วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ชัดเจนขึ้นอีกนิด...เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

            จากวันก่อนแม่ดาวได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกกับคุณแม่ท่านหนึ่ง  ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่า  เอ.....เรื่องนี้น่าจะต้องนำมาขยายและแบ่งปันกันเนอะ     เรื่องที่ว่านี้คือ เรื่องความชัดเจนในเรื่องใช้คำพูดของเราและความชัดเจนเรื่องขอบเขตพฤติกรรมของลูก   ไม่รู้แม่ดาวใช้คำแบบนี้เข้าใจไหม  แต่จะยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นเนอะ

            ในแต่ละวัน อาจมีเรื่องที่เราต้องการบอก ต้องการสื่อสาร ต้องการสอนลูกมากมาย เคยสงสัยไหมค่ะ ว่าทำไม๊ ทำไม หลาย ๆ ครั้ง พูดไปเหมือนพฤติกรรมนั้นก็ไม่เกิด   ความไม่ชัดเจนในการสื่อสารของเราก็มีส่วนนะคะ   เช่น

1.แม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดี ทำตัวน่ารัก ๆ นะคะ
2. ทานขนมให้ดี ๆ นะคะ ระวังขนมหกเลอะเทอะนะคะลูก
3. อย่าวิ่งไปวิ่งมาได้ไหม เดี๋ยวก็หกล้มจนได้
4. เล่นด้วยกันดี ๆ นะคะลูก
5. อย่านั่งแบบนั้นได้ไหมมันอันตรายนะลูก
6. พูดเสียงเบา ๆ หน่อยนะคะลูก
7. ทานข้าวให้มันเร็ว ๆ หน่อยได้ไหมคะ   แม่สายแล้วนะ  เดี๋ยวก็ไปไม่ทันกันพอดี

ฯลฯ   เหล่านี้เป็นตัวอย่าง  เอ....มีใครเคยใช้คำพูดประมาณนี้ไหมหนอ   อ่านแล้วมีใครสงสัยไหม หรือไม่สงสัย ว่าแม่ดาวคิดว่าข้อความเหล่านี้ไม่ชัดเจนอย่างไร  ซึ่งบางข้อความก็น่าจะเป็นคำพูดที่ดูดีมากนะจริงไหม    มาดูกันนะคะ  แม่ดาวจะขอขยายความตามฉบับแม่ดาวๆ ให้ได้อ่านกัน 

1.แม่อยากให้ลูกเป็นเด็กดี ทำตัวน่ารัก ๆ นะคะ      คือ ลูกเขาอาจไม่แน่ใจว่าแบบไหนนะ คือเป็นเด็กดี   และน่ารัก ๆ เนี้ย แบบไหน  ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องดูเอาว่า ที่คุณพูดประโยคนี้เป็นอย่างไร   เช่น บอกก่อนจากลากันไปโรงเรียน    หากให้แม่ดาวเปลี่ยนประโยคนี้ให้ชัดเจนขึ้น  แม่อยากให้ลูกตั้งใจฟังคุณครูสอนและเชื่อฟังคุณครูนะคะ      หรือจะใช้สื่อสารเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอนลูก  ก็อาจใช้เป็น  แม่อยากให้ลูกรักษาศีล 5  เป็นเด็กเอื้อเฟื้อมีน้ำใจมีอะไรก็แบ่งกันผู้อื่น ประมาณนี้  ในกรณีนี้คือเด็กรู้จักศีล 5 และเข้าใจว่าการมีน้ำใจ คือแบบไหน   แบ่งปันอย่างไร  หากยังไม่รู้สอนได้จากการทำให้เขาเห็น หรือพาเขาทำ เช่น  ชวนลูกแบ่งขนมที่ลูกมีให้เพื่อน  และบอกว่า แบบนี้คือการแบ่งปัน และบอกลูกว่า หนูเป็นเด็กมีน้ำใจแบ่งปันเพื่อน ประมาณนี้

2. ทานขนมให้ดี ๆ นะคะ ระวังขนมหกเลอะเทอะนะคะลูก    ในกรณีเราอาจเห็นลูกของเรากำลังจะทานขนมที่สามารถหกเลอะเทอะได้  หากเป็นแม่ดาวจะสื่อสารดังนี้    ดีโด้ครับ นั่งทานขนมที่โต๊ะทานอาหารแล้วเอาจานมารองกันขนมหกด้วยนะครับลูก

3. อย่าวิ่งไปวิ่งมาได้ไหม เดี๋ยวก็หกล้มจนได้    เราอาจเห็นลูกกำลังวิ่ง  พื้นอาจไม่เรียบมีหลุม    สื่อสารว่า   ดีโด้ครับเดินช้า ๆ ครับ พื้นมีหลุมเยอะ ระวังจะล้ม

