วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

หากเราไม่เห็นว่าสำคัญ เราจะไม่ทำมันจริงไหม





            อีก 1 เรื่อง ที่วนเวียนอยู่ในหัว จนในที่สุดคิดว่าถ่ายทอดเรื่องคาใจนี้ออกมาดีกว่า อันที่จริงก็เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ มีเพิ่มบางส่วนเข้าไปนิด ๆ 

            การบ่มเพาะ สร้างระเบียบวินัย  คุณคิดว่ามันเกิดจากการบังคับ สั่งการ หรือเกิดจากการพยายามทำให้มันเกิดขึ้นซ้ำ  ๆ ทำกันบ่อย ๆ จนชิน ติดเป็นนิสัย หรือคิดว่าเกิดจากอะไร

            อย่างที่รู้ ๆ กัน ตัวเองนั้น ก็พยายามบ่มเพาะปลูกฝังเรื่องพวกนี้กับลูกมาก็ประมาณ 2 ปีได้แล้ว ช่วงนึงเขาก็ทำได้ดี  แต่ช่วงนี้ก็แทบจะไม่เอาเลย  เลยทำให้ต้องมานั่งทบทวนเรื่องราวหลาย ๆ เรื่องทั้งที่เกิดจากตัวเอง(ก่อน)  ตัวเราเริ่มมีระเบียบวินัยได้ตอนไหนกัน    เอาแบบเริ่มมีระเบียบวินัยจริง ๆ โดยใช้ความพยายามอย่างมากฮ่าๆๆ เพราะก่อนหน้าในชีวิตส่วนตัวนั้นแทบจะไม่มีระเบียบวินัยกับเรื่องใด ๆ เลย ยกเว้นเรื่องการตรงต่อเวลา เรื่องนี้เรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือด และยกเว้นในการทำงานนอกบ้านในสมัยก่อนหน้าจะมีลูก

            คิดว่าการที่เรานอนตื่นสาย  บ้านรก ก็เรื่องของเรา ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนสักหน่อย หากเสาร์-อาทิตย์หยุดงาน ก็นอนตื่นสายได้ ซึ่งสมัยเรียนไม่ได้นอนตื่นสาย แต่นอนตื่นบ่ายกันเลยทีเดียว เป็นปกติของชีวิต  พ่อแม่ก็บ่น สั่งสอนมาตลอด สารพัดจะสอน แต่ไม่ทำ  เพราะไม่เห็นความสำคัญว่า ทำไมต้องทำ  เพราะตัวเองนั้นไม่ได้มีหน้าที่อื่น ๆ นอกจากกิน เรียน เล่น  อาจมีบ้างที่พ่อแม่ บอกให้ช่วยเหลืองานบางอย่าง ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองแต่อย่างใด 

            แต่มีสิ่งหนึ่งที่มันซึมเข้าไปโดยเราไม่รู้ตัวคือ เรื่องการตรงต่อเวลา ที่บ้านจะให้ความสำคัญมากกับการที่ต้องไปโรงเรียนให้ตรงเวลา  ส่วนใหญ่ก็จะไปเช้ากว่าเวลาเยอะ ส่วนพ่อเองก็จะเป็นตัวอย่างในเรื่องนี้มาก และพ่อจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญมากกับเรื่องนี้ ขนาดนัดกันไปเที่ยว หากทางฝ่ายเพื่อนนัดกี่โมงก็ต้องไปให้ถึงก่อนเวลาอย่างน้อยสัก 15 นาที ซึ่งส่วนมากก็ไปก่อนเป็นชั่วโมง  อันนี้เท่าที่สมองลูกนกอย่างแม่ดาวจะจำได้ฮ่าๆๆๆ   และพ่อเป็นคนมีวินัยกับการทำงานสูงมาก เป็นคนที่รับผิดชอบงานที่สุด  เรียกว่ามีตัวอย่างดี ๆ ให้เห็นอยู่ตลอดกับเรื่องพวกนี้ 

