วันเสาร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2555

การบ้าน/การเรียน/โรงเรียน เรื่อง....เวียนหัว


        ใครเคยทะเลาะกับลูกเวลาสอนการบ้านให้ลูกบ้างค่ะ....ยกมือขึ้น ฮ่าๆๆ  แม่ดาวก็ด้วยหนึ่งคนที่ประสบกับปัญหานี้บ่อย ๆ   เคยเครียดขนาดจดปัญหานี้ไว้ใส่กระดาษไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญกันเลยทีเดียยว  ตอนที่ลูกอยู่ชั้นอนุบาล  1   

        อันที่จริง ตัวแม่ดาวเนี้ยไม่ได้เน้นวิชาการอะไรเลย  แต่ด้วย “การบ้าน” คือ “ความรับผิดชอบ” อย่างหนึ่งของลูก  แม่ดาวอยากปลูกฝังเรื่องนี้มากกว่า เลยกลายเป็นปัญหา โลกแตกทะเลาะกับลูกบ่อยๆๆ มากกับการบ้านของลูกเนี้ย  

        อยากบอกว่า ส่วนหนึ่งเราก็เข้าใจว่าโรงเรียนก็ต้องเน้นแข่งขันกันปกติค่ะ  การบ้านเยอะ  แถมบางครั้ง ยากจริง ๆ เราคิดเองว่า  นี่หรือ คือการเรียนการสอนระดับชั้นปฐมวัย     ครอบครัวเราต่างหากที่ผิดปกติ(ของสังคมส่วนใหญ่)  สวนกระแส แต่แส่ไปเรียนโรงเรียนปกติฮ่าๆๆ  แต่ทำไงได้ก็โรงเรียนทางเลือกแต่ละที่ ๆ รู้จัก ก็อยู่ไกลเกินไปถึง  และบางที่ก็ค่าเทอมแพงแสนแพง จนเราก็สู้ไม่ไหว ทำได้แค่ “ทำใจ” ยอมรับให้ได้ และเรียนรู้เพื่อจะสอนให้ลูกอยู่อย่างไรอย่างมีความสุขเท่าที่เราจะทำได้ 

        อันที่จริงแม่เนี้ยดูจะมีปัญหามากกว่าลูกซะอีก  แรก ๆ ของการเข้าเรียนยอมรับกับสังคมโรงเรียน ในโลกแห่งความจริงไม่ค่อยจะได้   เราฝันไว้เยอะ คาดหวังไว้สูงกับเรื่องโรงเรียนของลูก  โรงเรียนในฝันของแม่ดาวนั้น ก็มีอยู่จริง ๆ นะคะ แต่อย่างที่บอกว่าอยู่ห่างไกล และไม่ไหวกับค่าเทอม  

        สิ่งหนึ่งที่อยากจะเตือน คือ หากเราทำให้ลูกรับรู้ว่าเรามีปัญหากับโรงเรียนเมื่อไหร่ ลูกเองก็จะมีปัญหาและไม่สบายใจไปด้วย ถึงเราไม่ต้องพูด แต่สีหน้า ท่าทาง ฯลฯ สายสัมพันธ์ที่เราเชื่อมต่อกันไว้นั้น มันเชื่อมโยงข้อมูล ถ่ายทอดความรู้สึกไปได้เสมอๆ  อันนี้ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ด้วยนะคะ 

        แม่ดาวผ่านระยะเรียนรู้ทุกข์มาได้สักระยะ ก็เลิกทุกข์กับปัญหาพวกนี้ หรือบางทีก็ยังมีบ้าง แต่มันก็น้อยลงไปเยอะ  ปล่อยวางอะไร ๆ ไปได้เยอะมาก เข้าใจชีวิตมากขึ้น  การบ้านของลูก  การเรียนของลูก  หรือโรงเรียนของลูก  เอาเป็นว่าปัจจุบันก็ไปตามน้ำแหละค่า ไม่ได้ทวนกระแสซะทีเดียว แต่ก็ไม่ได้ไหลเรื่อย ๆ ไปตามน้ำ เช่นกัน บอกไม่ถูกเนอะ คือเราแก้ปัญหาที่โรงเรียนไม่ได้ แต่เราแก้ปัญหาเองบางเรื่องที่บ้านเราได้