4. เล่นด้วยกันดี ๆ นะคะลูก    เขาอาจมีเพื่อนมาเล่นด้วยและเราอยากให้เขาเล่นกันแบบรู้รักสามัคคีฮ่าๆๆ  สื่อสารว่า   เด็ก ๆ คะ เล่นด้วยกัน คือเราจะมาสนุกด้วยกัน หากมีใครสักคนเจ็บตัว หรือร้องไห้ โวยวาย แสดงว่าไม่สนุกนะครับ   ดังนั้นถ้าไม่สนุก  ก็ไม่เล่นนะครับ เลิกเล่น และแยกย้ายกลับบ้าน ตกลงไหม  อันนี้อาจยาวสักนิด แต่พูดแบบนี้แม่ดาวเห็นผลนะ  เราอาจไม่สามารถควบคุมเด็กอีกฝ่ายได้ แต่เราสามารถจัดการที่ลูกเราได้ หากเห็นว่าเขาเล่นด้วยกันแล้วไม่สนุก ร้องไห้ โวยวาย แกล้งกัน  แม่ดาวจะพาลูกกลับทันที  เลิกเล่น  แต่ไม่ได้โกรธ  บอกด้วยเหตุผลและเข้าใจ   ถึงลูกเราจะอยากเล่นต่อ  แต่ต้องตามกติกา หากเห็นว่าลูกเราไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน  ให้คุยกับเด็กอีกฝ่ายว่ายังอยากเล่นด้วยกันไหม ให้โอกาส  หากอีกฝ่ายบอกอยากเล่น จะให้เล่นต่อ แต่หากเกิดเหตุอีก แยกและกลับจ้า  แรก ๆ ที่ใช้วิธีนี้ลูกก็ร้องไห้ไม่ยอม แต่พอใช้เรื่อยๆ ก็เริ่มเข้าใจและกลับได้อย่างไม่ลำบากหัวใจมากนักอิอิ

5. อย่านั่งแบบนั้นได้ไหมมันอันตรายนะลูก   เราอาจเห็นลูกกำลังปีนขึ้นไปนั่งบนพนักพิงเก้าอี้  คือเขาอาจสนุกที่จะทำแบบนั้น  สื่อสารคือ ก้นติดเบาะ เท้าห้อยลงพื้นครับ    ตรงนี้อาจใช้มือช่วยชี้จุดที่ให้เขานั่ง หากเป็นแบบนี้แม่ดาวอาจใช้เสียงเข้มสักนิด เพราะรู้ว่าเขาทำเพื่อความสนุก แต่เราไม่สนุกกับเขานี่เนอะ มันอันตราย แต่หากพูดยืดยาว ก็ใช่ว่าเขาจะฟังและทำตาม ดังนั้น หนักแน่น ๆ เน้น ๆ ฮ่าๆๆ

6. พูดเสียงเบา ๆ หน่อยนะคะลูก    คุณอาจกำลังอยู่ในร้านอาหาร แล้วลูกก็อาจกำลังสนุกพูดตะเบ็งเสียงดังลั่นร้าน   การสื่อสาร  อาจใช้วิธีกระซิบข้างหูด้วยเสียงแผ่วเบา พูดเสียงปกตินะครับ   วิธีนี้เด็กๆ มักจะชอบมาก คือเขาจะจักจี้นิด ๆ และแม่ไม่ได้ใช้อารมณ์ตะเบ็งเสียงสั่งการ หรืออาจพูดกับลูกด้วยเสียงปกติ  อาจสะกิดให้เขารู้ตัว  พูดเสียงปกติครับ  ไหนลองพูดให้แม่ฟังซิ   ฟังว่าเขาพูดในระดับปกติหรือยัง ถ้าใช่   บอกเขาต่อว่า  ใช่ครับ เสียงปกติแบบนี้ ขอบคุณลูกมากนะครับที่ลูกฟังแม่พูด

7. ทานข้าวให้มันเร็ว ๆ หน่อยได้ไหมคะ   แม่สายแล้วนะ  เดี๋ยวก็ไปไม่ทันกันพอดี  ประโยคนี้ หลายครั้งขาดสติแม่ดาวก็ใช้บ่อยฮ่าๆๆๆ  แต่หากมีสติจะพูดว่า   ลูกมีเวลา...........นาทีในการทานข้าวเช้า  และเราจะออกจากบ้านพร้อมกันตอน.........โมง  แม่ดาวใช้ตั้งเวลาบ้าง หรือไม่ก็ชี้เข็มนาฬิกาประกอบให้ลูกดู บอกลูกว่า เข็มสั้นถึงเลขไหน เข็มยาวถึงเลขไหน นัดเวลากัน    

            ทุก ๆ การสื่อสาร อย่าลืมว่า ต้องมั่นใจว่า ลูกพร้อมที่จะฟังเราพูดด้วยนะคะ   อย่าลืมส่งสายตาให้กันและกันด้วยนะ  แต่ระวังสายตาของเราด้วยนะคะ   ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจเนอะ   แต่เชื่อว่าต้องมีบ้างแหละที่บางครั้งแม่ ๆ อย่างเราก็ต้องใช้สายตาเพชรฆาต ฮ่าๆๆๆๆๆ   แหมๆๆๆ ใครเล่าจะเป็นนางฟ้าไปได้ตลอดเนอะ บางทีมันก็ต้องมีบ้าง อิอิ  คงไม่ต้องบอกเรื่องอารมณ์และน้ำเสียงด้วยใช่ไหมคะ เล่าสู่กันอ่านเนอะ   แม่ดาวผิดและพลาดมาก่อน  เมื่อมีอะไรใช้ดี ใช้ได้ผล จึงมาบอกเนอะ  อยากรู้ต้องลองจ้า