ้อนวอน จะใจแข็งขอให้เขาพิสูจน์ตัวเอง 1 วัน ว่าจะไม่แกล้งเราอีก

ทั้งนี้หากหนักหนาสาหัสมาก จะแนะนำให้บอกครู  ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเองฝ่ายเดียว แต่เพื่อเพื่อนคนอื่น ๆ ด้วย  เพราะเพื่อนบางคนอาจไม่กล้าพอที่จะบอกครู ประมาณว่าเขาคือ ฮีโร่ ที่ช่วยทั้งตัวเองและเพื่อน    ทั้งนี้ด้วยลูกจะบอกแม่ดาวว่าเกรงใจครู ครูเขางานเยอะ เด็ก ๆ ก็ซนมาก ครูเหนื่อยมากประมาณนี้ เลยต้องใช้เหตุผลนี้เข้าช่วยตะล่อมให้บอกกับคุณครู เพราะน้องดีโด้ไม่กลัวคุณครู เขาบอกนะคะ แม่ดาวไม่ได้ตีความเอง

ต่อมาวิธีคิด
1.   แม่คิดว่า เพื่อนลูกคนนี้ไม่ใช่เด็กเกเร แต่เล่นไม่เป็น เขาน่าส่งสารออกนะ เพราะลูกเล่าว่าเพื่อน ๆ ในห้องเอือมระอาไม่ค่อยมีใครอยากจะเล่นด้วย   และที่เขามาเล่นกับลูก (ลูกตีความว่าแกล้ง)  เพราะคงเห็นว่าลูกเล่นด้วยสนุก เขาคงรักและชอบหนูมาก จึงมาเล่นแบบพิเศษแต่กับหนู ซึ่งแม่ก็เข้าใจว่าลูกไม่ชอบ  แม่เองก็ไม่ชอบ แต่อยากให้เข้าใจเพื่อนบ้าง
2.   สอนให้เขาเห็นว่า  เราเล่นแรงแบบนี้ เกเรเพื่อน แกล้งเพื่อน หรือพูดจากไม่เพราะ ผลลัพธ์ที่จะได้ก็อย่างที่เห็น คือไม่มีใครอยากคบ อยากเล่นด้วย   ย้ำเรื่องกรรมและวิบากกรรมเป็นการสอนพุทธศาสนาไปในตัว
3.   ถามเขาเลยว่าเพื่อนแกล้งลูก ลูกคิด และรู้สึกอย่างไร   เขาบอกโกรธที่ใจและเจ็บที่กาย ประมาณนี้  หากเป็นแม่ แม่เป็นหนู  แม่จะเจ็บแต่กาย แต่จะไม่เจ็บใจ ไม่งั้นทุกข์แย่  เจ็บ 2 ต่อ  เจ็บกายแล้วยังเจ็บใจด้วย  สอนให้เขาให้อภัย เวลาเราให้อภัยไม่โกรธใครใจเราจะเบา ๆ และเป็นสุขเนอะ   เพื่อนทำร้ายเราเจ็บกายแล้ว ทำไมเรายังมาทำร้ายตัวเองด้วยการโกรธเพื่อนให้เจ็บใจอีก  แบบนี้ไม่ฉลาดเนอะ (ด้วยลูกเป็นเด็กที่อยากให้คนมองว่าฉลาด)  