        มาต่อกัน เรื่องการบ้าน การเรียน คือเรื่องของใคร  หลาย ๆ คน ก็คงตอบได้เนอะ “ลูก” ไง  แต่เวลาเอาเข้าจริง ๆ ไหง มันกลายเป็นปัญหาของเราไปซะงั้น รู้สึกตัวกันบ้างไหมค่ะ  ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงสอบ หลาย ๆ คนก็บ่นเวียนหัว เหนื่อยติวเข้มเตรียมพร้อมทบทวนความรู้ให้ลูกกันเสียยกใหญ่

        บางรายลูกแค่ชั้นอนุบาล ก็บ่นเบื่อที่จะติว เหนื่อยที่จะสอนลูก หรือบางรายก็บ่นว่า ช่วงนี้ไม่ว่างเลย  เหนื่อยมาก ไหนจะเรื่องงานของตัวเอง ไหนจะเรื่องติวเข้มให้ลูก  ฟังแล้วรู้สึกและเข้าใจถึงหัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่   นี่ขนาดไม่นับรวมช่วงเวลาหัวปั่น กลุ้มใจในการสอนการบ้านลูกด้วยนะคะเนี้ย

        เรื่องกลุ้มใจในการสอนการบ้านลูกเนี้ย แม่ดาวก็เป็น แต่เรื่องกลุ้มใจ ต้องมานั่งติวให้ลูกเวลาจะสอบเนี้ย ยังไม่เคยเป็น และไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะ ว่าอนาคตจะเป็นไหม แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น มองว่าเขาก็แค่เด็กอนุบาล   การสอบ สำหรับวัยนี้ สำหรับตัวเองแล้ว ไม่ได้สนใจเลยจริง ๆ  

        มามองอีกมุมไหม มีหนังสือ ที่แม่ดาวอ่าน เขาอธิบายประมาณว่า “เรื่องการบ้าน และการเรียน” เป็นปัญหาของเด็ก ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่ไม่ใช่จะเพิกเฉยซะทีเดียวเช่น
        หากลูกไม่ทำการบ้าน  เราก็ไม่ต้องไปบังคับ หากไม่ทำก็ปล่อย ให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เนี้ยดีค่ะ  ให้ครูจัดการ  เขาควรจะได้รับผลของการกระทำของตัวเอง เช่นหากครูดุ หรือทำโทษ เรื่องไม่ยอมทำการบ้าน เขาก็ต้องยอมรับ แต่เราต้องไม่ไปซ้ำเติมเขานะคะ  หากลูกมาบ่น หรือเล่าเรื่องการโดนทำโทษให้ฟัง ก็รับฟัง และถามเขาประมาณว่า “แล้วลูกคิดว่า ลูกควรทำอย่างไร ถึงจะไม่ต้องให้ครูดุ หรือทำโทษอีก” ให้เขาตอบด้วยตัวเอง ไม่ต้องไม่ชี้นำอะไร หรือพร่ำสอนอะไร 

        แต่การบ้านยากเกินไปช่วยแนะนำเขาได้สอนได้  หากเขารู้หน้าที่ทำการบ้านด้วยตัวเอง ทำได้ถูกต้อง ก็ให้คำชื่นชมกันบ้างเนอะ  เรื่องชมเนี้ยในความคิดของแม่ดาวก็ยังมองว่าเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้สำหรับเด็กๆ ยิ่งวัยปฐมวัยเนี้ยยิ่งต้องการคำชมมาก แต่อย่าลืมกลับไปอ่านบทเก่า  ๆ สำหรับใครที่ไม่เคยอ่าน พวกเรื่องวิธีการชมที่คิดว่าถูกต้อง อิอิ

        เรื่องนี้อ่านแล้วก็เป็นการเตือนสติตัวเองแรง ๆ   แม่ดาวก็ลองมาแล้วค่ะ  ไม่ได้ถึงขนาดลูกไม่ยอมทำการบ้าน แต่เขาทำผิด และเราให้เขาลองตรวจสอบอีกครั้งก่อนเก็บสมุด เขาก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร  ด้วยวัยอนุบาล ครูก็จะใจดีถูกไหมค่ะ แม่ดาวก็แอบเขียนโน้ต แปะไปในสมุดการบ้าน ขอร้องให้ครูจัดการให้ฮ่าๆๆๆ

