วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทลงโทษ เมื่อลูกกระทำผิด

        อ่านหัวข้อแล้ว คิดว่าหลายท่านต้องรีบคลิกเข้ามาอ่านแน่ ๆ ฮ่าๆๆ  เพราะหากจั่วหัวว่าปรับพฤติกรรมเนี้ยอาจจะธรรมดา ไม่เร้าใจพอ ปกติของพ่อแม่ส่วนใหญ่เนอะ ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด จะได้หลาบจำ คิดกันประมาณนี้หรือเปล่าค่ะ อิอิ หลงกลเราซะแล้ว ตั้งใจพาดหัวข้อให้เร้าใจไปอย่างงั้นแหละ จะได้เข้ามาอ่านกัน หุหุ อันที่จริงคำว่า “ลงโทษ” เนี้ยในการสร้างวินัยเชิงบวกคงไม่มีเนอะ เอ....หรือมี ใครรู้ช่วยบอกหน่อยนะคะ ไม่รุ้จะใช้คำว่าอะไรถึงจะเหมาะสมกับการสร้างวินัยเชิงบวกเนอะ 
        เอาเป็นว่าเมื่อลูกทำผิดข้อตกลงที่คุยกันไว้ หรือทำพฤติกรรมอะไรที่ไม่เหมาะสมเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น แม่ดาวจะทำดังนี้

        1.  ให้ลูกเลือกว่าจะเลือกอะไร ระหว่าง....วิธีการทำโทษ.ก.....กับ. วิธีการทำโทษ .ข.......... ให้ทางเลือกเชิงบวก ไงค่ะ ทำผิดก็ยังเลือกได้อีก เช่น ตกลงกันว่าตอนเช้า หากพี่นาฬิกาปลุกแล้ว ลูกไม่ตื่น กดปิดเสียงแล้วนอนต่อ ลูกจะให้แม่ทำยังไงดีค่ะ ระหว่าง ลดนิทานก่อนนอนลง 1 เรื่อง หรือ งดดูการ์ตูนย์ตอนเช้า ใจดีเนอะ มีให้ดูการ์ตูนย์นิดหน่อยก่อนไปด้วยหากเขาตื่นเช้า แต่เป็นภาษาอังกฤษนะคะ เสริมสร้างภาษาที่แม่ดาวไม่ถนัดเอาซะเลย ไม่แนะนำให้ทำตามนะคะ อันที่จริงก็ไม่สนับสนุนเรื่องนี้เท่าไหร่  อันนี้สำหรับดีโด้จะคิดหนัก นิ่งไปสักพัก ก็ตอบว่า “ลดนิทาน 1 เรื่องก็ได้” แต่แม่........................บ่นไป ตัดบทไปว่า “ยังไงซะหากลูกตื่นตามเวลาที่พี่นาฬิกาบอก นิทานของหนูก็อยู่ครบทุกเรื่อง แต่ก็ต้องอยู่บนบรรทัดฐานกติกาเดิมที่เราคุยกันไว้ล่าสุด ที่ปรับปรุงใหม่ไม่นาน โดยให้สิทธิน้องดีโด้เป็นคนคิด คือ หากเข้านอน  1 ทุ่ม (19.00น.) ได้ฟัง 6 เรื่อง, 2 ทุ่ม ได้ฟัง 5 เรื่อง และสุดท้าย 3 ทุ่มได้ฟัง 1 เรื่อง  หากเข้านอนดึกกว่านี้อดฟังทุกเรื่องฮ่าๆๆ 
        ส่วนเรื่องการปลุก แม่ดาวก็ให้เขาเลือกนะคะ ว่าจะให้แม่ปลุก หรือจะให้พี่นาฬิกาปลุก น้องดีโด้เป็นเด็กประเภทต้องเร้าใจกันตลอด ต้องปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อย ๆ  แต่ก็มีหลายครั้งที่ไม่มีใครปลุก เขาก็ตื่นมาเอง ตื่นเช้าด้วยนะ  ก็คละ ๆ กันไปแหละ
        สรุปวิธีนี้คือให้ลูกเป็นคนตัดสินใจเลือกเองว่าจะโดนทำโทษโดยวิธีไหน แต่เราเป็นผู้เสนอทางเลือกเชิงบวกที่เรารับได้และคิดว่าลูกก็น่าจะรับได้เช่นกัน ทำไม่ยากนะคะข้อนี้ แล้วหากเขาทำผิดข้อตกลง เราก็เอามาอ้างได้อีกว่า แม่ไม่ได้เป็นคนเลือกจะทำแบบนี้กับลูกนะ  นี่เป็นทางที่ลูกเลือกเอง ฮ่าๆๆ
       