ซักซ้อมภาคปฏิบัติและติดตามผล   

และผลคือ
ลูก            แม่ครับ วันนี้....(ชื่อเพื่อน)ไม่แกล้งดีโด้แล้ว
แม่            ดีจังเลยครับลูก ลูกได้ผลใช่ไหมวิธีที่เราคุยกัน
ลูก            ใช่ครับ วันนี้......ไม่แกล้งดีโด้เลยกอดดีโด้ทั้งวัน
แม่            (งงๆ)  โอ้...ดีจังเลย แต่เพื่อนกอดลูกเพราะอะไรเหรอครับ
ลูก            อันที่จริง ......ไม่ได้กอดจริงๆ หรอก ดีโด้คิดเอา ว่าเพื่อนกอด เวลาเพื่อนทุบหลัง ก็คิดว่ามากอดหลังดีโด้ เวลาเพื่อน..................ก็คิดว่ามากอดดีโด้ 
แม่            (เอ่อ............แบบนี้หลอกตัวเองเปล่าเนี้ย จะดีไหมนะที่คิดแบบนี้)   อ๋อ....เหรอครับ งั้นลูกก็ไม่เจ็บเลยซินะ  (ถามหยั่งอาการ)
ลูก            เจ็บซิแม่ โดนทุบหลักดังมากๆๆๆเลยนะ ไม่เจ็บได้ไง   แต่เจ็บแค่กายแหละ ใจไม่เจ็บตาม ดีโด้สบายใจมากเลย
แม่            (คิดหนัก นี่เราสอนผิดหรือถูกเนี้ย)  แม่ดีใจนะครับที่ลูกเจ็บแค่กาย  ไม่เจ็บใจตามไปด้วย แต่จะดีมากเลยครับหากลูกแก้ปัญหาไม่ให้เจ็บกายได้ด้วย (ฮือๆๆๆ สงสารลูก)
ลูก            คงยากนะแม่   .........เขาไม่กลัวใครเลย  ครูเขาก็ไม่กลัว ขนาดโดนดุไปหลายรอบ ยังไม่เข็ด ไม่กลัวสักนิด  ดีโด้ไม่เห็นเขาจะกลัวใครเลย  ดีโด้ทำใจแล้ว 
แม่            อ้าว....ลูกทำใจได้แล้ว  แล้วเพื่อนคนอื่นๆ  ที่โดนแกล้งล่ะ เขาจะทำไง  
ลูก            ก็ไม่ค่อยแกล้งคนอื่นเท่าไหร่  เห็นมีแต่ชอบผลักหัวเพื่อนบ้างนิดหน่อย (คือไม่รุนแรงเท่าที่ทำกับเขา)
แม่            จ๊ะ......แล้วไม่ลองวิธี งดเล่นกับเพื่อนก่อนบ้างเหรอลูก
ลูกไม่ตอบอะไร  บอกแต่ไม่เป็นไรอย่างเดียว ทำใจได้สบายมาก   แต่เท่าที่สังเกตลูกเขาก็ร่าเริงดี  พูดคุยปกติ ไม่ค่อยร้องตอนเช้าว่าจะไม่ไปเรียนเพราะเพื่อนคนนี้แกล้งแล้วนะคะ   ก็ไม่รู้ยังไงเหมือนกัน แต่ก็เผ้าติดตามเรื่อยๆ ทุกวัน ชวนคุยทุกวัน   นี่ก็ว่าหากไม่ดีขึ้น ทางกายนะคะ  จะไปคุยกับเด็กคนนั้นสักที  ต้องหาโอกาสเหมาะ ๆ  ช่วงเวลาไม่ได้ตรงกันเลย  ด้วยคนอื่นๆ  เรียนพิเศษแทบทั้งหมด  เหลือแต่เขากับเพื่อนไม่กี่คนที่ไม่ได้เรียน จะมีเรียนก็ 2 วัน แต่ไม่ได้เรียนวิชาการ เป็นว่ายน้ำและเทควันโด้   รอๆๆๆๆ และรอติดตามต่อไป  หมายถึงแม่ดาวนะคะ 

วันนี้มีสอนเพิ่มเรื่องหากเห็นเพื่อนหรือคนอื่นที่โรงเรียนถูกรังแกหรือทะเลาะกันให้จัดการดังนี้
1.   เข้าไปบอกเสียงดัง ๆ เช่น ทำแบบนี้ไม่ได้นะ  จะไปบอกครู  แต่ไม่ให้ลงสนามจัดการคลุกวงในกับเขาด้วย ให้อยุ่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ และใช้เสียงเป็นพอ
2.  ให้ชวนเพื่อนมามุงและตะโกนดัง ๆ ด้วยกัน และส่งม้าเร็ว หรือจะไปเองก็ได้ไปบอกครู หรือผู้ใหญ่ที่อยู่แถวนั้นให้ช่วย
3.  เน้นย้ำเรื่อง อย่าปล่อยให้ใครมารังแกเรา หรือปล่อยให้เขารังแกใคร 
                                ขอเป็นอีกพลังในการขับเคลื่อนต่อต้านและลดความรุนแรงนะคะ     สำหรับตอนนี้ง่วงเป็นที่สุด คิดมุขไม่ออกแล้ว ขอจบแบบห้วน ๆ สั้น ๆ  โปรดช่วยกันดูแลและรักษาลูกและโลกของเราด้วยนะคะ   อย่าลืมคำนี้  ทำได้เท่าที่จะทำ ทำให้ดีที่สุดแล้วปล่อยให้เป็นไป      

                  ต้องขอบคุณรายการโทรทัศน์ช่องน้ำดี ที่นำเรื่องดี ๆ แบบนี้มาแบ่งปัน ได้แนวคิดนี้จากการดูสัมภาษณ์รายการอะไรจำไม่ได้ฮ่าๆๆๆ  แต่ดีมาก และไม่ได้ดูตั้งแต่ต้น จะค้นดูก็ไม่ได้เพราะจำชื่อรายการไม่ได้ฮ่าๆๆ  ดูแบบไม่พร้อมอีกต่างหาก  แหม....เสียดายจัง