        กลับมาดีโด้บ่น เล่าให้ฟังเรื่องการโดนทำโทษ ให้เขียนตัวเลขที่เขียนผิด ซ้ำแค่ประมาณ 4-5 ตัว  แต่ในความรู้สึก ดีโด้คือเรื่องใหญ่   เขาไม่อยากทำให้ครูผิดหวังในตัวเขา เพราะเขาคิดว่าในสายตาครูเขาคือ นักเรียนที่ดี และเก่งด้วย (คิดเองเออเอง)  ก็บ่น ๆ เล่า ๆ เราก็ฟัง ๆ  แล้วก็ถามเขาว่า แล้วคิดว่าเหตุการณ์เรื่องนี้สอนให้ลูกได้รู้เรื่องอะไรบ้าง  เขาก็บอกเองว่า เขาจะตั้งใจทำการบ้าน และรอบคอบมาก ๆ จะได้ไม่ทำผิดอีก ครูจะได้ไม่เสียใจ เหอๆๆ ไม่คิดถึงแม่เลยนะเนี้ย  ตกยกให้ครูแหละค่ะ  เด็กวัยนี้เขาต้องการการยอมรับจากสังคมนอกบ้านมากกว่าในบ้านเนอะ

        แต่ก็นะ เด็ก ก็คือเด็ก เขาไม่ได้จดจำสิ่งนั้นได้ตลอด ต้องคอยตอกย้ำ ๆ กันไป  ปลูกฝัง จนกลายเป็นพฤติกรรมในที่สุด  ยิ่งดีโด้เนี้ยยากอยู่ คงต้องใช้เวลานานแหละ ก็ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ปลูกฝังกันต่อไป  สำหรับลูกชายแม่ดาวยิ่งเป็นเด็กที่มีทั้งอัตตาและทิฐิมานะ สูง มานะ เนี้ยไม่ได้หมายถึงความขยันพากเพียรนะคะ ฮ่าๆๆ เป็นตัวกิเลศ  ถึงบอกว่าเขาเลี้ยงยาก ต้องใช้กลยุทธ์เยอะกว่าการเลี้ยงเด็กๆ ที่เคยผ่าน ๆ มา  หลาย ๆ คนอ่านบทความมักเข้าใจผิดว่า ลูกแม่ดาวเนี้ย เป็นเด็กดี น่ารัก  เขาก็เป็นอย่างนั้นแหละค่ะ แค่ไม่ตลอดเวลา ฮ่าๆๆ  

        มีผู้ปกครองที่แม่ดาวคุยด้วยบ่อย ๆ เขามักบ่น ว่าลูกเขาขี้เกียจ ไม่ชอบทำการบ้านเลย พอได้นั่งฟัง แล้วก็เข้าใจ  ว่า อันที่จริงแล้ว เด็กไม่ได้ขี้เกียจค่ะ เด็กป.1 แต่การบ้านเนี้ย ไม่รู้จะเยอะไปไหน เรียนก็เครียด จัดหนักมาตั้งแต่เล็กเลย มีเคยให้เรียนเสริมคณิตศาสตร์กับสถาบันดัง ๆ ที่หากพูดถึงต้องรู้จักแน่ ๆ  เขาจะให้เด็กทำโจทย์ซ้ำ ๆ ทำเยอะ ๆ ทำบ่อย ๆ  เคยมีกรณีพิพาทฟาดลูกก็เพราะ โมโหลูกที่ลูกขี้เกียจไม่ยอมทำแบบฝึกหัดเหล่านั้น ตอนนั้นยังอยู่ในระดับอนุบาลนะคะ  

