วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปัญหา “ลูกชอบกรี๊ด” เวลาโกรธ หรือไม่พอใจ


        ไม่รู้มีครอบครัวไหนในที่นี้ เคยประสบปัญหานี้บ้างน้อ   แต่แม่ดาวได้ยินคนมาปรึกษาปัญหานี้กันบ่อย ๆ  ทั้งจากผ่านทาง Face book  หรือจากการปรีกษาปัญหาโดยตรง  ออกตัวอย่างแรงอีกนิดนะคะ  อย่าลืม  แม่ดาวไม่ใช่ผู้ที่ศึกษาเรียนจบมาเกี่ยวกับด้านนี้แต่อย่างใด  วุฒิการศึกษาที่จบมาคือ ปริญญาตรีเกี่ยวกับบริหารธุรกิจการตลาด  มีเรียนหลักจิตวิทยาเบื้องต้นมาบ้างนิดหน่อย แต่ก็นานมากแล้ว  ปัจจุบันสิ่งที่รู้สะสมมาจากการศึกษาเพิ่มเติมนอกห้องเรียน และเรียนรู้จากประสบการณ์การเป็นแม่ครั้งแรกของตัวเอง และคาดว่าน่าจะมีลูกเพียงคนเดียวด้วยนะคะ  

        คือ ปรึกษา พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นแนว ๆ แม่ ๆ คุยกัน แบบสบาย ๆ อย่าจริงจังอะไรกับแม่ดาวมากนัก  และล่าสุดเมื่อสักประมาณ 3 วันก่อน ก็มีผู้ปกครองท่านนึงโทร.มาคุยกันเรื่อง เด็กข้าง ๆ บ้านกรี๊ด แล้วคุณยายมาปรึกษาว่าจะทำยังไง  คือคุยกันหลายเรื่องและมาจบที่เรื่องนี้

        แม่ดาวก็แนะนำไปตามความคิดว่า  หากเด็กกรี๊ด เวลาโกรธ 

        1.  กอด   ให้ผู้ปกครองท่านที่อยู่ด้วยกอดเด็กเอาไว้ แต่ต้องกอดแบบที่ตัวผู้ปกครองเองต้องสงบ ใจเย็น และเข้าใจความรู้สึกของเขาอย่างแท้จริง  หากเราสงบแล้วกอดสักพักพอเขาระบายความโกรธ ความเครียดนั้นออก เขาก็จะสงบได้เอง ระหว่างกอดไม่ต้องพูดอะไรมากมายนัก สั้น ๆ พอเช่น “แม่เข้าใจนะคะว่าลูกโกรธมาก”  เอาไว้พอเขาสงบแล้วเราค่อยสอนเขาประมาณว่า
        -หากเวลาที่ลูกโกรธ แล้วร้องไห้ แม่ก็พอจะเข้าใจและยอมรับได้  แต่แม่ไม่ชอบให้ลูกส่งเสียงกรี๊ดเวลาลูกโกรธเลย แม่เป็นห่วงกลัวลูกเจ็บคอ เดี๋ยวคออักเสบนะ   
        - ทางที่ดีคือ เวลาที่ลูกโกรธ แม่อยากให้ลูกพูดกับแม่ บอกแม่ว่าลูกโกรธ และโกรธเรื่องอะไร  แม่จะได้เข้าใจและรับรู้ได้ หากแค่ร้องไห้หรือกรี๊ด แม่ก็ไม่เข้าใจว่าลูกโกรธเพราะอะไร  หรือลูกเป็นอะไร บาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า
        - หรือลูกคิดว่า  ลูกจะทำยังไง เวลาที่ลูกโกรธ ที่ไม่ใช่การร้องไห้หรือกรี๊ด มีความคิดเห็นเหมือนแม่ หรือว่ามีความคิดเห็นอย่างอื่นค่ะ แม่พร้อมจะฟังนะคะ