            ส่วนที่บ้าน แม่จะเป็นแม่บ้าน ลูกๆๆ ไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากที่กล่าวมาข้างต้น แม่ก็เป็นคนสบาย ๆ รักลูกมากๆๆๆๆ แต่อาจจะรักแบบผิดวิธีไปสักนิด ซึ่งอันนี้แม่ดาวก็เข้าใจเขาแหละ  เพราะมันมีเหตุของการกระทำ  เมื่อเราเข้าใจเหตุผลแล้ว ไม่คิดจะตำหนิ ท่านเลย เพราะท่านรัก เพียงแต่ท่านแค่ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงอย่างไรจึงจะถูกทาง  รักอย่างที่พ่อเองก็บ่นว่าแม่เสมอ ๆ “จะเลี้ยงลูกให้เป็นเทวดาหรือไง”  เป็นคำพูดที่ได้ยินจากปากพ่อบ่อยๆ  แต่แม่เองก็มีวิธีการสอนหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้เราเป็นคนดีได้ แค่เราไม่มีระเบียบวินัยแค่นั้นฮ่าๆๆ  แม่มักสอนในเรื่องจิตใจ การช่วยเหลือคนอื่น การแบ่งปัน ฯลฯ โดยที่วิธีการสอนของแม่นั้น คือท่านทำให้เราเห็น ท่านอาจไม่รู้ตัวหรอกว่าการสอนแบบนี้ ดีกว่าการสั่ง  การพูด พร่ำบ่นขนาดไหน อิอิ  

            คำตอบตอนต้น คือ  แม่ดาวนั้นมีระเบียบวินัยจริง ๆ ได้ก็คงตอนเริ่มมีครอบครัว  และยิ่งเข้มข้นมากขึ้นตอนมีลูกนี่แหละ  เมื่อก่อนไม่เคยเห็นว่ามันสำคัญ  ก็สบาย ๆ ไปเรื่อย ๆ พอมีลูกแล้ว มันแจ่มชัดเองในความคิด ว่า แค่การพร่ำสอน ไม่ได้ผล เท่าการกระทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง  อันนี้รวมไปถึงทุก ๆ เรื่องไม่ใช่แค่ระเบียบวินัย  

            มาอีกตัวอย่าง  มีคนที่รู้จักสนิทหลายคน ที่เคยเรียนในโรงเรียนที่หากบอกไปทุกคนน่าจะต้องรู้จัก เรื่องระเบียบวินัยของโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ทราบกันดี  เป็นโรงเรียนชายล้วนชื่อดังเชียวแหละ  แต่ที่เห็นทุก ๆ ปิดเทอม พี่ท่านก็ยังนอนตื่นสาย ไม่มีระเบียบวินัยอยู่ดี  พ่อแม่หลาย ๆ คนคงคิดว่า ส่งลูกเข้าโรงเรียนแบบนี้แหละดี อยู่บ้านมันไร้ระเบียบวินัยเหลือเกิน ส่งไปดัดสันดานเสียให้เข็ด เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อย ๆ จากปากพ่อแม่หลาย ๆ ท่าน  

            ปัจจุบันพี่ชายคนนี้ก็เป็นคนไม่มีระเบียบวินัยอะไรเลย แม้กระทั่งชีวิตการทำงาน  ไม่ชอบทำงานบริษัท ไม่เห็นความสำคัญของการที่ต้องไปทำงานให้ตรงต่อเวลา  จนกระทั่งมีลูก ๆ นั้นก็เป็นเช่นเดียวกัน  ขนาดเวลากิน นอน ของลูกก็ยังไม่เป็นเวลาเช่นกัน   ไม่รู้มาอ่านจะเคืองกันไหม  แต่คิดว่าเรื่องมันมีประโยชน์ต่อผู้อื่น คิดว่าทำบุญนะพี่นะ   ไม่ได้ตำหนิพี่ชายแต่อย่างใดเน้อ  เข้าใจ ว่าครอบครัวใครก็ครอบครัวมัน แต่อยากบอกว่า อนาคตมันจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นด้วยเหมือนกัน  บางนิสัยอาจไม่เดือดร้อนใคร เช่น กิน นอน แต่หากพวกเรื่องอื่น ๆ เช่น การตรงต่อเวลา อันนี้มีผลกระทบแน่  หากอยู่ร่วมกันในสังคม 