        ดีว่าเป็นคนที่คุยกันได้แบบตรง ๆ  แล้วเขาก็มาบ่นกับเราด้วย เลยแนะให้เขามองในมุมของเด็ก ๆ บ้าง กับวัยขนาดนี้ กับการบ้าน การเรียนที่โรงเรียน ไหนจะเรียนพิเศษเสริมอีก ให้เขาทบทวนอีกทีว่า ลูกขี้เกียจ หรือมันเยอะเกินกว่าเขาจะรับได้  ดีนะคะที่เขาเข้าใจและมองเห็นหัวใจของลูก เลยมีการปฏิบัติอะไร ๆ หลาย ๆ อย่าง ปัจจุบันบอกว่าลูกดีขึ้นมาก มีความสุขกับการเรียน ถึงการบ้านก็ยังเยอะ แต่แม่เข้าใจและบอกลูกด้วยว่าเราเข้าใจเขาว่ายังไง โดยก็มีการให้บทพูดเป็นแนวทางเล็กน้อย ให้เขาไปคิดต่อเอาเอง ส่วนการเรียนพิเศษเสริมที่ว่าก็งดไปแล้วสงสารลูก

        ดังนั้น หากเราคิดว่า “ลูกขี้เกียจ” เราต้องค้นหาสาเหตุที่แท้จริงซะก่อน ว่าความขี้เกียจนั้นเกิดจากอะไร  เรารู้ดีที่สุดนะ แม่ดาวว่า  หากไม่รู้คิดไม่ออก ก็ค่อย ๆ คุยกับลูกไปเรื่อย ๆ สักวันก็จะเห็นแสงสว่าง เห็นสาเหตุเองแหละค่า  อ๋อ...เมื่อก่อนคุณแม่ท่านนี้จะเข้มงวดกับลูกมากในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ดุ ตี เนี้ยปกติ หลัง ๆ จากที่ได้คุยกันเขาก็เข้าใจอะไรมากขึ้น มีหาหนังสือมาอ่านเพิ่มเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อน ก็ไม่ได้คิดถึงว่าการเลี้ยงลูก จะมีรายละเอียดมาก ยุ่งยากขนาดนี้  

        ดีใจค่ะ นี่คืออีก 1 ครอบครัว ที่เขามีความสุขมากขึ้น แค่ “แม่”เปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ก็ช่วยเพิ่มความสุขมากมายให้กับครอบครัว ไม่ใช่แค่ลูกนะคะ แต่สุขขึ้นทั้งครอบครัว นี่เขาบอกมานะ ไม่ได้โม้เอง ฮ่าๆๆๆ

        กลับมาที่การทำการบ้านต่อ อันนี้คือพิมพ์ไม่ได้ต่อเนื่องรวดเดียวเนื้อหาอาจกระโดดไป กระโดดมาเช่นนี้   ทุกวันที่ลูกกลับจากโรงเรียน แม่ดาวจะถามลูกบนรถขณะเดินทางกลับบ้านว่า เมื่อกลับไปถึง ลูกวางแผนไว้ว่าจะทำอะไรบ้าง ให้เขาไล่เรียงออกมา เช่น เล่น ทำการบ้าน  กินข้าว อาบน้ำ นอน  จากนั้นพอกลับถึงบ้าน แม่ดาวจะถามเขาอีกครั้ง แล้วก็เขียนขึ้นกระดานไวท์บอร์ด  อาจให้เขาเขียนเองซึ่งยังเขียนไม่ได้ แต่วาดภาพได้นะคะ อิอิ  ไล่ไป 

        1. เล่น  ถามลูก เล่น  20 หรือ 30 นาที ครับ หรือจะมากกว่านั้นก็แล้วแต่   คือบางวันกลับมาเร็วก็อาจเล่นได้เยอะมากกว่านี้ หากกลับช้ากว่านี้ก็ลดเวลาลงได้ ตามสะดวก ให้เขาเลือกและลงเวลาเป็นตัวเลขลงไป   แต่จะมีเวลาตายตัวเช่น ทานข้าวตอน 18.00 หรือ 18.30 น.  (อันนี้ก็ไม่ได้เป๊ะมากนะคะ)  เข้านอนไม่เกิน  21.00 น.  ประมาณนี้  จากนั้นก็ตั้งเวลาให้เตือนไปเรื่อย ๆ  ส่วนเวลาทำการบ้านเนี้ยก็ไม่ได้จำกัดเวลาแน่นอน แต่ก็จะใช้เวลาประมาณ 1 ชม. ไม่เกิน  แม่ดาวทำประมาณนี้ในช่วงแรก ๆ หลัง ๆ ก็ไม่ต้องขนาดนี้แล้วค่ะ เขาก็เริ่มจะมีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่ต้องไปดูแลอะไรเยอะ

