วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันนี้เรามาชมลูกกันเถอะ

              ติดกันไว้นานกับเรื่องการชื่นชมลูก  ก่อนที่เราจะชมลูกของเราให้พิจารณาดูก่อนว่าลูกของเราเป็นเด็กแบบไหน มีลักษณะนิสัยอย่างไร อายุเท่าไหร่ด้วยนะคะ อันนี้สำคัญ เพราะถึงจะเป็นคำแบบแบบเดียวกัน แต่ผลก็ออกมาต่างกันสิ้นเชิง กับเด็กที่มีบุคคลิก นิสัย และอายุที่แตกต่างกัน

                หลักการกว้าง ๆ  เนอะ

1.     ชมในสิ่งที่ที่ลูกของเราทำจริง ๆ เราเห็นว่าเขาทำจริง ชมออกมาจากใจของเราจริง ๆ  คืออันนี้บอกเลยนะคะว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว คือ แม่ดาวเจอมากับตัวว่า หากเราชมแบบชมไปงั้น ๆ ไม่ได้รู้สึกว่าเขาทำดีจริง ๆ เขาก็รับรู้ได้ว่าเราไม่จริงใจ  แต่กับเด็กบางคนอาจไม่เป็นก็ได้นะคะ แต่น้องดีโด้เป็น

2.     ให้เราชมระบุพฤติกรรมที่เราเห็นว่าเขาทำได้ดี เช่น  แม่ดาวเห็นน้องดีโด้เก็บถุงขนมที่ใครก็ไม่รู้ทิ้งไว้ที่โรงเรียนไปทิ้งลงถังขยะเอง  แม่ดาวก็จะชมว่า โอ้โห....ดีโด้ครับหนูเนี้ยเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจริง ๆ เลยนะเนี้ย เห็นขยะที่พื้นก็เก็บเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอกเลย แม่ปลื้มใจจริง ๆ  อาจจะฟังดูขัด ๆ สำหรับหลายคน แต่สำหรับน้องดีโด้แบบเนี้ยเขาจะชอบและจะกระตุ้นให้เขาทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ 

3.     ระวังคำว่าพวกคำว่า ที่สุด เยี่ยมไปเลย สุดยอด คำประเภทที่ว่า เลิศมาก  ดีมาก  คำพวกนี้บางทีก็กลายเป็นดาบสองคม กับเด็กบางคนฟังแล้วเขาจะกดดัน และกลายเป็นยาพิษสำหรับเขาไป  แต่สำหรับดีโด้ก็ไม่ค่อยเป็นอะไรมาก แต่อาจจะก่อให้เกิดอาการหลงตัวเองได้ง่าย ๆ เพราะดีโด้จะเป็นเด็กที่รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นที่รักและได้รับการยอมรับจากหลาย ๆ คน  แต่สำหรับเด็กประเภทที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าพอ ไม่เห็นค่าในตัวเอง คำชมพวกนี้น่ากลัวมาก จะกลายเป็นไปกดดันเขา ทำให้เขารู้สึกแย่ต่อตัวเองมากกว่าเก่า  เช่น ชมว่า วันนี้ลูกของแม่เป็นเด็กดีมาก ๆ เลยนะครับ ช่วยแม่กรอกน้ำโดยที่แม่ไม่ต้องบอกเลย หากเป็นดีโด้คำพูดแบบนี้ ผ่าน  แต่สำหรับกับเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีคุณค่าจะคิดว่า ฉันไม่คู่ควรที่จะได้รับคำชมแบบนี้ เพราะฉันดีไม่พอ กลายเป็นเครียดไปแทนที่จะดี ต้องระวังนะคะ   หากเราเผลอพูดไปแล้ว ๆ รู้สึกว่าเด็กคิดมากไม่สบายใจ ให้คุณบอกกับลูกต่อไปว่า ที่แม่พูดแม่รู้สึกและคิดแบบนั้นจริง ๆ แล้วก็บรรยายไป เพื่อยืนยันให้เขาสบายใจว่าเราไม่ได้แกล้งชม เรารู้สึกอย่างนั้น เขาคู่ควรเหมาะสมกับคำชมที่เราให้จริง ๆ  เขาจะได้สบายใจขึ้น แล้วครั้งต่อไป ก็ระวัง ๆ มาก ๆ นะคะ