            แม่ดาวนั้นสมัยเรียนมักจะหงุดหงิด จิตเสีย กับเพื่อนในกลุ่มที่ทำรายงานด้วยกันอยู่เสมอ ๆ  นัด 9 โมง กว่าจะทยอยมากันครอบปากไป 10 โมง 11 โมง  กว่าจะรวมตัวกันได้ กว่าจะได้ทำงาน นี่ถ้าทำเองคนเดียวงานก็เสร็จไปนานแล้ว  อันนี้เรียกว่าทำกรรมนะคะ  ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนฮ่าๆๆ  ต้องขยายเวลา ลากยาวไปทั้งวัน บางทีก็ยันกลางคืน  แถมมากันแล้วแทนที่จะช่วยกันทำให้เสร็จ ก็เล่นไปทำไป อันนี้ขัดใจจริง ๆ  สมัยนั้นจะเป็นคนตึงมาก  ไม่ใช่คนเรียนเก่ง  แต่เวลาทำอะไรจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบค่อนข้างสูง  

            มาอีกนางที่รู้จักเรียนโรงเรียนประจำเช่นกัน  แต่ก็เป็นโรงเรียนชาย-หญิง  ตอนอยู่ที่โรงเรียนต้องตื่นเป็นเวลา ต้องอ่านหนังสือตอนเช้าก่อนเข้าเรียน ฯลฯ ทุกอย่างต้องมีระเบียบวินัย  ปิดเทอมมาก็เหมือนเดิม   ปัจจุบันชีวิตนั้นก็แทบไม่เห็นความเป็นระเบียบวินัยในตัวพระน้องนาง 

            มาที่ตัวลูกชาย  น้องดีโด้  สังเกตุมาเรื่อย ๆ ถึงจะให้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ  แต่เขาก็ไม่จำ อันที่จริงต้องเรียกว่าเขาไม่ใส่ใจมากกว่า เพราะคิดว่า เขาไม่เห็นว่า ทำไมต้องทำแบบนี้  ถึงเราจะบอกเหตุผลไปแล้ว แต่มันเป็นเหตุผลที่ไม่เข้าไปถึงใจเขา   เช่น การถอดเสื้อผ้ากองไว้  แม่ดาวจะบอกว่า  “แม่ไม่ชอบเลย เพราะบ้านเราจะดูรก แม่ไม่ชอบจริง ๆ และแม่ก็เหนื่อยมากที่ต้องพูดซ้ำ ๆ กับเรื่องที่ลูกก็รู้อยู่แล้ว”  เขาก็จะขอโทษ และให้เหตุผลว่า “ลืม”  ช่วงหลัง ๆ เป็นบ่อย เลยบอกเขาว่า หากแม่ต้องพูดเยอะ ๆ แม่เหนื่อย คงต้องงดนิทาน อันนี้ดูจะดีขึ้น   ต่อมาก็มีปรับชิ้นละ 1 บาท   ก็ดีขึ้นอีกนิด  คือที่ใช้วิธีพวกนี้ เพราะรู้ดีว่า สิ่งเหล่านี้จะได้ผลกับลูกของเรา     

            กำลังคิดว่า จะต้องหาวิธีพูด หรือทำบางอย่างให้เขารับรู้เข้าไปถึงใจ ว่าแต่ละเรื่องที่แม่สอนให้เขาทำนั้น มันสำคัญกับเขาอย่างไร มี 2 แผนที่คิดไว้ คือ  แต่งนิทานเอง และการเปิดประชุมประจำบ้าน  ที่บอกไปบน face แต่ยังไม่ได้ทำเพราะตอนนั้นต้องเดินทางไปต่างจังหวัดแบบเปลี่ยนแผน จนถึงวันนี้สมาชิกในครอบครัวก็รวมตัวกันไม่ได้สักที   ส่วนนิทานเนี้ยก็ต้องใช้ความคิดเยอะ ต้องเลือกอะไรที่เขาฟังแล้วจะถูกกับจริตเขา  คิด ๆ ต้องให้โดน ๆ ต้องให้กระเทาะใจ แต่ไม่กระเทือนใจ  สอนแบบเนียน ๆ  เคยทำมาแล้ว และได้ผลดีมาก  แต่ตอนนี้เขาโตมาก รู้มาก เลยผูกเรื่องลำบาก  สอนแบบไม่สอน อันนี้ยากจริง