        ทั้งนี้อย่างที่บอก ก็ต้องเข้าใจเขาด้วยบางวัน ก็เบี้ยวค่ะ วันที่เขาเบี้ยวแม่ดาวจะชวนคุยไปเรื่อย ๆ ส่วนมากจะทราบสาเหตุ เช่น วันนี้เขาเรียนหนักมาก เครียด เขียนตัวอักษรไม่ได้ เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นที่เก่งกว่า  เราก็จะสอนให้มองอีกมุม ฯลฯ  หรือบางวันก็ไม่ได้นอนกลางวัน มัวแต่แอบคุยกับเพื่อนในห้องนอน ฮ่าๆๆ ทุกครั้งมันจะมีสาเหตุค่ะ หรือหากคิดว่าไม่เห็นจะมีสาเหตุอะไร ก็จะแปลกอะไร หากเขาจะเบื่อ ๆ ไม่อยากจะทำอะไรตามกฎเกณฑ์ ปล่อยเขาไปสักพัก ให้เขาเล่น ให้เขาผ่อนคลายก่อน แล้วค่อยชวนเขากลับมารับผิดชอบงานของตัวเอง  ผ่อนคลายทั้งเราและเขานะคะ

        ส่วนเรื่องการเรียนแม่ดาวเองก็สบาย ๆ อยู่แล้ว เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก ก็ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ณ วัยนี้ มองว่าหากเขาพร้อม เขาก็อ่านออก เขียนได้เอง ฮ่าๆๆ สบาย ๆ ไปไหมนี่  แม่ดาวไม่เครียดเลย แต่สิ่งที่จะต้องสอนย้ำ ๆ คือ “หน้าที่ ความรับผิดชอบ” เรื่องการบ้าน การเรียน อธิบายให้เขาเข้าใจถึงหน้าที่ของตัวเอง และหน้าที่ของทุก ๆ คนในครอบครัวด้วย  โชคดีที่ตัวเองไม่ตามกระแสมากนัก มีเขว ๆ บ้างนะคะยอมรับ จากเสียงรอบ ๆ ข้าง แต่พอมีจุดยืนที่ชัดเจน ถึงจะเซไปบ้าง เป๋ไปบ้าง ก็ยังไม่หลงจุดยืน
นะคะ 

        การเรียนมองว่าเป็นเรื่องของลูกอย่างแท้จริง เราไปบังคับให้ลูกเป็นไปดังใจเรานั้นคงไม่ได้ แต่หากใช้การจูงใจ ใช้กุศโลบายบ้าง ก็คงไม่ผิดเนอะ อย่างลูกแม่ดาวเนี้ย ไม่ชอบจริง ๆ การเรียนเนี้ย ดูจะต่อต้าน เขาบอกว่า แม่ครับ แม่ช่วยหาโรงเรียนที่เรียนน้อย ๆ เล่นเยอะ ๆ นะ หากจะขึ้นป. 1 ฮ่าๆๆ  โรงเรียนปัจจุบันสำหรับแม่ดาวเองก็คิดว่าเยอะไปสำหรับเด็กวัยนี้  แต่ก็ต้องยอมรับ ลูกเราก็มีความสุขกับการไปโรงเรียน แค่ไม่ชอบตอนที่เรียนหนังสือฮ่าๆๆ  เราอยู่ได้นะ ถามเขา ๆ โดยรวมเขาก็มีความสุขนะ  มีบ่น ๆ เหมือนกันบางวันที่การบ้านยาก เช่น ให้เขียนเลขคู่ 1-100  อันนี้สำหรับแม่ดาวก็ว่ายากนะสำหรับเด็กปฐมวัย  หรือปกตินะ ไม่รู้เหมือนกัน 