        2.  Take a break  วิธีนี้เคยอธิบายไปแล้วในบทความบทลงโทษ เมื่อลูกกระทำผิด  วิธีการคือพาเด็กไปในจุดที่สงบ และบอกลูกว่า "ลูกโกรธมากแล้ว ลูกต้องพักสงบสติอารมณ์สักพักนะคะ"  เช่นอาจจะเป็นเก้าอี้  หรือมาไปอยู่มุมใด มุมหนึ่งของบ้านที่ต้องไม่มีสิ่งเร้าอารมณ์ใด ๆ อยู่นะคะ เช่นไม่มีทีวี ไม่มีของเล่น  มุมที่ว่างเปล่า รู้สึกสงบ พอที่จะให้เขาได้อยู่กับตัวเองสักพักเพื่อสงบสติอารมณ์ และเด็กเขาจะเป็นผู้กำหนดเวลาของเขาเอง คือ เมื่อไหร่ที่เขาพร้อม กลับมาได้เลย เรารออยุ่ ไม่ใช่เพราะเราสั่งเขาว่าต้องนั่งนานกี่นาที  หรืออาจจะเป็นตัวเราก็ได้ที่จากไป บอกเขาว่า หากลูกพร้อมจะคุยกับแม่เมื่อไหร่เดินมาหาแม่นะคะ แม่จะรออยู่ตรงนี้  คือบางที่ก็ไม่มีมุมแบบนั้นเนอะ  ก็คงต้องปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเองสักพัก  แต่อยากให้พาออกไปจากจุดเกิดเหตุก่อนนะคะ   เข้าใจเนอะ  ณ จุดเกิดเหตุเนี้ย สภาพแวดล้อมตรงนั้นมันจะคอยกระตุ้นอารมณ์ เขาเห็น แล้วเขาก็สงบยาก   

        3.  เบี่ยงเบนความสนใจ  อันนี้ตอนลูกแม่ดาวเล็ก ๆ ทำบ่อย  โน่น ๆ .......เครื่องบิน ลำใหญ่ บินผ่านมาแล้ว โน้นไง....... ถ้ามีนะ  หรือไม่ก็อะไรก็ได้ที่เห็นแถว ๆ นั้น แล้วคิดว่าจะเอามาสามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้  คือ ย้ายจิตลูกจากสิ่งที่ทำให้โกรธ  ไปอยู่กับสิ่งใหม่ที่เขาน่าจะสนใจมากกว่า

        เราไม่จำเป็นต้องพูด สอน    ตอนนั้น ที่เกิดอาการกรี๊ด  ทิ้งช่วงไว้ให้เขาสบาย ๆ  ผ่อนคลายก่อนค่อยพูด ค่อยสอนได้ค่ะ   หลาย ๆ ปัญหาของลูกแม่ดาว  บางเรื่องแม่ดาวจะทิ้งไว้จนลูกเย็นใจ   เช่นเรื่องเกิดตอนเช้า  เอามาคุยกันตอนก่อนนอน  เด็กเขาความจำดีจะตาย  บางเรื่องนานมากจนเราลืมไปแล้ว เขายังสามารถจดจำรายละเอียดได้ครบถ้วน

        สามีแม่ดาวแอบตลกเจ็บ บอกว่า ไม่ได้ มันต้องรีบสอน รีบบอก อย่างหมาเนี้ย เวลาที่กัดรองเท้าเล่น ต้องใช้รองเท้าตีปากหมาทันที มันจะได้จำ  เอ่อ.......สามีค่ะ ลูกของเราเป็นคนนะคะไม่ใช่สุนัข อิอิ
       
         ณ ตอนนี้  เวลานี้ คิดออกแค่นี้ค่ะ    ทุกท่านต้องพิจารณาตามพัฒนาการ วัย และนิสัยของลูกท่านเองด้วย  แค่เสนอ ๆ พอเป็นแนวทาง นะคะ ที่สำคัญ อย่าลืมนะ ตัวเราต้องอารมณ์ปกตินะค่ะ
   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น