4.     เวลาชมให้เราพยายามชมระบุพฤติกรรมเป็นคำสั้น ๆ ไว้ด้วย เพื่อให้เขารู้ว่าแบบนี้ที่เขาทำเรียกว่าอะไร เช่น  ขยัน ,อดทน, ช่างสังเกตุ, ประหยัด, พยายาม มีความรับผิดชอบ ฯลฯ 

5.     ระวังคำชมประเภทที่ว่าฟังแล้วรู้สึกว่าแอบตำหนิผ่านคำชม เช่น โอ้โห....ลูกแม่ขยันถูบ้านให้แม่ สงสัยวันนี้ฝนฟ้าท่าจะตกหนัก   คือเราอาจจะพูดด้วยอารมณ์ขัน ชื่นชมลูกจริง ๆ แต่ลูกฟังแล้วเขาจะรู้สึกว่า ที่ผ่านมาเนี้ยฉันขี้เกียจมากขนาดนั้นเลยเหรอเนี้ยในสายแม่

6.     ไม่อยากให้ชมให้มากจากความเป็นจริงมากไป แทนที่จะดี อาจจะก่อปัญหาได้ เช่น เห็นลูกเตะบอลได้ดี เลี้ยงลูกบอลได้เก่งกว่าเด็กวัยเดียวกัน เราชมไปว่า นี่ถ้าลูกได้ไปดวลแข่งกับ Lionel Messi นักฟุตบอลที่เขาว่าเก่งที่สุดระดับโลก ลูกของแม่ต้องชนะแน่ ๆ เลย  ลูกอาจจะรู้สึกกดดัน คิดว่ามันยากเกินกว่าที่จะทำได้ และอาจคิดว่าแม่คาดหวังในตัวเขาอยากจะให้เขาเก่งขนาดเป็นนักฟุตบอลระดับโลก มันจะท้อกันง่าย ๆ และอาจเลิกชอบการเล่นฟุตบอลไปเลย

7.     ชมเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันของสิ่งที่ลูกทำ ไม่ชมโดยลูกเราไม่เปรียบเทียบกับใคร เช่น แม่เห็นว่าเดี๋ยวนี้ลูกเขียนหนังสือได้สวยขึ้นกว่าเมื่อตอนอ.1 มากเลยนะครับเนี้ย

การชมเหมือนดาบสองคมดังนั้นเวลาจะใช้คำชมเราควรจะไตร่ตรองให้ดี ๆ ก่อนนะคะ   หลายท่านอ่านแล้วอาจจะแอบบ่นในใจว่า โหย.....นี่แค่จะชมลูกยังต้องคิดมากขนาดนี้เลย ไม่ชมซะเลยดีกว่าไหม  แม่ดาวขอบอกนะคะ  ชมเถอะค่ะ อาจจะยากสักหน่อยช่วงปฏิบัติแรก ๆ ทำไปเรื่อยๆ มันก็จะคุ้นชินไปเอง จะกลายเป็นระบบอัตโนมัติเอง  ชมแล้วดีนะ กระตุ้นพฤติกรรมดี ๆ ให้เกิดขึ้นต่อ ๆ ไป บางอย่างที่ไม่ดีหากเราพูดเป็น ชมเป็นพฤติกรรมไม่ดีนั้นก็จะหายไปได้ด้วย  ลำบากแค่ตอนแรก ๆ แหละ ทน ๆ หน่อยนะคะเพื่อลูก 

หากใครอ่านแล้วมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคำชมมากกว่านี้แนะนำเพิ่มเติมได้นะคะแม่ดาวเองก็จะได้รู้และนำใช้บ้าง แบ่งปันประสบการณ์ร่วมกันนะคะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น