        อย่างที่บอกคะ ต่างคน ต่างความคิด มีบางรายลาออกด้วยเหตุผลว่าโรงเรียนนี้เรียนน้อยเกินไป ไม่ค่อยเน้นวิชาการ ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นก็มี  เขามองว่าเด็กอนุบาลโรงเรียนอื่นที่เขารู้จักนั้นอ่านหนังสือพิมพ์กันได้แล้ว ทำไมลูกตัวเองยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ฮ่าๆๆ คิดตรงกันข้ามกับเราและลูกเลย นี่โรงเรียนเดียวกันนะคะเนี้ย  

        ถึงเคยคุยกันหน้ากระดานใน Facebook ว่า โรงเรียนที่ดีสำหรับเรา อาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีสำหรับคนอื่น  และเช่นกัน โรงเรียนที่ใครหลาย ๆ คนลงความเห็นกันว่าดี ก็อาจไม่ใช่โรงเรียนที่ดีสำหรับเราและลูกเช่นกัน  ดังนั้นฟังคำแนะนำกันได้ แต่ต้องเก็บไปพิจารณาประกอบการไปดูโรงเรียนกันเองจริง ๆ ต้องไปสัมผัสกันเองอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ แล้วจะพอรู้ จะพอเห็น เลือกพิจารณาเอาลูกของเรานี่แหละเป็นหลัก เขาชอบไหม ยังไง เหมาะกับเขาไหม อย่าลืมเรื่องระยะทาง เวลาในการเดินทาง วิธีการเดินทาง ค่าเทอมฯลฯ  มีเคยพิมพ์เอาไว้เหมือนกันหลักการเลือกโรงเรียนตามความคิดของตัวเอง แล้วจะคัดลอกไว้ให้ได้อ่านเนอะ เผื่อเป็นแนวทางได้  

        หลาย ๆ คน มุ่งประเด็นไปที่การศึกษาของลูก เน้นวิชาการ เน้นการเรียนไปแบบทุ่มไปแทบจะเรื่องเดียว  มีหลาย ๆ เรื่องราว หลาย ๆ ประสบการณ์ทั้งของตัวเอง และคนอื่น ๆ ทั้งที่รู้จักเป็นการส่วนตัว หรือไม่ได้รู้จักมักจี่กันเลยก็ตาม  การเรียนจบระดับสูง ๆ เกรดเฉลี่ย ดี ๆ ก็ใช่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนที่เราหวังไว้  ความสำเร็จในหน้าที่การงานกับความสุขในชีวิต ก็เหมือนจะเป็นคนละเรื่องกัน บางคนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับไม่มีความสุขในชีวิตเลย ได้เงินเยอะก็จริง มีทุกอย่างที่อยากจะมี ยกเว้นความสุข  คิดว่าวัตถุที่มีคือความสุข สุดท้ายกว่าจะเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริง คืออะไรก็นานกว่าจะรู้ กว่าจะเห็น บางคนอาจไม่มีโอกาสที่จะค้นพบความสุขที่แท้จริงของตัวเองได้เลย

        ลองถามตัวเองนะคะ ว่าเราเจอสิ่งนั้นแล้วหรือยัง ส่วนแม่ดาวคิดว่าเจอแล้วนะคะ  ส่วนความสุขของลูกเนี้ย ก็คนละเรื่องกับความสุขของเราเช่นกัน อย่าตีเหมาว่าลูกจะสุข อย่างที่เราคิด วางแผนชีวิตให้ลูกทุกอย่างตามใจตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของลูก  อย่าเผลอขโมยความสุขจากลูกนะคะ  รู้ค่ะว่าไม่มีใครตั้งใจ  พ่อแม่ทุกคนย่อมรักและหวังดีต่อลูกกันทั้งนั้น อยากให้ทบทวนกันมาก ๆ กับสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

        แม่ดาวเองก็มีหลายครั้งที่ฉกความสุขจากลูกไปแบบไม่ทันคิด คิดได้ก็จะรีบแก้ไข ปรับปรุงทันที  ถึงไม่ใช่แม่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็เป็นพ่อแม่ที่พร้อมจะเรียนรู้ที่จะเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ในแบบฉบับของเรา จริงไหมค่ะ