        2. ริบของ และเสนอทางเลือกเชิงบวก  เช่น ตกลงกันเรื่องการเล่นของเล่นแล้วว่า หากเล่นแล้วต้องเก็บด้วยตัวเอง หากไม่ทำตามข้อตกลง แม่ต้องเก็บของเล่นเหล่านั้น งดเล่นเป็นระยะเวลา  3 หรือ 7 วันครับ  ให้ลูกเลือกอีก ใจดีอีกแล้วเนอะ  แน่นอนหากลูกไม่เลือกก็ทำแบบเดิมค่ะ  “ลูกจะเลือกเอง หรือให้แม่เลือกคะ”   ทันทีค่ะดีโด้เลือก 3 วันแน่ ๆ เลือกแล้วก็มีบ่นแหละ  เราก็ฟังเฉย ๆ ไม่โต้ตอบอะไร เก็บจริง งดจริง ไม่มีใจอ่อน  และไม่อ่อนใจกับพฤติกรรมเขาด้วย ระยะหลัง ๆ มาเนี้ยโดนไม่ค่อยบ่อยแล้ว เข็ด แม่ดาวไม่ดุนะ ทำแบบประมาณว่าเข้าใจนะลูก แต่มันผิดข้อตกลง แม่จำเป็นต้องทำฮ่าๆๆ

        3.   ทำตัวเป็นหุ่นยนต์ระบบเสียงเสีย   บางทีแม่ดาวก็เหนื่อย ๆ คิดอะไรไม่ออก ก็ทำนิ่งซะ หน้านิ่ง ไม่พูด ไม่สนใจ แต่เชื่อไหม วิธีนี้ได้ผลมากกับดีโด้ เขาจะร้อนร้อนมาก ที่แม่ไม่สนใจ เพราะทุกทีแม่ดาวจะสนใจมากไง  แต่ก่อนจะเงียบไป จะบอกลูกประมาณว่า “ตอนนี้แม่ไม่พร้อมจะฟังอะไร หรือทำอะไร แม่เหนื่อย” จบ  เข้าสู่โหมดหุ่นยนต์ไร้อารมณ์  อันนี้คืออารมณ์แบบว่า ที่สุดของแม่ดาวแหละฮ่าๆๆ  ก็มีบ้างนะแต่ไม่บ่อยมาก
        หากเจอโหมดนี้ของแม่ดาว  เจ้าดีโด้จะหยุดตัวเอง และหันมาสนใจแม่ดาวแทน กลายเป็นแม่มีปัญหาแทน จะเข้ามาช่วยปรับอารมณ์และพฤติกรรมของแม่ให้เข้าสู่โหมดปกติ  พอเรา 2 คนอารมณ์พร้อมทั้งคู่แล้ว ค่อยบอกค่อยสอนกันอีกทีว่าอะไร ยังไง แต่เขาให้แน่ใจนะคะ ว่าทั้งเราและลูกพร้อมที่จะคุยกัน