            สรุปในความคิดของตัวเองคือ  ระเบียบวินัยนั้นต้องสร้างด้วยใจให้ถึงใจ ไม่ใช่ แค่บังคับ สั่งการ พูดพร่ำไปเรื่อย ๆ  ส่วนวิธีไหนยังไง ต้องลองกลับไปคิดกันเองแต่ละครอบครัวเนอะ  เด็กแต่ละคนก็นิสัยต่างกันมาก  บางคนที่เจอนะคะ ไม่ต้องสอนเยอะ เขาก็น่ารัก มีระเบียบวินัย บางคนที่รู้จักดีได้จากโรงเรียนก็มี พ่อแม่เนี้ยคนละเรื่องกันเลย  ขึ้นอยู่กับตัวเด็กเขาด้วยส่วนหนึ่ง

            ความเชื่อที่แม่ดาวมีคือ  บุคคลิกลักษณะนิสัยของแต่ละคนนั้น  เกิดจากกรรมเก่าที่ส่งเรามาเกิด 1 ส่วน   พันธุ์กรรมในชาตินี้ 1 ส่วน  อารมณ์ในช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งท้องด้วยอีก 1 ส่วน  การเลี้ยงดูสิ่งแวดล้อมอีก 1 ส่วน  

            อันนี้ความเชื่อส่วนตัวนะคะ  หรือใครคิดว่ายังไง


**** อย่าลืมนะคะ  ทำให้เต็มที่ ส่วนผลจะออกมาดีหรือไม่นั้นอย่าไปสน  เคยเป็นคนที่ตั้งใจมาก เลยคาดหวังมาก และเจ็บใจเสียใจมาก  ทำให้เต็มที่ค่ะ ผลลัพท์ที่จะออกมาจะดีหรือไม่ ก็เกินการควบคุมของเราแล้วเนอะ  "ยอมรับ เรียนรู้ อยู่กับปัจจุบัน"  ประโยคเด็ดที่ท่องจำอยู่ในใจ


           
           

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เข้าสู่โหมด “โกหก” เพื่อ




        ห่างหายจากการพิมพ์ การเขียน และการอ่าน ทุกอย่างแทบไม่ได้ทำเลยในช่วงลูกปิดเทอมที่ผ่านมา   มีเรื่องมาพิมพ์บทความ คิดเองว่าต้องนำมาขยายต่อ คือ “เด็กชอบพูดโกหก”

        ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาได้มีโอกาส พบและได้พูดคุยกับเด็กคนนึง น่าจะอายุสักประมาณ 7-8 ขวบ เขาเป็นเด็กที่ดูบุคคลิกภายนอกก็จะดูแข็ง ๆ  ไม่อ่อนโยน ไม่สุภาพ ก็คงสไตล์เด็กผู้ชายโดยส่วนใหญ่ที่อยู่ต่างจังหวัดด้วยหรือเปล่า  คือเท่าที่ตัวเองก็เป็นเด็กต่างจังหวัด เด็กผู้ชายต่างจังหวัดก็จะแบบแข็งๆ  ประมาณนี้   ต่างจากเด็กกทม. ที่จะพูดเพราะ ดูสุภาพกว่า อ่อนโยนกว่า นี่เล่าจากส่วนมากที่ตัวเองเจอนะคะ

        ผู้ปกครองที่นำเด็กมาดูแลช่วงปิดเทอมบอกว่า เขาเป็นเด็กมีปัญหามาก อารมณ์รุนแรง โมโหร้าย และโกหกแทบทุกเรื่อง  เอ่อ......พอได้ฟังก็คิดในใจ “ขนาดนั้น” เลยหรือ  ยังไม่เชื่อนะคะ  คิดเองว่า อาจจะคิดไปตามสไตล์ผู้ใหญ่ที่มองด้วยสายตาแบบผู้ใหญ่หรือเปล่าหนอ

        พอได้พูดคุย ใกล้ชิด ก็ค่อย ๆ เห็นว่า “ก็จริง” นะ  แต่...................ไม่รู้สึกตำหนิเด็กเลยค่ะ  กลับยิ่งรู้สึกเห็นใจ เข้าใจ และสงสารเด็กมาก  มีการคิดเองเออเองตามประสา คุณแม่ชอบตีความ ฮ่าๆๆๆๆ  แล้วสิ่งที่เราคิด ก็จริงด้วยนะ  เขาถูกเลี้ยงดูประมาณถูกดุ ถูกตำหนิ ถูกทำโทษ ตี  และบางทีก็ไม่สมเหตุสมผล  อันนี้เติมเองจากที่เคยเห็นและได้ยินด้วยตัวเอง  

        เด็กคือผ้า ส่วนเนื้อผ้าแต่เดิมนั้นจะมาแบบไหน ยังไงซะคงไม่ขนาดนี้เนอะ  การโกหก การพูดปด ของเขา จากที่เราสัมผัส คือ เขาทำเพื่อปกป้องตัวเอง  กลัวโดนตำหนิ กลัวถูกทำโทษ พอทำไปนานๆๆๆๆๆ  เข้ามันติดเป็นนิสัยไปโดยปริยาย  เด็กคนนี้ เขาชอบไหว้พระ  รู้จักศีล 5 เป็นอย่างดี  แต่คิดว่าที่เขาทำสมองคงสั่งการว่า “โกหกแล้วจะรอดปลอดภัย” เขาถึงทำ  

        เราเป็นแค่คนนอกครอบครัว ทำได้เต็มที่ ก็แค่เล่านิทาน เล่าเรื่อง ชวนพูดคุย แต่จะไม่มุ่งประเด็นไปที่ตัวเขา ทำเป็นสอนลูกเรา และให้เขาผู้เป็นพี่ช่วยสอนน้อง  เขาสอนน้องได้ดีทุกอย่าง เขารู้ว่าเรื่องไหนดี ไม่ดี เขารู้ถูก รู้ผิด แต่เขาไม่สามารถควบคุมจิตใต้สำนึกของเขาเองได้  เห็นแล้วก็เห็นใจ เข้าใจ  ไม่รู้สึกรังเกียจ แต่มีแปลกใจบ้าง คือบางเรื่อง ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าโกหกทำไม  มานั่งคิดเอง ตอบเอง เอ่อ......ก็มันติดเป็นนิสัยไปแล้วนี่นะ  อันนี้แก้ยากจริง ๆ 

        เช่น  เวลาถามเขาไม่ตอบ  คนที่ถามก็ถามหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงไม่ตอบ เขาเลยบอกว่าเจ็บหู หูไม่ได้ยิน เลยต้องพากันไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจ ผลปรากฎว่า “ปกติ”     เอ่อ....แม่ดาวเนี้ยคิดไว้อยู่แล้ว่า ที่เขาไม่ตอบ เพราะเขาไม่อยากจะตอบ เขาคิดไม่ออกว่าจะตอบอะไร  ถึงบางคำถามจะเป็นคำถามง่าย ๆ แต่คิดออกไหมค่ะ เด็กเขาระแวงไปหมด เขารู้สึกว่าเขาถูกจับผิด  ด้วยว่า คนพามาเขาบอกว่า “จะพามาดัดนิสัย” เวลาเขาเห็นเราคุยอะไร เขาก็จะมองตลอด ระแวงว่า นี่จะว่าอะไรเขา มองด้วยสายตาที่หวาดระแวง  ไม่มีใครอยากเป็นคนไม่ดีจริงไหมค่ะ  เขาดูไม่มีความสุขเท่าไหร่  ถึงเราจะไม่ได้พูดถึงเขา เขาก็จะมองตลอด  ด้วยความระแวงนั่นแหละ  เขารู้ว่า “ผิด” แต่มันห้ามตัวเองไม่ได้ คิดว่านะ