        4. take a break  งงกันล่ะซิค่ะ  เอ....แม่ดาวภาษาอังกฤษบกพร่องจนจำผิดเปล่า จริง ๆ เขาต้องเรียกว่า  time out ไม่ใช่เหรอ     แม่ดาวเรียกถูกจริง  ๆ นะ อันนี้ตามที่ครูใหม่ครูหม่อมสอนแม่ดาวมาเลย เมื่อก่อนที่เป็นคุณแม่แบบบ้าอำนาจนิด ๆ ก็จะมีการจับลูกทำ time out อยู่บ้าง  พอได้รู้สึกกับ 101 สร้างวินัยเชิงบวกแล้วก็รู้สึกผิด รู้สึกว่ามันโหดไปไหม เลยส่งคำถามไปถามครู  ท่านมีเมตตากับแม่ดาวมากอธิบายว่า
        Time out  คือ เราแยกลูกไป ณ สถานที่ ๆ เราเตรียมกันไว้  และได้ซ้อมกันไว้แล้วด้วยนะคะตอนอารมณ์ลูกพร้อมว่า หากเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ลูกจะต้องไปอยุ่ตรงไหน  ยังไง เป็นการแยกให้ขาออกไปสงบสติอารมณ์  และเราเป็นคนกำหนดเวลาให้ว่าลูกจะต้องอยู่อย่างนั้นนานแค่ไหน  (อยากให้กลับไปอ่านในเรื่องเก็บตกจากกิจกรรม “รับมือลูกวัย 0-6 ปี” วันที่ 7 สิงหาคม 55)
        Take a break ที่แม่ดาวเคยใช้และชอบใช้มากกว่า ด้วยวิธีการคล้ายกันค่ะ ต่างกันตรงที่เด็กเขาจะเป็นผู้กำหนดเวลาของเขาเอง คือ เมื่อไหร่ที่เขาพร้อม กลับมาได้เลย เรารออยุ่ ไม่ใช่เพราะเราสั่งเขาว่าต้องนั่งนานกี่นาที 
        แม่ดาวเคยใช้ time out กับลูกก่อนหน้าที่จะเรียนรู้เรื่อง take a break  มันรู้สึกผิดมาก ทำไปก็สงสารลูกไป แต่ก็ใจแข็งทำ  เห็นหน้าของลูกแล้วก็สงสารมาก คำพูดที่เขาสื่อสารออกมาอีก เล่าให้ครูฟัง ครูเลยบอกว่าไม่แนะนำให้ทำแบบนี้ ให้เปลี่ยนมาเป็น take a break
      ยกตัวอย่างนะคะ  สมมติ  น้องดีโด้เล่นกับพี่บีบี (นามสมมุติ) เล่นกันสักพัก ก็เกิดอาการหมั่นเขี้ยว ตีหัวพี่บีบี จนร้องไห้  ตีแรงและพี่เจ็บมาก  ทำผิดแล้วไม่รับผิด ไม่ขอโทษ อันที่จริงต้องพิจาณากันอย่างละเอียดนะคะ ว่าเขาตั้งใจจะตี หรือว่าเล่นแรงจนผิดพลาดทางเทคนิค  สมมุติเหตุการณ์นี้เป็นแบบตั้งใจจะตีให้พี่เจ็บ
        หากเป็น  time out  น้องดีโด้จะโดนนั่งเก้าอี้ ซึ่งที่เคยใช้ น้องดีโด้จะรู้จักในนาม “เก้าอี้สำนึกผิด”  ให้นั่งตามอายุ 1 ขวบ/ 1 นาที  จัดไป 5 นาที ตามอายุ เศษเดือนปัดทิ้งลดให้ใจดี ระหว่างนี้น้องดีโด้จะต้องแยกตัวไปนั่งคนเดียว นานถึง 5 นาที  ถึงจะกลับเข้ามาร่วมวงกับเราได้
        แต่ที่แม่ดาวแนะนำ เพราะครูแนะนำมา แล้วใช้แล้ว รู้สึกเองว่ามันดีกว่า คือ take a break  แม่ดาวจะบอกลูกว่า  “น้องดีโด้ควรนั่งสงบสติอารมณ์สักพักนะครับ ลูกกำลังโกรธมาก  นั่งพักตรงนี้ก่อน เมื่อไหร่ที่พร้อมจะคุยกับแบบไม่โกรธแล้ว แม่จะรออยุ่ตรงนี้” ก็บอกเขาไป  หากเขารุ้สึกสงบแล้ว เขาสามารถกลับเข้ามาหาเราได้ทันที ไม่ต้องรอเวลาว่าจะกี่นาที 
        ข้อความเตือนสติที่ดีมาก ๆ ที่ครูใหม่ครูหม่อมให้ไว้คือ การสำนึกผิดใครกำหนด  เด็กหรือเรากำหนด  ตัวเด็กต่างหากที่เป็นคนกำหนด  หากเด็กพร้อมที่จะสำนึกผิดเร็ว แล้วมีเหตุผลอะไรที่เขาจะต้องมานั่งรอเวลา แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า 5 นาที เขาสำนึกผิดแล้ว อย่าลืมนะคะไม่ใช่เรากำหนด ตัวเด็กรู้ดีที่สุดให้เขากำหนดชีวิตเขาเองเนอะ
        เอาเป็นว่าแม่ดาวไม่ใช้ time out อีกเลย เมื่อรู้จัก take a break
        เอามา 4 ข้อ พอเป็นวิทยาทานเนอะ  หากท่านใดมีอะไรจะเสนอแนะเพิ่มเติม จัดมาเลยนะคะ แบ่งปันความรู้กัน เยอะ ๆ ยิ่งดี แม่ดาวจะได้จำไปใช้บ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น