        เขาโกหกได้แทบทุกเรื่องจริง ๆ แม้แต่เราที่หวังดีกับเขาอย่างจริงใจ  คิดว่าเขารับรู้ได้แน่ ๆ ค่ะ ว่าเราหวังดีกับเขาจริง ๆ เมตตาเขาจริง ๆ  เวลาที่เขาอยู่กับเราแล้วเขาโกหก เขาจะเหมือนทำหน้ารู้สึกผิด ไม่สบตา พูดไม่เต็มปากเต็มคำ และต้องบอกว่า หากเขาอยู่ในภาวะปกติด้วยนะคะ คือไม่ถูกกดดัน อารมณ์ปกติ ไม่เครียด   ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะคะ  และหากเขาอยู่ในโหมดปกป้องตัวเอง เขาจะแสดงอาการอีกแบบเท่าที่สังเกตุนะคะ

        ถามว่าแล้วแบบนี้ควรทำอย่างไร  คนที่ถามไม่ใช่คนดูแลที่แท้จริง ไม่ใช่พ่อแม่ด้วยนะคะ  ถามเพราะห่วงใยในตัวเด็ก  แม่ดาวก็นิ่งอึ้ง ยากมาก  เพราะให้แก้ที่พ่อแม่ คนดูแล เขาบอกว่า ยากเช่นกัน  หากคนเลี้ยงไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ความคิด ก็ยาก  ต่อให้พาไปพบจิตแพทย์ด้วยนะ คิดเองต้องให้คนดูแล พ่อแม่พบมากกว่าที่จะให้เด็กไปพบ  แก้ที่ต้นเหตุจะดีกว่าปลายเหตุเนอะ   และการที่ว่าให้ผู้ปกครองไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่การประชดประชันนะคะ  หมายถึงอย่างนั้นจริง ๆ บางทีคำพูดจากปากจิตแพทย์ จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าที่จะทำให้คล้อยตาม และยอมเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นได้

        เล่าๆ เนี้ย แค่ให้เป็นอีก 1 เรื่องที่ลองย้อนถามตัวเองว่าเราเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กชอบโกหก หรือเปล่า  บางทีเราก็ไม่ทันคิดถึงจุดนี้   เห็นลูกโกหก ก็ว่าลูก ตำหนิลูก “เด็กนิสัยไม่ดี ชอบโกหก”  อยากให้ย้อนดูที่การสอน การเลี้ยงดูของเราเองก่อนเป็นสำคัญนะคะ  

        และเรื่องความรุนแรงของเขาเวลาเขาโกรธนั้น ฟัง ๆ แล้วก็หนักใจแทน ทำลายข้าวของ ขว้างปาของ ไม่แน่ใจว่าทำลายผู้อื่นด้วยหรือเปล่า  หากเราเลี้ยงเขาด้วยอารมณ์เกรี้ยวกราด ใช้ความรุนแรง จะแปลกใจทำไม หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ถ้าไม่ใช่ตัวเองเนอะ บางเรื่องก็พูดยาก บางคนเขาไม่ได้คิดแบบนี้ มองข้ามตัวเองไป มองไปไกลมาก ทั้ง ๆ ที่ปัญหามันอยู่ใกล้ขนาดนั้น  ทำได้แค่อยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ อีกแหละ

        น้องดีโด้เองก็เคยเกือบ ๆ จะกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ เช่นกัน  ด้วยที่สามีเป็นคนชอบตำหนิ เจ้าระเบียบ เหมือนจะจ้องจับผิดตลอดเวลา   เขาหวังดี รักลูก แหละค่ะ แต่ผลมันออกมาตรงข้าม  ก็ต้องพูดคุยชี้ให้เห็นพฤติกรรมของลูกให้เขาเห็น  ยอมรับบ้าง ไม่ยอมรับบ้าง ตามประสา  อย่าว่าแต่ลูกเลยค่ะ แม่เองยังจิตตกฮ่าๆๆๆ จะบาปไหมเนี้ยเอาเรื่องจริงมาเล่าต่อเนี้ย  เอาเป็นว่าการเขียนบทความนี้ไม่ได้จะมุ่งร้ายต่อใคร แต่เพื่อประโยชน์ของพ่อๆ แม่ ๆ เนอะ